backup og meta

รู้เพศตอนกี่เดือน อัลตราซาวด์ตอนไหนแม่นยำที่สุด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 05/06/2023

    รู้เพศตอนกี่เดือน อัลตราซาวด์ตอนไหนแม่นยำที่สุด

    การได้ทราบเพศลูก ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญที่คุณพ่อและคุณแม่หลายคนตั้งตารอ และอาจสงสัยว่าจะสามารถ รู้เพศตอนกี่เดือน ตามปกติแล้วอวัยวะเพศของทารกจะพัฒนาในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 8 (เดือนที่ 2) ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป โดยบุคลากรทางการแพทย์จะตรวจเพศของทารกได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 18-21 (เดือนที่ 4-5) ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่อวัยวะเพศภายนอกของเด็กผู้ชายจะยื่นยาว ทำให้เริ่มแยกได้แล้วว่าทารกเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย

    อวัยวะเพศของทารกพัฒนาเมื่อไหร่

    ตามปกติแล้ว เพศของทารกในครรภ์จะถูกกำหนดตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์ และเมื่อดำเนินอายุครรภ์มาถึงสัปดาห์ที่ 8-9 ของการตั้งครรภ์ อวัยวะเพศของทารกจะเริ่มพัฒนาไปเป็นคลิตอริสของทารกเพศหญิงหรือองคชาตของทารกเพศชาย และจะพัฒนาเป็นอวัยวะเพศที่สมบูรณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ 17-18 ของการตั้งครรภ์

    ในช่วงสัปดาห์ที่ 8-22 ของการตั้งครรภ์ คลิตอริสของทารกเพศหญิงจะขยายตัวตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น ส่วนองคชาตของทารกเพศชายก็จะถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) และอาจยาวขึ้นกว่าในตอนแรกถึง 5 เท่า

    รู้เพศตอนกี่เดือน

    การอัลตราซาวด์เพื่อตรวจเพศของทารกสามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ในช่วงนี้ อวัยวะเพศของทารกอาจยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่และยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าทารกเป็นเพศใด ดังนั้น เพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำ บุคลากรทางการแพทย์จึงมักระบุเพศของทารกให้คุณพ่อคุณแม่ทราบในช่วงสัปดาห์ที่ 18-21 (เดือนที่ 4-5) ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะเพศของทารกในครรภ์พัฒนาอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยคุณหมอจะอัลตราซาวด์หน้าท้อง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความเสี่ยงต่ำและไม่มีผลข้างเคียงต่อคุณแม่และทารก

    โดยทั่วไป คุณหมอจะพิจารณาว่าทารกในครรภ์เป็นเพศใดด้วยการมองหาอวัยวะเพศชายหรือองคชาตขณะทำอัลตราซาวด์ ‌ทั้งนี้ หากทารกนอนอยู่ในท่าที่มองไม่เห็นอวัยวะเพศที่ยื่นออกมาอย่างชัดเจน ก็อาจยังไม่สามารถระบุเพศได้อย่างแน่ชัด และอาจต้องอัลตราซาวด์เพื่อดูเพศทารกอีกครั้งในการตรวจครรภ์ครั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม การตรวจเพศทารกในครรภ์ด้วยการอัลตราซาวด์ก็อาจมีการระบุเพศผิดบ้าง เนื่องจากเข้าใจผิดว่าสายสะดือเป็นอวัยวะเพศชาย

    วิธีตรวจเพศของทารก

    โดยทั่วไป คุณพ่อคุณแม่จะทราบเพศของทารกในครรภ์ได้เมื่อเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์อย่างละเอียด (Anomaly Scan) ซึ่งคุณหมอมักแนะนำให้ตรวจเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 18-21 ของการตั้งครรภ์ โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 45 นาที

    การตรวจอัลตราซาวด์โดยละเอียดนี้ไม่เพียงทำให้ทราบเพศของทารกในครรภ์ แต่เป็นขั้นตอนสำคัญที่ใช้เพื่อตรวจการเจริญเติบโต ขนาดตัวของทารก ตำแหน่งและความสมบูรณ์ของรก ปริมาณน้ำคร่ำ รวมไปถึงตรวจหาความผิดปกติหรือความพิการของทารกในครรภ์ เช่น โรคปากแหว่งเพดานโหว่ ความผิดปกติของโครงสร้างกระโหลกศีรษะ กระดูก หัวใจ สมอง ไขสันหลัง ใบหน้า ไต ช่องท้อง

    นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถทราบเพศของทารกได้ เมื่อเข้ารับการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น

    • การตัดชิ้นเนื้อรก (Chorionic villus sampling หรือ CVS)

    มักตรวจเมื่ออายุครรภ์ 10-13 สัปดาห์ โดยคุณหมอจะเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากรกไปตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมและปัญหาทางพันธุกรรมอื่น ๆ สำหรับคู่พ่อแม่ที่มีความเสี่ยงบางประการ เช่น คุณแม่อายุมากกว่า 35 ปีเมื่อถึงวันกำหนดคลอด เคยมีบุตรที่มีประวัติเป็นโรคทางพันธุกรรม ตรวจพบความผิดปกติในการอัลตราซาวด์ที่ผ่านมา

    • การตรวจเอ็นไอพีที (Non invasive prenatal testing หรือ NIPT)

    เป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดคุณแม่ มักตรวจตั้งแต่สัปดาห์ที่ 10 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป โดยคุณหมอจะเจาะเลือดและนำตัวอย่างเลือดไปวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่ไหลเวียนในเลือดของคุณแม่ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงสุขภาพของทารกในครรภ์ ความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ความผิดปกติของโครโมโซมอื่น ๆ และวิเคราะห์เพศของทารกในครรภ์ได้

    • การเจาะน้ำคร่ำ (Amniocentesis)

    เป็นการนำตัวอย่างน้ำคร่ำไปตรวจหาภาวะความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือโครโมโซม เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) เอ็ดเวิร์ด ซินโดรม (Edward’s Syndrome) พาทัวซินโดรม (Patau Syndrome) ตลอดจนโรคทางพันธุกรรมที่รุนแรง เช่น โรคธาลัสซีเมีย โดยจะตรวจเมื่ออายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์  ในกรณีที่คุณหมอดูผลตรวจครรภ์และสงสัยว่าทารกมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าว ทั้งยังทำให้ทราบเพศของทารกได้อีกด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 05/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา