backup og meta

ลูก หลุด 1 เดือน อาการ สาเหตุ และการดูแลตัวเอง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    ลูก หลุด 1 เดือน อาการ สาเหตุ และการดูแลตัวเอง

    ลูก หลุด 1 เดือน หรือการ แท้งลูก อาจเกิดขึ้นจากปัญหาการเจริญพันธุ์ ปัญหาทางโครโมโซม ปัญหาจากฮอร์โมน หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ของคุณแม่ เช่น การทำงานหนัก การออกกำลังกายหนัก การยกของหนัก ความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการหดตัวของมดลูกอย่างรุนแรง ปวดท้อง ปวดหลังรุนแรง มีเลือดและเนื้อเยื่อออกมาทางช่องคลอด ซึ่งควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อตรวจความผิดปกติของการตั้งครรภ์

    ลูก หลุด 1 เดือน มีอาการอย่างไร

    ลูก หลุด 1 เดือนอาจสังเกตอาการที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้

    • ตะคริว และการหดตัวของมดลูกอย่างรุนแรง
    • ปวดท้อง ปวดอุ้งเชิงกราน และหลังส่วนล่างอย่างรุนแรง
    • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้ามาก
    • มีเลือดออกและอาจมีเนื้อเยื่อสีขาวไหลออกมาทางช่องคลอดพร้อมกับลิ่มเลือด

    สำหรับบางคน ลูก หลุด 1 เดือนอาจไม่สังเกตเห็นสัญญาณแท้งลูกที่เกิดขึ้น แต่อาจพบว่าไม่มีอาการแพ้ท้องหรืออาการของการตั้งครรภ์อื่น ๆ เช่น คัดตึงเต้านม คลื่นไส้อาเจียน จึงควรเข้าพบคุณหมอเพื่ออัลตราซาวด์ดูทารกในครรภ์ตามนัดหมายของคุณหมอ

    สาเหตุของลูก หลุด 1 เดือน

    ลูก หลุด 1 เดือน อาจมีสาเหตุมาจากตัวอ่อนพัฒนาอย่างไม่เหมาะสม เนื่องจากจำนวนโครโมโซม (Chromosome) ซึ่งเป็นหน่วยพันธุกรรมของเซลล์ในการสร้างตัวอ่อนมีความผิดปกติ โดยในระหว่างการปฏิสนธิของไข่และอสุจิ โครโมโซมทั้ง  2 ชุดจะรวมตัวกัน หากตัวใดตัวหนึ่งมีโครโมโซมมากหรือน้อยกว่าปกติ หรือมีโครงสร้างที่ผิดปกติ ก็อาจส่งผลให้ตัวอ่อนมีโครโมโซมที่ผิดปกติและอาจนำไปสู่ปัญหาลูกหลุดได้เช่นกัน

    ลูกหลุดอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

    • การทำกิจกรรมบางอย่างที่หนักเกินไปหรือพฤติกรรมเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ เช่น การทำงาน การออกกำลังกาย ความเครียด การทะเลาะวิวาท การมีเพศสัมพันธ์ การใช้ยาคุมกำเนิดก่อนตั้งครรภ์ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์
    • อายุ ผู้หญิงที่อายุมาก โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อาจเสี่ยงมีโครโมโซมผิดปกติที่ส่งผลทำให้ลูกหลุดได้มากกว่าผู้หญิงที่อายุน้อย
    • การติดเชื้อและโรคบางชนิด เช่น โรคแพ้ภูมิต้านตนเอง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคไตเรื้อรัง โรคต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวานลุกลาม ภาวะทุพโภชนาการอย่างรุนแรง การติดเชื้อสเตรป โทคอกคัสกลุ่มบี (Group B Streptococcus หรือ GBS)
    • ความผิดปกติของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
    • การฝังตัวของไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิในเยื่อบุโพรงมดลูกอย่างไม่เหมาะสมและความผิดปกติของมดลูก
    • ปากมดลูกที่ผิดปกติ ปากมดลูกอาจเริ่มขยายและเปิดเร็วเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์ โดยไม่มีอาการเจ็บครรภ์
    • การรักษาและการใช้ยาบางชนิด เช่น การฉายรังสี ยารักษาสิวอโสเตรติโนอิน (Isotretinoin)

    คุณแม่ที่มีปัญหาลูกหลุดอาจไม่จำเป็นจะต้องมีปัญหาการเจริญพันธุ์เสมอไป เนื่องจากอาจมีสาเหตุมาจากการกระทบกระเทือนหรือพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ คุณแม่ที่แท้งบุตรอาจไม่ต้องเข้ารับการรักษาเพิ่มเติม หากเนื้อเยื่อภายในมดลูกหลุดออกมาเองจนหมด แต่หากคุณหมอพบว่ายังคงมีเนื้อเยื่อค้างอยู่ในมดลูก คุณหมออาจต้องทำการรักษาด้วยการขูดมดลูก เพื่อเอาเนื้อเยื่อที่เหลืออยู่ออก หรืออาจให้ยารับประทานสำหรับการขับเอาเนื้อเยื่อที่ค้างอยู่ออกโดยไม่ต้องผ่าตัด

    ตั้งครรภ์ได้เมื่อไหร่หลังจากลูก หลุด 1 เดือน

    ผู้หญิงอาจตั้งครรภ์ได้อีกครั้งหลังจากลูกหลุด แต่ควรรอเวลาอย่างน้อยประมาณ 3 เดือน โดยนับจากรอบเดือนครั้งล่าสุด หรืออาจปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป เพื่อป้องกันปัญหาลูกหลุด ซึ่งอาจมีโอกาสสูงที่การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจะสมบูรณ์ แม้ว่าจะเคยผ่านการแท้งบุตรมาก่อน เนื่องจาก การแท้งบุตรไม่ได้หมายถึงปัญหาการเจริญพันธุ์เสมอไป แต่อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงบางคนอาจมีปัญหาลูกหลุดเกิดขึ้นซ้ำอีก 2-3 ครั้ง หากมีปัญหาดังกล่าวควรหยุดพยายามตั้งครรภ์เอง และเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพการเจริญพันธุ์และหาแนวทางการรักษา เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันลูกหลุด

    ลูกหลุดที่เกิดจากปัญหาการเจริญพันธุ์ต้องหาสาเหตุที่แน่ชัด เนื่องจากสาเหตุบางประการสามารถป้องกันการเกิดซ้ำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงอาจช่วยป้องกันปัญหาลูกหลุดที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ดังนี้

    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่นและความแข็งแรง เช่น การเต้นแอโรบิก ว่ายน้ำ เดินเร็ว
    • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับการบำรุงครรภ์ เช่น อาหารโปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี เมล็ดพืช ผักและผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง รับประทานอาหารไขมันต่ำและอุดมไปด้วยไขมันดีอย่างอะโวคาโด ปลาทะเล น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน นอกจากนี้ ผู้หญิงที่กำลังเตรียมการตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ควรรับประทานโฟเลต (Folate) เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และป้องกันภาวะพิการแต่กำเนิดของทารก
    • รักษาน้ำหนักในระหว่างตั้งครรภ์ให้เหมาะสม ทั้งนี้ น้ำหนักของแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI เดิมก่อนตั้งครรภ์ โดยค่า BMI ก่อนตั้งครรภ์ที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 18.5-22.90 และน้ำหนักควรเพิ่มขึ้น 12.5-18 กิโลกรัม ตลอดการตั้งครรภ์
    • ลดปริมาณเครื่องดื่มและอาหารที่มีคาเฟอีน ควรดื่มไม่เกินวันละ 200 มิลลิกรัม/วัน หรือควรหลีกเลี่ยงและหันไปดื่มน้ำผลไม้ นม น้ำเปล่า เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้น
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา