backup og meta

ท้อง 2 เดือน การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่และทารกในครรภ์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 22/03/2022

    ท้อง 2 เดือน การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่และทารกในครรภ์

    การตั้งท้อง 2 เดือน (5-8 สัปดาห์) ถือเป็นช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรก อาจไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ จนอาจดูแลครรภ์ไม่เหมาะสมและส่งผลกระทบต่อตัวเองและทารกได้ การทราบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อตั้ง ท้อง 2 เดือน เช่น คลื่นไส้หรือแพ้ท้อง คัดเต้านม จึงอาจช่วยให้สามารถดูแลตัวเองและทารกในครรภ์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหากสงสัยว่าตั้งท้องหรือไม่ สามารถทดสอบการตั้งครรภ์เบื้องต้นได้ด้วยชุดตรวจครรภ์ที่หาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป หรือเข้ารับการตรวจครรภ์โดยคุณหมอ เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำขึ้น

    การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ท้อง 2 เดือน

    ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก คุณแม่ตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและอารมณ์ต่างกัน ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) หรือฮอร์โมนตั้งครรภ์

    การเปลี่ยนแปลงที่อาจพบได้ในคุณแม่ตั้งท้อง 2 เดือน มีดังนี้

    • มีเลือดออกทางช่องคลอด เนื่องจากไข่กับอสุจิปฏิสนธิกันและกลายเป็นตัวอ่อนฝังอยู่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก บางครั้งอาจส่งผลให้ปวดท้อง ปวดเกร็งท้องน้อยด้วย อย่างไรก็ตาม หากมีเลือดออกมาก และปวดท้องรุนแรง ควรเข้าพบคุณหมอทันที คุณหมอจะได้ตรวจวินิจฉัยและหาสาเหตุ ว่าเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่นหรือไม่ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก การแท้งบุตร
    • ตกขาว การมีตกขาวในช่วงตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องปกติ เว้นแต่ตกขาวจะส่งกลิ่นเหม็น และเปลี่ยนสีจากสีขาวใสเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในช่องคลอด ที่ควรเข้าพบคุณหมอทันที
    • คัดเต้านม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเมื่อตั้งครรภ์ เช่น มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มากขึ้น อาจกระตุ้นกระบวนการผลิตน้ำนมและการทำงานของท่อน้ำนม เพื่อให้คุณแม่พร้อมให้นมทารกเมื่อคลอด ซึ่งอาจส่งผลให้รู้สึกคัดตึงเต้านม เต้านมขยาย เนื่องจากฮอร์โมน และเจ็บเต้านมตลอดช่วงไตรมาสแรก เพื่อบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกควรเปลี่ยนขนาดเสื้อชั้นในให้พอดี
    • เหนื่อยล้า การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อาจส่งผลให้ร่างกายของคุณแม่ทำงานหนักขึ้น นำไปสู่อาการเมื่อยล้า เหนื่อยง่าย ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม การพักผ่อนให้เพียงพอ หรือการงีบหลับระหว่างวันเมื่อรู้สึกอ่อนเพลีย อาจช่วยเพิ่มพลังงาน และบรรเทาอาการได้
    • แพ้ท้อง เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดในคุณแม่ตั้งครรภ์ มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้องที่สามารถทำได้ คือ การรับประทานอาหารทีละน้อย และงดการทานอาหารมัน หากคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ควรจิบน้ำเปล่าหรือน้ำผสมผงเกลือแร่ร่วมด้วยเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หรืออาจจิบเป็นน้ำผลไม้เพื่อให้คุณแม่รู้สึกสดชื่นขึ้น แต่ควรเลี่ยงน้ำหวานในคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานก่อนตั้งครรภ์
    • อารมณ์แปรปรวน ความเหนื่อยล้าที่สะสมอาจทำให้อารมณ์ของคุณแม่เปลี่ยนแปลง บางคนอาจร้องไห้ แต่แค่ไม่กี่นาทีก็กลับเข้าสู่อารมณ์ปกติ การพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว การทำกิจกรรมผ่อนคลาย อาจช่วยรับมือกับอาการอารมณ์แปรปรวนได้
    • ท้องผูก ในระหว่างตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มขึ้นสูง อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ไม่ค่อยบีบรัดตัว จึงอาจท้องผูกได้ คุณแม่จึงควรดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ให้มากขึ้น
    • น้ำหนักขึ้น ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก คุณแม่อาจมีน้ำหนักขึ้น 1-2 กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะอาจบ่งบอกถึงการเจริญเติบโตทารกในครรภ์ แต่หากคุณหมอสังเกตว่าคุณแม่มีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป อาจวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกควรรับพลังงานจากอาหารเพิ่มขึ้นจากปริมาณปกติวันละ 150 กิโลแคลอรี โดยเน้นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นม

    การเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์ 2 เดือน

    ทารกในครรภ์ 2 เดือน (5-8 สัปดาห์) อาจมีอวัยวะบนหน้าที่ชัดเจนขึ้นกว่าช่วงเดือนแรก จะมีรอยเว้าเล็ก ๆ ที่ศีรษะทั้งสองข้าง ซึ่งจะพัฒนาเป็นหูต่อไป เริ่มเห็นส่วนที่จะพัฒนาไปเป็นตา ปาก จมูก แขน และขาชัดเจนขึ้น ส่วนนิ้วมือและนิ้วเท้ายังมีลักษณะคล้ายพังผืดลำตัวยาวประมาณ 2.54 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 9.45 กรัม

    อีกทั้ง ระบบการทำงานที่สำคัญของทารกในครรภ์ ได้แก่ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบย่อยอาหาร และระบบปัสสาวะยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และกระดูกเริ่มแข็งแรงขึ้น ถึงแม้ทารกในครรภ์จะเริ่มเคลื่อนไหว แต่คุณแม่ก็อาจจะยังไม่รู้สึกอะไร

    วิธีดูแลสุขภาพคุณแม่ท้อง 2 เดือน

    วิธีดูแลสุขภาพของคุณแม่ช่วงตั้งท้อง 2 เดือนให้แข็งแรงและส่งเสริมให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่สมบูรณ์ อาจเริ่มจาก

    1. ตรวจครรภ์ตามที่คุณหมอกำหนด

    หากมีอาการแพ้ท้อง อาเจียน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ เป็นต้น ควรแจ้งให้คุณหมอทราบ คุณหมอจะได้แนะนำวิธีบรรเทาอาการ หรือจัดยาที่เหมาะสมให้คุณแม่ตั้งครรภ์

    2. รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ

    อาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ได้แก่ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ธัญพืชไม่ขัดสี ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะสารอาหารที่สำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้

    • ธาตุเหล็ก เพราะอาจช่วยสร้างฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ที่เป็นโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย เพื่อให้ทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนเพียงพอ คุณแม่ควรได้รับธาตุเหล็กประมาณวันละ 30 มิลลิกรัม ซึ่งพบได้มากในอาหาร เช่น เนื้อแดง เนื้อสัตว์ปีก แซลมอน เต้าหู้ ไข่ ธัญพืชเต็มเมล็ด พืชตระกูลถั่ว ผลไม้ ผักใบเขียว ซีเรียลอาหารเช้า
    • โฟเลต หรือ กรดโฟลิก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้สตรีที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงตั้งครรภ์รับประทานอาหารเสริมกรดโฟลิกประมาณ 400 ไมโครกรัมเป็นประจำทุกวัน จากการศึกษาพบว่าการรับประทานกรดโฟลิกในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ไตรมาสแรก อาจช่วยลดความเสี่ยงที่พัฒนาการของท่อประสาทในสมองและไขสันหลังของทารกในครรภ์จะผิดปกติ
    • แคลเซียม สตรีตั้งครรภ์หรือผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป ควรรับประทานแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เช่น ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ ชีสที่ผ่านการฆ่าเชื้อ โยเกิร์ต น้ำส้ม นมถั่วหลือง ผักคะน้า ผักโขม บร็อคโคลี่ เต้าหู้ พืชตระกูลถั่ว อัลมอนด์

    3. ดื่มน้ำให้มาก ๆ

    ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ และลดความเสี่ยงในการเกิดอาการท้องผูก

    4. พักผ่อนให้เพียงพอ

    การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อาจส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์เหนื่อยง่ายกว่าปกติ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงนี้อายุครรภ์ยังน้อย มดลูกจะยังขนาดไม่โตมาก ดังนั้นคุณแม่สามารถนอนหงายหรือตะแคงก็ได้ เพื่อความสบายและการพักผ่อนที่เพียงพอ

    5. การออกกำลังกาย

    กระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์แห่งสหรัฐอเมริกา (HHS) แนะนำว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิคในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น การเดิน โยคะ พิลาทิส ว่ายน้ำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาทีเพื่อป้องกันน้ำหนักเกิน ปรับความสมดุลของร่างกายและอารมณ์ เพิ่มพลังงาน ส่งเสริมการนอนหลับ ลดอาการปวดหลัง และช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีหลังคลอด และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกสูง เช่น การวิ่ง การกระโดดเชือก เทนนิส แบดมินตัน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่สามารถส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้

    6. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน

    เนื่องจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายและระบบประสาทของทารกในครรภ์ และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เกิน 1-2 แก้วต่อวัน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งบุตร หรือหากเป็นไปได้ ควรหยุดดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้จะดีต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์มากกว่า

    7. การสูบบุหรี่

    บุหรี่มีนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ มีปัญหาด้านพฤติกรรมและการเรียนรู้ เสี่ยงเป็นโรคหอบหืดในเด็ก ทั้งยังอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด หรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 22/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา