backup og meta

แพ้ท้องกี่เดือน อาการที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร และวิธีบรรเทาอาการ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    แพ้ท้องกี่เดือน อาการที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร และวิธีบรรเทาอาการ

    แพ้ท้องเป็นอาการที่เกิดขึ้นในขณะตั้งท้องที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงแรกเ ซึ่งคุณแม่มือใหม่หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า แพ้ท้องกี่เดือน ถึงจะหาย เพราะอาการแพ้ท้องอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น การรู้สาเหตุและวิธีจัดการกับอาการแพ้ท้องจึงอาจช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น และลดความเหนื่อยล้าในขณะตั้งท้องได้

    แพ้ท้องกี่เดือน

    แพ้ท้องเป็นอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ อ่อนล้า เมื่อยล้า และอ่อนเพลีย สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งวัน โดยมักจะเป็นมากในช่วงเช้าของวัน อาการแพ้ท้องมักเริ่มต้นประมาณ 5 หรือ 6 สัปดาห์แรกของการตั้งท้อง และอาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน จากนั้นอาการแพ้ท้องจะค่อย ๆ ดีขึ้น เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 หรือประมาณเดือนที่ 3 ของการตั้งท้อง โดยส่วนใหญ่จะเป็นมากที่ช่วงอายุครรภ์ 9-14 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม บางคนอาจมีอาการแพ้ท้องเกิดขึ้นติดต่อกันตลอดการตั้งท้องได้เช่นกัน

    อาการแพ้ท้องเป็นอย่างไร

    อาการแพ้ท้องอาจโดนกระตุ้นจากการได้กลิ่นหรือได้รับรสชาติจากอาหารบางชนิด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งท้อง ร่วมกับความเครียดและสภาวะทางจิตใจ ที่อาจทำให้ร่างกายต่อต้านกลิ่นบางชนิดจนทำให้รู้สึกเหม็น ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ซึมเศร้า และเกิดความวิตกกังวล

    อย่างไรก็ตาม หากอาการรุนแรงขึ้นหรือมีอาการต่อไปนี้ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจหาความผิดปกติ

    • ปัสสาวะเป็นสีเข้ม ปัสสาวะน้อยหรือไม่มีปัสสาวะ
    • ร่างกายขาดน้ำ อ่อนเพลียมาก
    • รู้สึกวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลมเมื่อยืนขึ้น
    • หัวใจเต้นแรงผิดปกติ

    สาเหตุของอาการแพ้ท้อง

    ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการแพ้ท้อง ปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับบฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่สูงขึ้น

    • ความผันผวนของความดันโลหิต โดยเฉพาะความดันโลหิตที่ลดลงในขณะตั้งท้อง
    • การเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตที่เปลี่ยนแปลงในขณะตั้งท้อง เนื่องจากฮอร์โมนที่แปรปรวนจึงอาจทำให้ร่างกายเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตได้น้อยลง
    • การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมีในร่างกายที่ทำให้เกิดการตั้งท้อง

    ปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ท้อง

    อาการแพ้ท้องสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงตั้งท้องทุกคน แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้อาการแพ้ท้องรุนแรงขึ้น ดังนี้

    • คนในครอบครัวเคยมีประวัติแพ้ท้องรุนแรง
    • มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ง่ายจากสาเหตุอื่นก่อนตั้งท้อง เช่น เมารถ ไมเกรน
    • มีอาการแพ้ท้องระหว่างตั้งท้องครั้งก่อน
    • กำลังตั้งท้องลูกแฝด

    วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้อง

    อาการแพ้ท้องที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน วิธีต่อไปนี้จึงอาจช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องให้ดีขึ้นได้

    • รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ บ่อย ๆ ประมาณ 5-6 มื้อ/วัน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนักๆ ซึ่งอาจช่วยป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ดและไขมันสูง แต่ควรเลือกรับประทานอาหารรสจืด เช่น ข้าว ขนมปังปิ้ง มันอบ น้ำซุป ไข่ เต้าหู้ กล้วย
    • รับประทานของว่างเพื่อสุขภาพระหว่างมื้ออาหาร เช่น โยเกิร์ต เนยถั่ว แอปเปิ้ล ถั่ว เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอตลอดทั้งวัน
    • ดื่มน้ำให้มากขึ้น โดยควรดื่มน้ำตลอดทั้งวันให้ได้ประมาณ 2-3 ลิตร/วัน
    • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีกลิ่นรุนแรง มีแสงไฟกะพริบ เพราะอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้
    • ดื่มชากับขิงขูด หรืออมลูกอมรสขิง อาจช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อาจช่วยลดความเหนื่อยล้า และความอ่อนเพลียให้กับร่างกายได้
    • จัดห้องให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เปิดพัดลม หรือออกไปข้างนอกเป็นครั้งคราวเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา