backup og meta

ถุงตั้งครรภ์ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

ถุงตั้งครรภ์ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

ถุงตั้งครรภ์ หรือถุงการตั้งครรภ์ คือ ถุงบรรจุตัวอ่อนที่พัฒนาขึ้นภายในโพรงมดลูกเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ประกอบไปด้วยน้ำคร่ำและตัวอ่อน ถุงตั้งครรภ์ในระยะแรกเริ่มจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และสามารถมองเห็นได้จากการอัลตราซาวด์ในช่วงสัปดาห์ที่ 4-5 ของการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ หากอัลตราซาวด์แล้วไม่พบถุงตั้งครรภ์ อาจเกิดจากอายุครรภ์น้อยเกินไป ตั้งครรภ์นอกมดลูก หรืออาจเกิดภาวะแท้งบุตรได้

[embed-health-tool-due-date]

ถุงตั้งครรภ์ คืออะไร

ถุงตั้งครรภ์ หรือถุงการตั้งครรภ์ (Gestational Sac) เป็นถุงของเหลวทรงกลมหรือทรงรีที่ฝังตัวที่ผนังมดลูก โดยจะอยู่เยื้องไปทางผนังโพรงมดลูกด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ได้อยู่ตรงกลางโพรงมดลูก ถุงตั้งครรภ์เป็นที่อยู่อาศัยของตัวอ่อนในระยะแรก โดยสัปดาห์ที่ 3-4 เกิดการฝังตัวของตัวอ่อน และจะเริ่มเห็นถุงการตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 4-5 จากการอัลตร้าซาวน์ ภายในถุงตั้งครรภ์จะประกอบไปด้วยน้ำคร่ำซึ่งเป็นของเหลวที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันให้กับทารก ตัวอ่อนทารกจะมีถุงไข่แดง (Yolk sac) ที่พัฒนาขึ้นในถุงตั้งครรภ์ภายในสัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์คอยทำหน้าที่ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อน โดยปกติจะสามารถอัลตราซาวด์พบถุงตั้งครรภ์และถุงไข่แดงได้เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 5 สัปดาห์ หรือเมื่อมีขนาดประมาณ 20 มิลลิเมตร และอาจเห็นตัวอ่อนได้เมื่อถุงตั้งครรภ์มีขนาด 25 มิลลิเมตร

ถุงตั้งครรภ์เกิดขึ้นเมื่อไหร่

ถุงตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นประมาณ 4-5 สัปดาห์หลังจากช่วงมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย การเจริญเติบโตของขนาดของถุงตั้งครรภ์อาจใช้เป็นบ่งชี้ได้ว่าสุขภาพครรภ์ในระยะแรกเป็นปกติหรือไม่ การก่อตัวของถุงตั้งครรภ์ถือเป็นสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์ภายในโพรงมดลูกที่สามารถตรวจพบได้จากการอัลตราซาวด์ในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 4-5 ของการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ หากไม่มีอาการหรือภาวะที่น่าเป็นห่วง คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการอัลตราซาวด์ในช่วงอายุครรรภ์นี้ โดยทั่วไป คุณหมอจะนัดอัลตราซาวด์ครั้งแรกในช่วงสัปดาห์ที่ 11-13 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ เพื่อยืนยันอายุครรภ์และประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์

อัลตราซาวด์ไม่พบถุงตั้งครรภ์ หมายถึงอะไร

หากในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก คุณหมออัลตราซาวด์ทางช่องคลอดแล้วไม่พบถุงตั้งครรภ์บริเวณโพรงมดลูกของคุณแม่ อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • อายุครรภ์น้อยเกินไป โดยปกติถุงตั้งครรภ์จะปรากฏที่เห็นได้จากการอัลตราซาวด์ในช่วงสัปดาห์ที่ 4-5 ของการตั้งครรภ์ หากอัลตราซาวด์เร็วเกินไปก็ยังไม่สามารถมองเห็นถุงตั้งครรภ์ได้อย่างชัดเจน คุณหมออาจแนะนำให้รอสักระยะค่อยมาอัลตราซาวด์ใหม่อีกครั้ง
  • มีภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy) เป็นการตั้งครรภ์ผิดปกติที่ทำให้ตัวอ่อนฝังตัวอยู่นอกโพรงมดลูก ทำให้ไม่พบถุงตั้งครรภ์ภายในมดลูกตามปกติ หากระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์หรือเอชซีจี (hCG) เป็นปกติแต่ไม่พบถุงตั้งครรภ์ อาจเป็นสัญญาณของภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งควรได้รับการรักษาทันที
  • เกิดภาวะแท้งบุตร หากมีระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ลดลงและอัลตราซาวด์ไม่พบถุงตั้งครรภ์ อาจเป็นสัญญาณของภาวะสูญเสียทารกในครรภ์ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

ถุงตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวอ่อน เกิดจากอะไร

หากอัลตราซาวด์แล้วพบว่ามีถุงตั้งครรภ์ แต่กลับไม่พบตัวอ่อนอยู่ภายใน อาจเกิดจากภาวะท้องลม (Blighted ovum หรือ Anembryonic pregnancy) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากตัวอ่อนภายในถุงตั้งครรภ์ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติและสลายไป เหลือไว้เพียงถุงตั้งครรภ์ภายในโพรงมดลูก มักเกิดขึ้นในระยะแรกของการตั้งครรภ์ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว มีดังนี้

  • แบ่งเซลล์ของตัวอ่อนผิดปกติ
  • โครโมโซมในไข่ที่ปฏิสนธิแล้วผิดปกติ
  • การติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ โรคภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเอง (Autoimmune Diseases) หรือความผิดปกติของต่อมไร้ท่อของผู้หญิงตั้งครรภ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Gestational Sac Evaluation. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK551624/#:~:text=The%20gestational%20sac%20is%20a,(IUP).%5B1%5D. Accessed September 5, 2022

Gestational Sac. https://www.sciencedirect.com/topics/medicine-and-dentistry/gestational-sac. Accessed September 5, 2022

Normal early intrauterine pregnancy. https://www.health.govt.nz/our-work/life-stages/maternity-services/new-zealand-obstetric-ultrasound-guidelines/first-trimester/normal-early-intrauterine-pregnancy. Accessed September 5, 2022

Ectopic pregnancy: Signs, treatment and future fertility. https://www.mayoclinichealthsystem.org/hometown-health/speaking-of-health/ectopic-pregnancy-signs-treatment-and-future-fertility. Accessed September 5, 2022

Blighted Ovum. https://www.webmd.com/baby/blighted-ovum. Accessed September 5, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการคนท้องอ่อน ๆ และการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี

อาการคนท้องระยะแรก และวิธีรับมืออาการแพ้ท้อง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา