backup og meta

นับอายุครรภ์ อย่างไร วิธีคำนวณอายุครรภ์ ที่ถูกต้อง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    นับอายุครรภ์ อย่างไร วิธีคำนวณอายุครรภ์ ที่ถูกต้อง

    การนับอายุครรภ์และวิธีคำนวณอายุครรภ์ เป็นสิ่งที่มักเข้าใจกันผิด สับสนว่าจะคำนวณอายุครรภ์จากวันที่มีเพศสัมพันธ์หรือไม่ และต้องนับอายุครรภ์อย่างไรให้แม่นยำ เพื่อประโยชน์ของแม่ตั้งครรภ์และลูกในท้อง

    นับอายุครรภ์ มีประโยชน์อย่างไร

    อายุครรภ์ตั้งแต่วันแรกของการตั้งครรภ์จวบจนถึงวันคลอดเป็นสิ่งที่แม่ควรใส่ใจ การคำนวณอายุครรภ์อย่างแม่นยำ มีข้อดีที่เป็นประโยชน์ต่อตัวแม่และทารกในครรภ์ ดังนี้

    1. การนับอายุครรภ์ ช่วยให้ทราบขนาดของลูกในท้องแต่ละไตรมาส ตลอดจนพัฒนาการของทารกในครรภ์และความสมบูรณ์ของทารก แม่จะได้ดูแลทารกอย่างเหมาะสม
    2. การนับอายุครรภ์ ช่วยให้แพทย์วางแผนการตรวจครรภ์ แม่จะทราบถึงข้อควรระวังในแต่ละไตรมาส โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละไตรมาส
    3. การนับอายุครรภ์ ช่วยให้แพทย์คาดการณ์วันกำหนดคลอดได้

    วันแรกที่เริ่ม นับอายุครรภ์ คือวันไหน

    การนับอายุครรภ์ เพื่อให้ทราบว่า ตั้งครรภ์มาแล้วกี่สัปดาห์หรือกี่เดือน อาจเข้าใจได้ว่า นับอายุครรภ์ตั้งแต่วันที่มีเพศสัมพันธ์หรือวันที่ปฏิสนธิ แต่จริง ๆ แล้ว แพทย์จะยึดเอาวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุดมาคำนวณอายุครรภ์ การจดวันที่มีประจำเดือนทุก ๆ เดือนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้แพทย์นำประจำเดือนครั้งสุดท้าย มาคำนวณอายุครรภ์ได้อย่างถูกต้อง 

    ทั้งนี้ หากสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ ให้ใช้อุปกรณ์ตรวจครรภ์หรือชุดตรวจครรภ์ตรวจการตั้งครรภ์ เมื่อทราบว่า กำลังตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ 

    วิธีคำนวณอายุครรภ์ นับเป็นเดือนหรือเป็นสัปดาห์

    อายุครรภ์ปกติจะอยู่ประมาณ 280 วัน หรือ 40 สัปดาห์ โดยแพทย์จะนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ และแยกอายุครรภ์ตามไตรมาส ประกอบด้วย

    • ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก สัปดาห์ที่ 1-14
    • ตั้งครรภ์ไตรมาสสอง สัปดาห์ที่ 15-27 
    • ตั้งครรภ์ไตรมาสสามหรือไตรมาสสุดท้าย สัปดาห์ที่ 28-40

    การดูแลตัวเองให้เหมาะสมในแต่ละไตรมาส

    เมื่อทราบแล้วว่า ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่เท่าไหร่ ไตรมาสไหน แม่ควรระมัดระวังและดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม รวมถึงเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เหมาะกับไตรมาสนั้น เพื่อให้ดีต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เช่น

    อายุครรภ์ไตรมาสแรก

    การตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ร่างกายของแม่จะค่อย ๆ มีความเปลี่ยนแปลง อาจพบอาการท้องผูกได้ จึงควรเลือกรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำให้มาก ส่วนอาการแพ้ท้องที่เกิดขึ้น ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ท้อง ลดขนาดของมื้ออาหารลง เน้นการรับประทานจำนวนน้อย แต่บ่อยครั้ง หากน้ำหนักลดลงในช่วงไตรมาสแรกยังไม่ต้องกังวล เพียงเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นความหลากหลาย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและอาหารที่มีเครื่องเทศมาก รับประทานยาหรือวิตามินบำรุงตามที่แพทย์แนะนำ เช่น วิตามินบี 9 หรือโฟลิค ช่วยลดโอกาสที่ทารกในครรภ์จะมีความผิดปกติของระบบประสาท อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดท้อง เลือดออกผิดปกติ ควรรีบพบคุณหมอ

    • อายุครรภ์ไตรมาสสอง

    อาหารในช่วงไตรมาสนี้ ร่างกายของแม่จะต้องการพลังงานและโปรตีน เน้นอาหารที่มีคุณภาพอย่างหลากหลาย จำพวกโปรตีน และแร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ โฟเลต ธาตุเหล็ก สังกะสี ไอโอดีน และโพแทสเซียม เพราะเป็นระยะที่ทารกกำลังสร้างเนื้อเยื่อ อวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งโครงสร้างของร่างกาย โดยเฉพาะพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก ขนมหวานและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ช่วงนี้มดลูกเริ่มขยายเพื่อรองรับการเติบโตของทารกในครรภ์ แม่อาจรู้สึกปวดหน่วง โดยยาบำรุงครรภ์ที่สำคัญ คือ ยาบำรุงเลือด ที่จำเป็นต่อการเพิ่มปริมาณเลือดของแม่ การสร้างรก และการเจริญเติบโตของลูก รวมถึงแคลเซียม ที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูก ในช่วงไตรมาสนี้ แม่จะเริ่มรู้สึกได้ว่าลูกเริ่มขยับตัว อย่างไรก็ตาม หากมีอาการท้องแข็งทุก 10 นาที เลือดออกผิดปกติ หรือน้ำเดิน ควรรีบพบคุณหมอ

    • อายุครรภ์ไตรมาสสาม

    แม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องควบคุมน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ให้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ร่างกายของแม่ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน แม่จะมีอาการปวดเมื่อยบริเวณเอวหรือท้องน้อย ควรปรับเปลี่ยนท่าทาง ไม่ควรนั่ง นอน หรือยืนนาน ๆ สำหรับสุขภาพของทารก ในช่วงนี้จะดิ้นมากขึ้น แม่จึงต้องเรียนรู้การนับลูกดิ้น โดยจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นแต่ละวันควรดิ้นอย่างน้อย 10 ครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาทารกเสียชีวิตในครรภ์ ซึ่งสามารถนับลูกดิ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ไปจนวันคลอด อย่างไรก็ตาม หากนับลูกดิ้นได้น้อยกว่า 10 ครั้งต่อวัน แม่มีอาการท้องแข็งถี่ทุก 10 นาที เลือดออกจากช่องคลอด หรือน้ำเดิน ควรรีบพบคุณหมอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา