backup og meta

คนท้อง อาการและการดูแล

คนท้อง อาการและการดูแล

ร่างกายของ คนท้อง รวมถึงการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์จะเปลี่ยนแปลงไปตามระยะของการตั้งครรภ์ ในช่วงตั้งครรภ์ร่าอาจมีปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย หรือที่มักเรียกว่า อาการคนท้อง เช่น คลื่นไส้อาเจียน เต้านมบวมและเจ็บปวด ปัสสาวะมากขึ้น เหนื่อยล้า การดูแลในระหว่างตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอาจช่วยบรรเทาอาการคนท้อง และมีส่วนช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกด้วย

คนท้องแต่ละไตรมาส

การตั้งครรภ์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ หรือที่เรียกว่าการปฏิสนธิ แล้วกลายเป็นตัวอ่อนฝังอยู่ในผนังมดลูก โดยการตั้งครรภ์นิยมแบ่งเป็น 3 ไตรมาส ดังนี้

คนท้องไตรมาสที่ 1

เริ่มต้นตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายไปจนถึง 14 สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาที่ฮอร์โมนและร่างกายของคุณแม่เริ่มเปลี่ยนแปลง บางคนอาจมีอาการที่เป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ เช่น เจ็บเต้านม มีเลือดล้างหน้าเด็ก เมื่อยล้า ปัสสาวะมากขึ้น ท้องอืด อารมณ์แปรปรวน

การเจริญเติบโตของทารกในช่วงไตรมาสแรกเริ่มจากไข่ผสมกับอสุจิและกลายเป็นตัวอ่อนฝังในผนังมดลูก ในไตรมาสนี้ เซลล์จะแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ระบบประสาท ไขสันหลัง เส้นประสาท หัวใจและกล้ามเนื้อ รวมถึงอวัยวะส่วนอื่น ๆ เริ่มพัฒนา

ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองอาจตั้งครรภ์ สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้หลังประจำเดือนขาด 1 สัปดาห์ โดยอาจไปตรวจการตั้งครรภ์ที่สถานพยาบาล หรือซื้อชุดตรวจการตั้งครรภ์จากร้านขายยามาตรวจเบื้องต้นเองก็ได้ ชุดตรวจการตั้งครรภ์จะตรวจหาฮอร์โมน hCG ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่พบได้ในปัสสาวะของสตรีมีครรภ์ หากตรวจไม่พบควรเว้นไปอีก 1 สัปดาห์แล้วตรวจซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากปริมาณฮอร์โมน hCG ในครั้งแรกอาจยังไม่เพียงพอ

คนท้องไตรมาสที่ 2

คนท้องไตรมาสที่ 2 คือ ช่วงสัปดาห์ที่ 15-28 ของการตั้งครรภ์ ในระยะนี้ อาการคนท้องอาจดีขึ้นตามลำดับ ร่างกายของคุณแม่เริ่มเปลี่ยนแปลง มดลูกโตขึ้น อาจรู้สึกไม่สบายหรือปวดเมื่อยบริเวณเส้นเอ็นมดลูกมากขึ้น หน้าท้องเริ่มขยายและรู้สึกตึง น้ำหนักตัวอาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากทารกตัวใหญ่ขึ้นและมีปริมาณเลือดเพิ่มขึ้น

ทารกในครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 2 จะเจริญเติบโตมากขึ้น สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และอาจดิ้นมากจนคุณแม่สัมผัสได้ อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของทารกยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตับ ตับอ่อน และไตเริ่มทำงาน ทารกเริ่มรู้จักดูดนิ้วเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับดูดนมแม่

คนท้องไตรมาสที่ 3

ช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คือ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 29-40 ถือเป็นช่วงเวลาเตรียมคลอด คุณแม่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของการคลอดบุตร เช่น ปวดท้อง ปวดหลัง เลือดออก มดลูกบีบตัว เต้านมขยาย ตกขาว เหนื่อยล้า ปัสสาวะบ่อย เสียดท้อง

สำหรับการเจริญเติบโตของทารกในช่วงไตรมาสที่ 3 ทารกยังคงเติบโต อวัยวะส่วนต่าง ๆ ยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีพัฒนาการ เช่น การลืมตา การได้ยิน การดูดนิ้ว การร้องไห้ การยิ้ม และเริ่มเปลี่ยนตำแหน่งเข้าสู่อุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมคลอด

อาการคนท้อง

อาการที่อาจเป็นสัญญาณของคนท้อง มีดังนี้

  • ประจำเดือนไม่มา เป็นสัญญาณการตั้งครรภ์ที่พบบ่อย เนื่องจากไข่ได้รับการปฏิสนธิ กลายเป็นตัวอ่อนฝังในเยื่อบุโพรงมดลูกแล้ว เยื่อบุโพรงมดลูกจึงไม่สลายตัวออกมาเป็นประจำเดือน
  • เต้านมบวมและเจ็บปวด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในคนท้องช่วงแรกมักทำให้มีอาการเจ็บเต้านมและเต้านมบวม เมื่อระยะการตั้งครรภ์ผ่านไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้นตามลำดับ
  • คลื่นไส้อาเจียน อาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ตลอดทั้งวัน หรือบางคนอาจไม่มีอาการนี้เลย
  • ปัสสาวะมากขึ้น ในช่วงตั้งครรภ์ ปริมาณเลือดในร่างกายอาจเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ทำให้ไตขับปัสสาวะออกมามากขึ้นตามไปด้วย
  • อาการเหนื่อยล้า ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในคนท้องช่วงแรก อาจทำให้รู้สึกง่วงนอนและเหนื่อยล้ามากขึ้น
  • อารมณ์แปรปรวน ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจส่งผลให้อารมณ์แปรปรวนได้
  • มีเลือดล้างหน้าเด็ก อาจเกิดขึ้นได้ในบางคน เป็นภาวะที่เลือดออกเมื่อตัวอ่อนฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูกประมาณ 10-14 วันหลังจากปฏิสนธิ
  • ท้องอืด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเมื่อตั้งครรภ์ในระยะแรก อาจทำให้รู้สึกแน่นท้อง ท้องป่อง คล้ายอาการก่อนมีประจำเดือน
  • เป็นตะคริว อาจมีอาการตะคริวระดับเบาที่มดลูก เนื่องจากเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณมดลูกขยายตัวตามขนาดทารกในครรภ์
  • ไวต่อกลิ่นและรสชาติ อาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้คนท้องได้กลิ่นอาหารชัดเจนขึ้น และการรับรสชาติอาหารอาจเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากรสชาติอาหารที่เคยถูกปากอาจกลายเป็นอาหารที่ไม่อร่อยได้
  • คัดจมูก ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นอาจกระตุ้นการผลิตเมือก ทำให้โพรงจมูกบวม แห้ง มีเลือดออกง่าย และมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล

การดูแลคนท้อง

คนท้อง ควรดูแลสุขภาพกายและสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ คนท้องน้ำหนักควรเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ประมาณ 10-13 กิโลกรัม ถึงจะเหมาะสมและดีต่อสุขภาพ เพราะหากคนท้องมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์อาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ เช่น ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ เกิดมาตัวเล็กมาก ซึ่งอาจเกิดจากทารกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอเมื่ออยู่ในครรภ์ อาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายทารกด้วย

สำหรับคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์ในขณะตั้งครรภ์ก็อาจส่งผลเสียทั้งต่อทารกและการคลอดบุตรได้เช่นกัน เนื่องจากทารกตัวโตคลอดลำบาก คุณแม่อาจเหนื่อยง่าย เส้นเลือดขอดมากขึ้น ปวดหลังมากขึ้น อาจทำให้แผลผ่าคลอดสมานตัวช้า เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดได้ง่าย และอาจลดน้ำหนักหลังคลอดยาก

การับประทานอาหารสำหรับคนท้อง

  • คนท้องควรเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย และได้รับสารอาหารที่สมดุลทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ และน้ำ
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกทุกครั้ง หลีกเลี่ยงอาหารดิบ เช่น ปลาดิบ เนื้อดิบ กุ้งดิบ เพราะอาจปนเปื้อนสารปรอท หรือปนเปื้อนการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • รับประทานผักและผลไม้ให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการ
  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิก (Folic acid) อย่างน้อย 400 ไมโครกรัม/วัน เนื่องจากโฟเลตมีส่วนช่วยสร้างตัวอ่อน ป้องกันและลดความผิดปกติของระบบประสาท ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ควบคุมการสร้างกรดอะมิโนที่จำเป็นในการแบ่งเซลล์ และมีส่วนในการสร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวในไขกระดูกของทารกในครรภ์ อาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลต เช่น ผักใบเขียว กะหล่ำปลี ผักกาด บร็อคโคลี่ มะละกอ องุ่น กล้วย แคนตาลูป สตรอว์เบอร์รี่
  • ดื่มนมทุกวัน ๆ ละประมาณ 1-2 แก้ว เพื่อช่วยเพิ่มแคลเซียมให้กับคุณแม่และทารกในครรภ์ แต่ควรเลือกผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการฆ่าเชื้อเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และควรเป็นนมไขมันต่ำ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากกว่า 1-2 แก้ว/วัน เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ และอาจทำให้สูญเสียแคลเซียมและธาตุเหล็กได้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากระหว่างตั้งครรภ์ อาจเสี่ยงทำให้ทารกเกิดอาการแอลกอฮอล์ซินโดรม ที่เป็นสาเหตุให้ทารกเกิดความผิดปกติที่ใบหน้า นิ้วหรือแขนขา ไต และหัวใจ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการตั้งครรภ์ได้

การออกกำลังกายในคนท้อง

ในขณะตั้งครรภ์ ควรออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันเพื่อช่วยเสริมเสร้างกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย และอาจช่วยให้คลอดง่ายขึ้น ในรายที่ไม่ได้มีข้อห้ามในการออกกำลังกาย นอกจากนี้ การออกกำลังกายอาจช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ในขณะตั้งครรภ์ได้ เช่น ปวดหลัง เมื่อยล้า ปวดขา คนท้องอาจเริ่มออกกำลังกายด้วยการเดิน โยคะ หรือการยืดกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ใช้แรงกระแทกมาก เสี่ยงหกล้ม หรือมีแรงกดที่บริเวณท้อง เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เนื่องจากอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้

สำหรับคนท้องที่มีภาวะสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือมีปัญหาการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาคุณหมอถึงความเหมาะสมในการออกกำลังกายก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่และทารกในครรภ์

ท่านอนคนท้อง

ท่านอนที่ปลอดภัยและสบายที่สุดในขณะตั้งครรภ์ คือ ท่านอนตะแคงซ้ายหรือขวา เนื่องจากการนอนหงายเมื่อมีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป อาจทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี จึงลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปยังทารกในครรภ์ได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทารกเสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้นเป็นสองเท่า คุณแม่อาจวางหมอนหนุนใต้เข่าไว้ เพื่อช่วยรองรับแรงกระแทกและทำให้นอนหลับสบายขึ้น

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

First Trimester of Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/guide/first-trimester-of-pregnancy#1. Accessed November 9, 2021

Getting pregnant. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/getting-pregnant/in-depth/symptoms-of-pregnancy/art-20043853. Accessed November 9, 2021

Second trimester. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/second-trimester. Accessed November 9, 2021

Third Trimester. https://www.webmd.com/baby/guide/third-trimester-of-pregnancy#1. Accessed November 9, 2021

Taking Care of You and Your Baby While You’re Pregnant. https://familydoctor.org/taking-care-of-you-and-your-baby-while-youre-pregnant/. Accessed November 9, 2021

Pregnancy. https://www.nhs.uk/pregnancy/. Accessed November 9, 2021

Tiredness and sleep problems. https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/common-symptoms/tiredness/. Accessed November 9, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/03/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการคนท้องไม่รู้ตัว เกิดจากอะไร และวิธีดูแลตัวเองเมื่อรู้ว่าท้อง

โฟลิค คืออะไร สำคัญอย่างไรสำหรับคนท้อง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา