คนท้องติดโควิด ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนท้องเพียงอย่างเดียว แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้อีกด้วย หากอาการของโรครุนแรงอาจทำให้แท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ ทารกในครรภ์มีพัฒนาการช้า และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะตายคลอด (Stillbirth) ได้ ดังนั้น คนท้องจึงควรดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตอาการที่เกิดขึ้น หากพบความผิดปกติใด ๆ ก็ตาม ควรเข้าพบคุณหมอโดยด่วน เพื่อรับการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
โควิด-19 คืออะไร
โควิด-19 เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งไปกระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ ส่งผลต่ออวัยวะในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง ได้แก่ จมูก ลำคอ หลอดลม และปอด โดยผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจไม่เผยอาการใด ๆ แต่สำหรับบางคน หลังจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 เชื้อนี้จะเข้าสู่ระยะการฝักตัวประมาณ 5-6 วัน ก่อนเผยอาการเจ็บป่วยที่สังเกตได้ชัดภายใน 2-14 วัน ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้ เจ็บคอ ไอ หายใจลำบาก ทั้งยังอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย สูญเสียการรับรสและกลิ่น
คนท้องติดโควิด มีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างไร
แม้ความเสี่ยงโดยรวมของโควิดต่อคนท้องจะอยู่ในระดับต่ำ แต่คนท้องหรือคนที่เพิ่งตั้งท้องที่มีสุขภาวะทางสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคอ้วน ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก็อาจเกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ นอกจากนี้ คนท้องที่ติดโควิด-19 ยังอาจมีความเสี่ยงที่จะคลอดลูกก่อนเข้าสู่สัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ หรือที่เรียกว่า คลอดก่อนกำหนด และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตร
ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้คนท้องติดโควิดมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนัก อาจมีดังนี้
- ตั้งท้องเกินสัปดาห์ที่ 28 (ไตรมาสที่ 3)
- อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
- มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหอบหืด
- น้ำหนักเกิน
อย่างไรก็ตาม คนท้องติดโควิดยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ง่ายกว่าคนท้องที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 เช่น ความดันโลหิตสูง เลือดออกมากหลังคลอด การติดเชื้ออื่น ๆ นอกจากนี้ ยังอาจมีความเสี่ยงในการเกิดการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Coagulopathy) เพิ่มขึ้นอีกด้วย
คนท้องติดโควิด ส่งผลอย่างไรต่อทารกในครรภ์
คนท้องติดโควิด-19 นอกจากจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของตัวเองแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์และทารกแรกเกิดได้ ดังนี้
- อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตร
- อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะตายคลอด (Stillbirth) เพิ่มขึ้น
- อาจมีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น
- โควิด-19 อาจส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์ได้
- ทารกแรกเกิดอาจมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
- ทารกที่คลอดจากคนท้องติดโควิด อาจต้องได้รับการดูแลในแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (Neonatal Intensive Care Unit หรือ NICU)
การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในคนท้อง
การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในคนท้อง อาจทำได้ดังนี้
- รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครบทุกโดส
- สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร
- ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ หรืออาจใช้เจลแอลกอฮอล์ที่มีส่วนประกอบของแอลกฮอล์อย่างน้อย 70% ขึ้นไป
- หลีกเลี่ยงการนำมือไปสัมผัสดวงตา จมูก และปาก โดยที่ยังไม่ได้ล้างมือ เพราะอาจมีการปนเปื้อนของไวรัส
- ทำความสะอาดพื้นที่ที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ เช่น สวิตช์ไฟ กลอนประตู ราวจับบันได