backup og meta

คนท้องย้อมผมได้ไหม เป็นอันตรายต่อเด็กในท้องหรือเปล่า

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    คนท้องย้อมผมได้ไหม เป็นอันตรายต่อเด็กในท้องหรือเปล่า

    คนท้องจำเป็นต้องดูแลสุขภาพให้ดีเป็นพิเศษ และอาจต้องใช้ชีวิตประจำวันอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะการทำกิจกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงในการได้รับสารเคมี คนท้องหลายคนอาจสงสัยว่าว่า คนท้องย้อมผมได้ไหม คำตอบคือ คนท้องสามารถย้อมสีผมได้ตามปกติ เนื่องจากสารเคมีจากผลิตภัณฑ์ย้อมสีผมมีปริมาณน้อยและเจือจางเกินกว่าจะส่งผ่านไปถึงรกและทำอันตรายเด็กในท้องได้ แต่คนท้องก็ไม่ควรย้อมสีผมบ่อยเกินไป เพื่อลดความถี่ในการที่เส้นผมและหนังศีรษะต้องสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง ทั้งนี้ คนท้องควรย้อมผมอย่างระมัดระวัง อ่านคำแนะนำในฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด และไม่ควรปล่อยให้น้ำยาย้อมหมักค้างอยู่บนหนังศีรษะนานเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับอันตรายจากสารเคมี

    คนท้องย้อมผมได้ไหม

    คนท้องสามารถย้อมผมและทำผมโดยใช้สารเคมี เช่น ยืดผม ดัดผม ฟอกสีผม ได้ตามปกติโดยไม่เป็นอันตรายต่อเด็กในท้อง เนื่องจากสารเคมีจากผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่สัมผัสหนังศีรษะของคนท้องสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อยมากจนส่งไปไม่ถึงเด็กในท้อง แต่หากคนท้องอยากย้อมผม ก็ควรรอให้ผ่านช่วงไตรมาสที่ 1 หรือ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ไปก่อน เนื่องจากเป็นระยะที่ทารกยังอยู่ในช่วงสร้างอวัยวะและเซลล์ต่าง ๆ จึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือการสัมผัสกับสารเคมีที่อาจกระทบต่อพัฒนาการของทารก คนท้องระยะแรกจึงควรดูแลสุขภาพกายใจของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กในท้องมีพัฒนาการตามปกติและสร้างอวัยวะได้อย่างสมบูรณ์

    หากเป็นไปได้ คนท้องควรงดทำสีผมหรือใช้สารเคมีกับร่างกายไปจนกว่าจะคลอดเพื่อจะได้ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในท้องให้ได้มากที่สุด หรือหากทำไฮไลต์เฉพาะบริเวณปลายเส้นผม ไม่ให้ยาย้อมผมสัมผัสหนังศีรษะ ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงที่สารเคมีจะเข้าสู่กระแสเลือดผ่านการสัมผัสกับหนังศีรษะโดยตรงได้

    ในช่วงให้นมสามารถย้อมผมได้ไหม

    ในช่วงหลังคลอดและระหว่างให้นม คุณแม่ก็สามารถย้อมสีและทำผมด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ตามปกติ เนื่องจากสารเคมีของผลิตภัณฑ์ย้อมผมเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่ได้ในปริมาณน้อยมาก จึงแทบจะเป็นไม่ได้ที่สารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กจะส่งไปยังเด็กผ่านทางน้ำนม อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรย้อมผมใกล้เด็ก เพื่อไม่ให้เด็กต้องสูดดมกลิ่นสารเคมีของผลิตภัณฑ์ย้อมผม

    ข้อควรระวังในการย้อมผมตอนท้อง

    คนท้องย้อมผม อาจมีข้อควรระวังดังต่อไปนี้

    • ก่อนทำสีผมทุกครั้ง ควรทดสอบการแพ้ด้วยการผสมครีมเปลี่ยนสีผมและดีเวลลอปเปอร์ (Developer) เข้าด้วยกันในปริมาณเล็กน้อย แล้วใช้ก้านสำลีป้ายส่วนผสมที่ได้มาทาที่ท้องแขนเป็นวงบาง ๆ รอให้ส่วนผสมแห้ง และระวังไม่ให้ผิวหนังบริเวณนั้นสัมผัสน้ำ จากนั้นให้สังเกตอาการ 2 วัน หากไม่พบอาการระคายเคือง รอยแดง ผื่นคัน ก็สามารถนำมาย้อมผมได้ตามปกติ
    • ควรสวมหน้ากากอนามัยขณะย้อมผม เนื่องจากยาย้อมผมชนิดถาวรมักมีส่วนผสมของสารละลายไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) อยู่ในดีเวลลอปเปอร์ ซึ่งอาจระคายเคืองทางเดินหายใจได้
    • ควรอ่านวิธีใช้ให้เข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์ย้อมผมอย่างเคร่งครัด
    • ย้อมสีผมในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมสารเคมีเป็นเวลานาน
    • ใช้เวลาในการทำสีผมให้น้อยที่สุด ไม่ปล่อยสารเคมีทิ้งไว้บนศีรษะนานจนเกินไป
    • หลังย้อมผมเสร็จแล้ว ควรล้างหนังศีรษะและเส้นผมให้สะอาด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสารเคมีตกค้างบนหนังศีรษะและเส้นผม
    • หลีกเลี่ยงการผสมผลิตภัณฑ์ย้อมผมต่างยี่ห้อเข้าด้วยกัน เนื่องจากสัดส่วนของสารเคมีในครีมย้อมผมแต่ละยี่ห้ออาจแตกต่างกัน หากผสมรวมกันอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและอาจไม่ปลอดภัยต่อเด็กในท้อง
    • คนท้องที่มีปัญหาสุขภาพผิว เช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคสะเก็ดเงิน ควรปรึกษาคุณหมอก่อนย้อมผม เนื่องจากปัญหาสุขภาพผิวอาจทำให้ผิวหนังมีรอยแตกและทนต่อสารเคมีได้น้อยกว่าปกติ จนอาจเสี่ยงเกิดอาการระคายเคืองผิวได้ง่ายขึ้น
    • คนท้องที่ย้อมผมเอง ควรสวมถุงมือขณะย้อมผมและสระล้างสีผม เพื่อป้องกันการสัมผัสสารเคมีจากยาย้อมผม

    หากคนท้องต้องทำงานในร้านเสริมสวย ควรป้องกันการรับสารเคมีมากเกินไปด้วยการสวมถุงมือและหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และพยายามอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกให้ได้มากที่สุด

    พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงตอนท้อง

    พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงตอนท้อง รวมถึงในช่วงวางแผนตั้งท้องและช่วงให้นมลูก เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเองและเด็ก อาจมีดังนี้

    • การบริโภคคาเฟอีน ควรงดหรือจำกัดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง ดาร์กช็อกโกแลต ไม่ให้เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน เนื่องจากคาเฟอีนอาจไปเพิ่มความดันโลหิตของคนท้อง และออกฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้ต้องถ่ายปัสสาวะบ่อยจนอาจเกิดภาวะขาดน้ำได้ นอกจากนี้ การบริโภคคาเฟอีนในปริมาณมากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งหรือทำให้เด็กมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ได้ด้วย
    • การบริโภคแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหล้า เบียร์ พันช์ ไวน์ โซจู เนื่องจากอาจทำให้เสี่ยงแท้ง ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในท้อง ทำให้เด็กพิการแต่กำเนิด การคลอดก่อนกำหนด เด็กมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ และกระทบสุขภาพทั้งด้านร่างกายและสติปัญญาของเด็กไปตลอดชีวิต
    • การสูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ยาสูบ และบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากสารพิษในบุหรี่ เช่น นิโคติน ทาร์หรือน้ำมันดิน คาร์บอนมอนอกไซด์ อาจทำให้เส้นเลือดตีบตันจนเลือดไหลเวียนไม่สะดวก และไม่สามารถส่งสารอาหารที่จำเป็นไปยังครรภ์ได้ตามปกติ นอกจากนี้ ยังอาจทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะที่กำลังพัฒนาของเด็กในท้อง ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการผิดปกติ อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด และส่งผลต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว
    • ความเครียด นอกจากจะต้องดูแลสุขภาพกายให้ดีแล้ว ก็ควรให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของตัวเองเช่นกัน ควรพยายามอย่าให้มีความเครียดสะสมหรือเรื้อรัง เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า จนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้ง การคลอดก่อนกำหนด และกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กในท้อง รวมถึงอาจทำให้เด็กมีปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมในภายหลังด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา