backup og meta

ภาวะแท้งคุกคาม คืออะไร สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    ภาวะแท้งคุกคาม คืออะไร สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

    ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened abortion/miscarriage) คือ ภาวะที่หญิงตั้งครรภ์มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นระยะที่ปากมดลูกยังไม่เปิด เลือดที่ไหลออกมาอาจมีลักษณะกะปริบกะปรอย ร่วมกับมีอาการปวดหน่วง ปวดบิด บริเวณท้องน้อย ภาวะนี้อาจนำไปสู่การสูญเสียตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ได้ร้อยละ 50 แต่หากเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีและดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี ก็สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้ตามปกติ

    ภาวะแท้งคุกคาม คืออะไร

    ภาวะแท้งคุกคาม เป็นภาวะเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดที่พบในหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ภาวะนี้บ่งชี้ถึงความเสี่ยงในการสูญเสียตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ สามารถพบได้ถึงร้อยละ 20-25 ของหญิงตั้งครรภ์ แม้จะไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่มักเป็นผลมาจากความเครียด อุบัติเหตุ ความผิดปกติของทารกในครรภ์ เป็นต้น โดยความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งคุกคามจะเพิ่มขึ้นตามอายุ และหากเคยแท้งบุตรในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ก็อาจเสี่ยงเกิดภาวะแท้งคุกคามได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยแท้งบุตร

    ทั้งนี้ ภาวะแท้งคุกคามไม่ได้หมายความว่าจะต้องสูญเสียทารกในครรภ์ทุกกรณี หากหญิงตั้งครรภ์ที่เกิดภาวะแท้งคุกคามเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมถึงการสูญเสียทารกในครรภ์ และสามารถดำเนินการตั้งครรภ์ไปตามปกติได้โดยที่ทารกมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์

    อาการของภาวะแท้งคุกคาม

    อาการของภาวะแท้งคุกคาม อาจมีดังนี้

    • มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
    • บางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อยหรือปวดหลังส่วนล่างแบบปวดหน่วงคล้ายตอนมีประจำเดือน อาการอาจเกิดตลอดเวลาแต่ไม่รุนแรง หรือมีอาการเป็นพัก ๆ ก็ได้

    สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของภาวะแท้งคุกคาม

    สาเหตุของภาวะแท้งคุกคามยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่อาจมีปัจจัยบางประการที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งคุกคามได้ ดังนี้

    • มีอาการบาดเจ็บที่หน้าท้อง
    • เป็นโรคอ้วน
    • อายุมากกว่า 35 ปี
    • เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคไทรอยด์
    • ติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียขณะตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน เอชพีวี (HPV) เอชไอวี (HIV) มาลาเรีย ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม
    • ใช้ยาหรือสัมผัสสารเคมีที่เป็นอันตรายขณะตั้งครรภ์ เช่น สารตะกั่ว สารหนู
    • บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
    • บริโภคคาเฟอีนในปริมาณมาก (มากกว่า 200 มิลลิกรัม/วัน)
    • มีปัญหาเกี่ยวกับรก โครงสร้างมดลูก ปากมดลูก หรือรังไข่ ที่ทำให้อวัยวะอ่อนแอจนไม่สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ได้ตามปกติ
    • ความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น โครโมโซมผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด

    วิธีรักษาภาวะแท้งคุกคาม

    ภาวะแท้งคุกคามไม่มีวิธีรักษาเฉพาะ โดยทั่วไปคุณหมอจะรักษาตามอาการที่พบ โดยอาจแนะนำให้พักผ่อนให้มาก ๆ นอนหลับอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง/วัน หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก งดออกกำลังกายหักโหม หรืออาจต้องหยุดมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนั้นไปก่อน หากมีอาการปวดท้องให้รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดหน่วงได้ ยกเว้นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ที่อาจกระทบต่อการทำงานของไตของทารกในครรภ์ ทำให้ผลิตปัสสาวะออกมาน้อย และนำไปสู่ภาวะน้ำคร่ำน้อยจนเป็นอันตรายต่อทารกได้ เนื่องจากปัสสาวะของทารกเป็นส่วนประกอบหลักของน้ำคร่ำ

    ในรายที่เคยแท้งซ้ำหรือได้รับการวินิจฉัยว่าขาดฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestins) คุณหมออาจให้ฮอร์โมนโปรเจสติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอเจนสังเคราะห์ (Synthetic progestogen) เพื่อปรับระดับฮอร์โมนในร่างกายให้เหมาะสม

    วิธีป้องกันภาวะแท้งคุกคาม

    การป้องกันภาวะแท้งคุกคาม อาจทำได้ดังนี้

    • ฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ และไปพบคุณหมอที่ดูแลครรภ์ตามนัดหมายทุกครั้งตลอดอายุครรภ์ เพื่อให้สามารถติดตามสุขภาพและพัฒนาการของทารกในครรภ์ หากพบความผิดปกติหรือความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะแท้งคุกคาม จะได้รักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
    • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดภาวะแท้งคุกคามหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพทารกในครรภ์ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • รับประทานยาบำรุงครรภ์ เช่น กรดโฟลิก (Folic acid) อย่างน้อยวันละ 0.4 มิลลิกรัม ในช่วง 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ต่อเนื่องไปจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และวิตามินอื่น ๆ ตามที่คุณหมอสั่ง

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    ภาวะแท้งคุกคามเป็นภาวะที่เสี่ยงสูญเสียทารกในครรภ์ หากมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงระยะเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ควรรีบไปพบคุณหมอทันที และควรสังเกตปริมาณและลักษณะของเลือดที่ออก และอาการร่วมที่เกิดขึ้นด้วย เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้คุณหมอสามารถวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

    หากเกิดภาวะแท้งคุกคามรุนแรงจนทำให้สูญเสียตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ หญิงตั้งครรภ์อาจปวดท้องแปล๊บแบบเป็น ๆ หาย ๆ อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับมีอาการปวดหลัง จากนั้นอาจสังเกตเห็นเนื้อเยื่อหรือก้อนเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด หากมีอาการในลักษณะนี้เกิดขึ้น ควรไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา