ท้องลม คือ การตั้งครรภ์โดยที่ไม่มีการเจริญของตัวอ่อน และไม่สามารถพัฒนาไปเป็นทารกได้อีกต่อไป มีเพียงการเจริญของถุงการตั้งครรภ์เพียงอย่างเดียว จัดเป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์รูปแบบหนึ่งที่ทำกระตุ้นเข้าสู่ภาวะแท้ง หากพบ สัญญาณ เตือน ท้องลม เช่น ปวดท้องและอุ้งเชิงกรานเล็กน้อยถึงปานกลางติดต่อกันหลายวัน มีเลือดหรือเนื้อเยื่อไหลออกจากช่องคลอด ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุด้วยการอัลตราซาวด์ ซึ่งเป็นที่สามารถวิธียืนยันภาวะท้องลมได้แม่นยำที่สุด
[embed-health-tool-due-date]
ท้องลม คืออะไร
ท้องลม (Blighted Ovum) หรือ ภาวะไข่ฝ่อ (Anembryonic pregnancy) เป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์ที่มักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรก (เดือนที่ 1-3) ของการตั้งครรภ์ ในการตั้งครรภ์ปกติ เมื่อเกิดการปฏิสนธิ ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะไปฝังตัวที่ผนังมดลูก เซลล์ไข่จะเติบโตเป็นตัวอ่อน และตัวอ่อนจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 5-6 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ตัวอ่อนจะมีขนาดประมาณ 18 มิลลิเมตร แต่หากเกิดภาวะท้องลม ตัวอ่อนจะหยุดพัฒนาและแบ่งเซลล์ และถูกร่างกายดูดซึมไปจนเหลือเพียงถุงตั้งครรภ์เปล่า ๆ เท่านั้น ในบางกรณี การสูญเสียตัวอ่อนในครรภ์ก็อาจเกิดขึ้นก่อนที่คุณแม่จะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์
ท้องลม เกิดจากอะไร
ท้องลมเกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วฝังตัวที่ผนังมดลูก แต่ไม่พัฒนาและเติบโตไปเป็นตัวอ่อน มักเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการแบ่งเซลล์ผิดปกติ หรืออาจเกิดจากสเปิร์มหรือไข่มีคุณภาพต่ำ โครโมโซมที่ผิดปกติอาจทำให้ทารกมีพัฒนาการไม่สมบูรณ์ ร่างกายจึงเลือกที่จะไม่ดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปและหยุดการเจริญเติบโตของตัวอ่อนตั้งแต่ระยะแรก เพื่อป้องกันการคลอดทารกที่ผิดปกติออกมา
สัญญาณ เตือน ท้องลม มีอะไรบ้าง
คนท้องที่มีภาวะท้องลมในช่วงระยะแรกของการตั้งครรภ์ จะมีอาการเช่นเดียวกับการตั้งครรภ์ตามปกติ เช่น ประจำเดือนขาด มีอาการแพ้ท้อง หิวบ่อย อ่อนเพลีย หากตรวจการตั้งครรภ์ในระยะนี้ ยังสามารถพบผลเป็นบวกได้ เพราะฮอร์โมนการตั้งครรภ์อย่างเอชซีจี (hCG) ที่ผลิตจากรกยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากรกจะยังคงเจริญเติบโตต่อไปอีกระยะหนึ่งแม้จะไม่มีตัวอ่อนแล้วก็ตาม นั่นอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่ายังตั้งครรภ์ตามปกติ อย่างไรก็ตาม หากสูญเสียตัวอ่อนในครรภ์ ร่างกายจะมีการกระตุ้นให้เข้าสู่ภาวะแท้ง อาจทำให้มีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของภาวะท้องลม ดังต่อไปนี้
- ปวดท้อง
- ท้องไม่ขยายใหญ่ขึ้นตามอายุครรภ์
- มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
- มีประจำเดือนมามากกว่าปกติ (ในกรณีที่ยังไม่รู้ตัวว่าท้อง และคิดว่าเป็นเลือดประจำเดือน)
ทั้งนี้ การมีเลือดออกจากช่องคลอดในระยะแรกของการตั้งครรภ์ก็อาจเป็นอาการของภาวะอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น เลือดล้างหน้าเด็ก ภาวะท้องนอกมดลูก แต่ไม่ว่าจะเป็นอาการที่เกิดจากสาเหตุใด หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องรุนแรง เลือดออกทางช่องคลอด ก็ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
การวินิจฉัยอาการท้องลม
การยืนยันภาวะท้องลมสามารถทำได้ด้วยการอัลตราซาวด์ร่วมกับการตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่จะลดลงเมื่อสูญเสียตัวอ่อนไประยะหนึ่งแล้ว หากอัลตราซาวด์พบเพียงมดลูกที่ว่างเปล่าหรือถุงตั้งครรภ์ที่มีลักษณะคล้ายฟองสบู่ ไม่มีตัวอ่อนเจริญเติบโตอยู่ภายใน แสดงว่ามีภาวะท้องลม ร่างกายของคนท้องส่วนใหญ่จะขับเนื้อเยื่อที่หลงเหลืออยู่ในมดลูกทั้งหมดออกมาได้เองตามธรรมชาติ จึงมักไม่จำเป็นต้องขูดมดลูกเพื่อกำจัดชิ้นส่วนที่เหลือ แต่คนท้องบางคนก็อาจไม่มีการกระตุ้นเข้าสู่ภาวะแท้งอย่างสมบูรณ์ด้วยตนเองได้ จำเป็นต้องได้รับการการขูดมดลูกเพื่อเป็นการยุติการตั้งครรภ์ที่ผิดปกตินี้ หรือเป็นการรักษาภาวะการตกเลือดที่เกิดจากการแท้ง และนำชิ้นเนื้อไปตรวจหาสาเหตุเฉพาะเพิ่มเติม คุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพกายใจของคุณแม่มากที่สุด
ป้องกัน ท้องลม ได้หรือไม่
ท้องลมมักเกิดจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้จึงไม่สามารถป้องกันได้ 100% ทั้งนี้ ท้องลมอาจจะเกิดซ้ำได้ แต่ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดซ้ำในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อเทียบกับประชากรปกติ หากคู่รักที่ประสบกับภาวะท้องลมต้องการวางแผนการตั้งครรภ์ครั้งใหม่ คุณหมออาจแนะนำให้รอจนกว่าฝ่ายหญิงจะมีประจำเดือนเป็นปกติอย่างน้อย 1-3 รอบเดือนก่อนจึงเริ่มพยายามมีบุตรอีกครั้ง เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูเต็มที่และพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ครั้งใหม่
ภาวะท้องลมเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจเป็นอย่างมาก คู่รักจึงควรใส่ใจและดูแลจิตใจของกันและกัน ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อน เพื่อให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้