backup og meta

ตรวจครรภ์ตอนไหน ให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากที่สุด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

    ตรวจครรภ์ตอนไหน ให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากที่สุด

    ผู้ที่ต้องการตรวจครรภ์เนื่องจากวางแผนมีบุตร หรือตรวจครรภ์เพราะไม่แน่ใจว่าวิธีคุมกำเนิดที่ใช้ เช่น การกินยาคุมฉุกเฉิน การหลั่งนอก สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้หรือไม่ อาจต้องการทราบว่า ตรวจครรภ์ตอนไหน ถึงจะให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สุด โดยทั่วไป ควรตรวจครรภ์หลังจากประจำเดือนขาดไปประมาณ 7 วัน และควรตรวจในช่วงเช้าซึ่งเป็นช่วงที่ปัสสาวะมีฮอร์โมนการตั้งครรภ์เข้มข้นมากที่สุดของวัน  หากตรวจเร็วกว่านั้นอาจให้ผลตรวจที่คลาดเคลื่อนได้

    ตรวจครรภ์ตอนไหน ดีที่สุด

    การตรวจครรภ์ให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากที่สุด ควรตรวจหลังจากประจำเดือนขาดประมาณ 7 วัน โดยเฉพาะเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันซึ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการคล้ายการตั้งครรภ์ระยะแรก เช่น มีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีเลือดล้างหน้าเด็ก คือ การมีเลือดออกทางช่องคลอดปริมาณเล็กน้อย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน ซึ่งเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 6-12 สัปดาห์ ก็สามารถตรวจครรภ์ด้วยตัวเองโดยใช้ที่ตรวจครรภ์ หรือเข้ารับการตรวจครรภ์ที่สถานพยาบาลได้

    ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ที่ตรวจครรภ์เพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ คือ ช่วงเช้าหลังตื่นนอน ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายไม่ได้รับน้ำเป็นเวลาหลายชั่วโมง ทำให้ในปัสสาวะแรกของวันมีระดับฮอร์โมนฮิวแมนคอริโอนิกโกนาโดโทรฟิน (Human chorionic gonadotropin) หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) เข้มข้นกว่าปัสสาวะในช่วงอื่นของวัน โดยฮอร์โมนเอชซีจีเป็นฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่ผลิตโดยเซลล์รกและจะหลั่งออกมาหลังจากเกิดการปฏิสนธิและตัวอ่อนฝังตัวในผนังมดลูกเรียบร้อยแล้วประมาณ 6 วัน โดยระดับฮอร์โมนนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณ 2 เท่า ทุก ๆ 2-3 วัน หากตรวจครรภ์ในช่วงเช้าแล้วพบว่าผลเป็นบวก (Positive) แสดงว่ามีการตั้งครรภ์

    วิธีตรวจครรภ์ที่นิยมใช้

    การทดสอบการตั้งครรภ์ในเบื้องต้นมี 2 วิธีหลัก ๆ  คือ การตรวจเลือดและการตรวจปัสสาวะ เพื่อหาฮอร์โมนเอชซีจีในร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ โดยสามารถตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับบริการตรวจครรภ์จากสถานพยาบาลใกล้บ้านก็ได้ ปกติแล้ว การตรวจครรภ์ด้วยการตรวจเลือดจะให้ผลตรวจที่แม่นยำกว่าการตรวจปัสสาวะ

    วิธีตรวจครรภ์ที่นิยมใช้ อาจมีดังนี้

  • การตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง ด้วยการใช้ที่ตรวจครรภ์ (Home pregnancy tests) ซึ่งมีราคาย่อมเยาและมีจำหน่ายตามร้านยาทั่วไป ทั้งยังมีหลายแบบให้เลือกใช้ เช่น ที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม ที่ตรวจครรภ์แบบหยด ที่ตรวจครรภ์แบบปัสสาวะผ่าน เป็นวิธีตรวจครรภ์ที่สามารถทราบผลได้อย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำมากถึง 99% เมื่อใช้ถูกวิธี ทั้งนี้ ควรอ่านคำแนะนำที่แนบมากับผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดและตรวจสอบวันหมดอายุก่อนใช้งาน เพื่อป้องกันผลตรวจครรภ์คลาดเคลื่อน
  • การตรวจครรภ์ด้วยวิธีทางการแพทย์ มี 3 วิธี ได้แก่
    • การตรวจครรภ์ในห้องปฏิบัติการ (Urine Pregnancy Test หรือ UPT) เพื่อหาความเข้มข้นของฮอร์โมนเอชซีจีในปัสสาวะ
    • การเจาะเลือดตรวจครรภ์ (Blood Test) แบ่งเป็น 2 วิธี การตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณฮอร์โมนเอชซีจี และการตรวจเลือดเพื่อวัดคุณภาพของฮอร์โมนเอชซีจี
    • การตรวจครรภ์ด้วยการอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด สามารถทำได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์ การอัลตราซาวด์จะช่วยให้ทราบตำแหน่งของตัวอ่อนว่าฝังตัวอยู่ในมดลูกหรือไม่ ตั้งครรภ์แฝดหรือไม่ มีความผิดปกติ เช่น เนื้องอกมดลูก การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือไม่
  • ปัจจัยที่อาจทำให้ผลตรวจครรภ์ไม่แม่นยำ

    การตรวจครรภ์ด้วยตัวเองมักให้ผลตรวจที่แม่นยำหากตรวจอย่างถูกวิธีและตรวจในเวลาที่เหมาะสม แต่ปัจจัยต่อไปนี้ อาจทำให้ผลตรวจครรภ์ออกมาไม่แม่นยำได้

    • ตรวจครรภ์ไม่ถูกวิธี หากใช้ที่ตรวจครรภ์ผิดวิธี เช่น อ่านผลตรวจหลังจากทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง เปิดกล่องที่ตรวจครรภ์ไว้นานเกินไปก่อนนำมาตรวจ อาจทำให้ผลตรวจครรภ์คลาดเคลื่อนได้
    • ตรวจครรภ์เร็วเกินไป การตรวจครรภ์เร็วเกินไปหรือตรวจก่อนประจำเดือนขาด อาจทำให้ผลการตรวจครรภ์ผิดพลาดได้เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอชซีจีในปัสสาวะยังน้อยเกินไป จึงไม่สามารถตรวจจับได้
    • ปัสสาวะเจือจางเกินไป หากใช้ที่ตรวจครรภ์ในช่วงเวลาอื่นของวัน เช่น ตอนกลางวันหรือตอนเย็น หลังจากบริโภคน้ำอาหารและเครื่องดื่มไปแล้ว อาจทำให้ระดับฮอร์โมนเอชซีจีในปัสสาวะเจือจางจนตรวจไม่พบ ทำให้ผลตรวจครรภ์คลาดเคลื่อนได้
    • รับประทานยารักษาโรคบางชนิด เช่น กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine) โปรเมทาซีน (Promethazine) ในช่วงที่ใช้ที่ตรวจครรภ์ อาจทำให้ผลตรวจครรภ์ไม่ตรงตามความจริงได้

    ควรทำอย่างไรเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์

    หากทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองโดยใช้ที่ตรวจครรภ์แล้วปรากฏเส้นสีแดง 2 ขีดตรงกับตัวอักษร C และ T แสดงว่า ตั้งครรภ์ ผู้ตรวจควรเข้ารับการตรวจครรภ์ด้วยวิธีการทางแพทย์เพื่อยืนยันผล หากทราบผลแน่ชัดว่าตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์ (Antenatal care) ให้เร็วที่สุด เพื่อให้คุณหมอสามารถซักประวัติ ตรวจสุขภาพ เช่น ระดับความดันโลหิต ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ดูการเจริญเติบโตของทารก คำนวณเวลาคลอด เฝ้าระวังและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งนี้ ควรไปพบคุณหมอตามนัดตรวจครรภ์ทุกครั้ง เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ให้สมบูรณ์แข็งแรงตลอดอายุครรภ์ และสามารถคลอดบุตรได้อย่างปลอดภัย

    หากหญิงตั้งครรภ์ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไป สามารถติดต่อสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อมได้ที่เบอร์ 1663 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับทางเลือกที่สามารถทำได้ตามอายุครรภ์ของหญิงตั้งครรภ์

    โดยราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 ให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ที่ยืนยันจะยุติการตั้งครรภ์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย ไม่ต้องรับโทษปรับหรือจำคุก รวมไปถึงหญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน แต่ต้องผ่านการรับรองจากผู้ให้บริการทางการแพทย์ก่อน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้มีการทำแท้งอย่างปลอดภัย และไม่มีความผิดต่อกฎหมาย

    ทั้งนี้ ไม่ควรทำแท้งด้วยตัวเองหรือไปรับบริการคลินิกทำแท้งเถื่อน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งยังผิดกฎหมายด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา