backup og meta

ท้อง 8 สัปดาห์ คุณแม่และทารกในครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ท้อง 8 สัปดาห์ คุณแม่และทารกในครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

คุณแม่ตั้งท้อง 8 สัปดาห์ อยู่ในการตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสแรก ซึ่งคุณแม่อาจเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและอารมณ์ เช่น เต้านมคัด ปวดท้องน้อย ตกขาว หงุดหงิดง่าย เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เนื่องจากมีฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (HCG) เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ควรดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้ครบ 5 หมู่ และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตอย่างสมวัย

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ท้อง 8 สัปดาห์

คุณแม่ท้อง 8 สัปดาห์ อาจมีการเปลี่ยนแปลง ดังต่อไปนี้

  • เลือดออกทางช่องคลอด มักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ป็นภาวะไม่ปกติที่สามารถเกิดได้ในการตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสแรก ซึ่งอาจเป็นภาวะแท้งคุกคาม (Threatened abortion) คุณแม่ควรได้รับการพักผ่อนมากขึ้น เลี่ยงการยืน เดิน หรือนั่งนานๆ และถ้ามีเลือดออกจากช่องคลอดควรงดมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ แต่หากสังเกตว่ามีเลือดออกปริมาณมาก ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนการแท้งบุตร หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • แพ้ท้อง คุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น อีกทั้งความชอบในการรับประทานอาหารก็อาจเปลี่ยนไป มีความไวต่อกลิ่นมากขึ้น ส่งผลให้อาจรู้สึกเหม็นสิ่งรอบตัวและอาหารต่าง ๆ แต่บางคนก็อาจไม่มีอาการใด ๆ เลยเช่นกัน
  • เต้านมคัด เต้านมขยาย การตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมผลิตน้ำนม ส่งผลให้มีน้ำนมสะสมในเต้านม จนรู้สึกคัดเต้า เจ็บเต้า และเต้านมขยายใหญ่ขึ้น
  • อ่อนเพลีย ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอาจเพิ่มขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ส่งผลให้อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย พร้อมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น แพ้ท้อง อาเจียน ที่อาจทำให้คุณแม่อ่อนเพลียและเหนื่อยล้าได้ง่าย
  • ปัสสาวะบ่อย การตั้งครรภ์กระตุ้นการทำงานของไตและเพิ่มระดับน้ำในร่างกาย อีกทั้งมดลูกที่เริ่มขยายตัวจากการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ จนอาจกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้คุณแม่ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
  • ท้องผูก ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นสูง อาจทำให้กล้ามเนื้อลำไส้ชะลอการเคลื่อนไหว ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก
  • คัดจมูก ร่างกายของคุณแม่อาจผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นการสร้างเลือดไปหล่อเลี้ยงทารก จึงอาจทำให้มีอาการคัดจมูกและน้ำมูกไหลได้

พัฒนาการและการเจริญเติบโตทารกในท้อง 8 สัปดาห์

ทารกในครรภ์ 8 สัปดาห์ อาจมีขนาดเท่ากับเมล็ดกาแฟ เริ่มยืดศีรษะ ลำคอ และลำตัวให้ตรง จากเดิมที่งอตัวมา 7 สัปดาห์ เริ่มมีการสร้างระบบย่อยอาหาร ไขสันหลัง สมอง เนื้อเยื่อ ท่อประสาท และเส้นประสาทอื่น ๆ รวมถึงอาจสร้างเปลือกตา หู จมูก และริมฝีปาก นิ้วมือและนิ้วเท้าติดกันเป็นพังผืด และเริ่มมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น แต่คุณแม่อาจยังไม่สามารถรับรู้ได้ว่าลูกดิ้นเนื่องจากทารกยังมีขนาดเล็ก

การดูแลตัวเองระหว่างท้อง 8 สัปดาห์

การดูแลสุขภาพของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วย แคลเซียม โฟเลต และเหล็ก เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อแดง เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก เพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้สามารถส่งออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกายของคุณแม่และทารก ลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาเกี่ยวกับท่อประสาทของทารกในครรภ์
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง เช่น ชีส ไข่ดิบ เนื้อสัตว์ดิบ อาหารแปรรูป รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกพัฒนาการล่าช้า พิการแต่กำเนิด และคลอดก่อนกำหนด
  • ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายระดับเบา ด้วยการเดิน ว่ายน้ำ หรือเล่นโยคะ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรพักผ่อนให้เพียงพอ โดยอาจปรับท่าทางการนอนให้สบายตัว คุณหมออาจแนะนำให้นอนท่าตะแคงซ้ายเพื่อลดการกดทับหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดี หากนอนหงายควรใช้หมอนรองหลัง ระหว่างขา และใต้ท้อง เพื่อช่วยลดแรงกดทับ
  • งดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่มีสารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกได้รับออกซิเจนลดลง เสี่ยงต่อการมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตล่าช้า พิการตั้งแต่กำเนิด น้ำหนักแรกเกิดน้อย มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ และแท้งบุตร
  • ฉีดวัคซีน คุณแม่ควรฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองและทารกในครรภ์ ป้องกันการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงการเจ็บป่วย อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับวัคซีนป้องกันโรคใด ๆ
  • ไม่ซื้อยา อาหารเสริม สมุนไพรมารับประทานเอง หากคุณแม่มีอาการเจ็บป่วย หรือมีความประสงค์รับประทานสมุนไพร อาหารเสริม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนซื้อยามารับประทานเอง เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์
  • ตรวจสุขภาพ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อตรวจคัดกรองโรค และตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคโลหิตจาง โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง ภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกพิการแต่กำเนิด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

You and your baby at 8 weeks pregnant. https://www.nhs.uk/pregnancy/week-by-week/1-to-12/8-weeks/. Accessed March 14, 2022    

Your Pregnancy Week by Week: Weeks 5-8. https://www.webmd.com/baby/guide/your-pregnancy-week-by-week-weeks-5-8. Accessed March 14, 2022    

First Trimester of Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/guide/first-trimester-of-pregnancy. Accessed March 14, 2022    

Symptoms of pregnancy: What happens first. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/getting-pregnant/in-depth/symptoms-of-pregnancy/art-20043853. Accessed March 14, 2022    

During Pregnancy. https://www.cdc.gov/pregnancy/during.html. Accessed March 14, 2022    

Fetal development: The 1st trimester. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/prenatal-care/art-20045302. Accessed March 14, 2022    

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/04/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการคนท้องแรกๆ กับวิธีการสังเกต

คนท้อง ท้องผูก สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา