เป็นที่ทราบกันดีว่า เสียงดนตรีหรือเสียงเพลงนั้นมอบความผ่อนคลายและความเพลิดเพลินให้กับคนได้ทุกเพศทุกวัย รวมถึงสามารถช่วย พัฒนาสมองทารกในครรภ์ ได้ด้วย วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อควรรู้และแนวทางปฏิบัติมาฝากให้บรรดาคุณแม่ได้ไปลองทำตามกันแล้ว
[embed-health-tool-due-date]
การ พัฒนาสมองทารกในครรภ์
ก่อนอื่นเราอยากชวนคุณแม่มารู้จักกับส่วนต่าง ๆ ในสมองของทารกที่สำคัญกันก่อน ซึ่งประกอบไปด้วย
- ซีรีบรัม (Cerebrum) เป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสมอง ทำหน้าที่ในเรื่องของการจดจำและรู้สึก
- ซีรีเบลลัม (Cerebellum) ซึ่งอยู่ใต้ซีรีบรัม ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อให้สัมพันธ์กันกับร่างกาย
- ก้านสมอง (Brainstem) ทำหน้าที่เชื่อมระหว่าง สมองใหญ่ กับ ไขสันหลัง ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิต
- ต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) มีขนาดรูปร่างคล้ายกับถั่ว ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนควบคุมการเจริญเติบโต รวมถึงระบบการเผาผลาญอาหาร และอื่น ๆ
- ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก การนอนหลับ-ตื่น การหิว การอิ่ม
ระยะของการ พัฒนาสมองทารกในครรภ์
การพัฒนาสมองทารกในครรภ์ แบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส ดังนี้
หลังจากปฏิสนธิ ทารกในครรภ์จะเริ่มพัฒนานิวรัล เพลต (Neural plate) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อของตัวอ่อนชั้นนอกสุด จากนั้นนิวรัล เพลต จะพับขึ้นและเกิดเป็นท่อเรียกว่า นิวรัล ทูบ (Neural tube) ซึ่งจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ สมอง (อยู่ด้านหัว) และไขสันหลัง (อยู่ด้านหาง)
โดยสมองจะถูกพัฒนาเป็นสมองส่วนหน้า และก้านสมอง ขณะเดียวกันเซลล์สมองของทารกมีการแบ่งตัวและถูกสร้างขึ้นเป็นล้าน ๆ เซลล์ เพื่อผลิตกล้ามเนื้อ แขน ขา ออกมา ส่งผลให้ทารกพัฒนาเรื่องของการสร้างประสาทสัมผัสในช่วงท้ายของไตรมาสแรก
- ไตรมาสที่สอง
สมองของทารกจะควบคุมกะบังลมและการหดตัวของกล้ามเนื้อหน้าอกอย่างสม่ำเสมอเป็นการฝึกระบบหายใจ ในช่วงอายุครรภ์ 16 – 21 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มดูดกลืนน้ำคร่ำ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าลูกน้อยของคุณมีพัฒนาทางด้านการรับรสแล้ว เมื่ออายุครรภ์ได้ 18 สัปดาห์ ทารกจะสามารถตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นได้ ลูกน้อยจะเริ่มเคลื่อนไหว ดิ้น หรือเตะท้องคุณเพื่อตอบสนองในสิ่งที่เขาได้ยินหรือรู้สึก
ในช่วงปลายไตรมาสที่สองนี้ ก้านสมองของทารกพัฒนาเกือบสมบูรณ์แล้ว ทำให้ทารกสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดังจากภายนอกท้องของแม่ และสามารถหันหาเสียงของแม่ได้
- ไตรมาสที่สาม
สมองของทารกจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เซลล์ประสาทจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว และยิ่งไปกว่านั้น สมองของลูกน้อยที่เคยมีพื้นผิวเรียบจะเริ่มปรากฏรอยหยักให้เห็น เหมือนรูปร่างสมองที่เห็นกันทั่วไป ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณที่บอกถึงความเฉลียวฉลาดของทารก ในขณะเดียวกัน ซีรีบลัมในสมองมีการพัฒนาไปพร้อมกันช่วยให้กระตุ้นในเรื่องของการจดจำ อารมณ์ ความรู้สึก
การพัฒนาของสมองทารกในครรภ์ยังขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ของคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร หลักโภชนาการ หรือการใช้ทักษะอื่น ๆ เสริม เช่น การเปิดเพลงในด้านภาษาให้ลูกน้อยได้จดจำ การพูดคุยให้รู้ถึงเสียงของพ่อและแม่ ตั้งแต่อยู่ในท้อง
เสียงเพลง มีผลดีต่อสมองของทารกในครรภ์อย่างไร
การเปิดเสียงดนตรีให้ลูกน้อยฟังเป็นการช่วยพัฒนาสมองทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และยังได้ผลดีเหล่านี้ตามมา
- ทารกจะรู้สึกผ่อนคลาย มีสมาธิ สงบขึ้น
- สามารถเพิ่มพัฒนาการด้านความจำ และลำดับความคิดทางสมองได้เป็นอย่างระเบียบ
- กระตุ้นการพัฒนาทางการได้ยินให้มีประสิทธิภาพ
- รับรู้ถึงสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่น เสียงของคุณพ่อและคุณแม่
นักวิจัยท่านหนึ่งสังเกตว่า หลังจากลูกน้อยออกมาลืมตาดูโลกแล้ว หากเปิดเพลงซ้ำกับที่เคยเปิดตอนเขายังอยู่ในครรภ์ เขาจะแสดงถึงกิริยาคล้ายคลึงกับตอนยังอยู่ในท้องของแม่ เช่น อาการนิ่งสงบ แจ่มใส หลับง่าย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการพัฒนาของสมองที่มีต่อระบบความจำด้วย เสียงเพลง
เสียงเพลง แบบไหนที่ควรเปิดให้ลูกน้อยในครรภ์ฟัง
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์นิยมเปิดเพลงคลาสสิกหรือเพลงกล่อมเด็ก เพราะเสียงเพลงเหล่านี้มีความอ่อนโยน นุ่มนวล สามารถกล่อมลูกน้อยให้เคลิ้มหลับไปกับเสียงเพลงได้ ไม่ดิ้นรุนแรงจนรบกวนคุณแม่ในขณะการพักผ่อน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กเชื่อว่า การให้ทารกในครรภ์ฟังเสียงเพลงแนวคลาสสิก ยังสามารถกระตุ้นสมองของเขาในการเพิ่มไอคิว (IQ) และเสริมสร้างทางด้านความคิดสร้างสรรค์
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ทารกในครรภ์จะห้ามฟังเพลงประเภทอื่น คุณแม่ยังสามารถให้เขาฟังเพลงที่คุณแม่ชอบได้ตามปกติ เพียงแต่ลดระดับเสียงให้อยู่ในระดับ 50-60 เดซิเบล หรือเทียบเท่ากับระดับเสียงพูดแบบปกติ เพื่อป้องกันการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงที่ออกมากระทบกับทารกในครรภ์
เคล็ดลับเพิ่มเติม สำหรับการดูแลทารกในครรภ์
- คุณแม่ควรกำจัดความเครียดหรือลดความวิตกกังวล เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ สามารถส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบประสาทในสมองของเด็กทารกได้
- ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เลือกอาหารที่สร้างเสริมสุขภาพและโภชนาการ เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่
- หลีกเลี่ยงสารเคมีหรือมลภาวะเป็นพิษ เช่น การย้อมผม สูดดมควันรถ
- ออกกำลังกายอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรออกกำลังกายผาดโผนหรือหนักจนเกินไป เพราะอาจทำให้คุณเกิดภาวะแท้งบุตรได้
- พูดคุยกับลูกน้อยของคุณอยู่บ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นความจำ
- เสริมสร้างทักษะไอคิว (IQ) ด้วยการเปิดเพลงช้า ๆ สบาย ๆ
- คุณแม่สายปาร์ตี้ ควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่