การจะทราบว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์หรือไม่นั้น นอกเหนือจากการตรวจครรภ์แล้ว คุณแม่ก็อาจสามารถสังเกตอาการคนท้องได้ อย่างไรก็ตาม อาการคนท้องสัปดาห์แรก อาจสังเกตได้ยากเนื่องจากร่างกายยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้ชัด แต่อาการคนท้องสัปดาห์แรกที่มักจะพบบ่อย อาจมีทั้งอาการประจำเดือนขาด เลือดออกกะปริดกะปรอย หรือที่เรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก และอาการอ่อนเพลียเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคนท้อง
ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากมาย โดยเฉพาะอาการแพ้ท้อง ที่มักจะเกิดขึ้นได้ในช่วงอายุครรภ์ 2 เดือน เมื่อเกิดอาการแพ้ท้อง อาจทำให้ร่างกายของคุณแม่ไม่อยากอาหาร จนกังวลว่าจะกระทบต่อทารกในครรภ์ แต่แท้ที่จริงแล้ว หากคุณแม่น้ำหนักตัวลดลงในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ จะยังไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
อาการคนท้องสัปดาห์แรก
สำหรับอาการคนท้องที่พบได้บ่อยตั้งแต่สัปดาห์แรก ได้แก่
- ขาดประจำเดือน
เนื่องจากการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว เกิดภายในมดลูก ทำให้ร่างกายของคนท้องจะผลิตฮอร์โมน Human Chorionic Gonagotropin (hCG) ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ฮอร์โมน hCG ส่งผลให้รังไข่หยุดการตกไข่ชั่วคราว ดังนั้น ระหว่างที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์จะไม่มีประจำเดือน
- เลือดออกขณะตั้งครรภ์
แม้ว่าร่างกายของคนท้องจะไม่มีประจำเดือน แต่อาจเกิดเป็นเลือดออกทางช่องคลอดได้ ซึ่งเป็นอาการคนท้องสัปดาห์แรกไปจนถึงสัปดาห์ที่ 4 ซึ่งเกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อน เรียกว่า ระยะบลาสโตซิสท์ ที่เป็นกระบวนการสร้างอวัยวะของตัวอ่อน เกิดจากหลอดเลือดเล็ก ๆ ในโพรงมดลูกแตกออก เพราะการฝังตัวของตัวอ่อน ซึ่งเลือดที่ออกมาทางช่องคลอดจะมีสีจาง ๆ เลือดออกมาปริมาณน้อย ไม่มีอาการปวดท้อง
คนไทยโบราณจะเรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก ซึ่งจะเกิดในวันที่ใกล้เคียงกับประจำเดือนในรอบถัดไป อาจเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์บางคน และไม่มีผลกระทบกับทารกในครรภ์ หากยังไม่ได้ตรวจการตั้งครรภ์ แล้วเกิดสงสัยว่าเป็นเลือดประจำเดือนหรือเลือดล้างหน้าเด็ก ให้ลองตรวจสอบการตั้งครรภ์ด้วยอุปกรณ์ตรวจระดับฮอร์โมน hCG
- เกิดอาการอ่อนเพลีย
การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะอาการคนท้องสัปดาห์แรก ร่างกายอาจเหนื่อยล้ามากเป็นพิเศษ เพราะหลอดเลือดเกิดการหย่อนตัว จนระดับความดันโลหิตต่ำลงเป็นระยะ ๆ อีกทั้งมดลูกต้องการเลือดในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดลง ตั้งแต่สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ จึงต้องระวังในการเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ควรลุกเร็ว ขยับตัวไว เพราะอาจเกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้ นอกจากนี้ หากพบอาการอื่นร่วมกับอาการอ่อนเพลีย เช่น วิงเวียนศีรษะหรือหายใจไม่ทัน ควรปรึกษาแพทย์ อาจเป็นสาเหตุของโรคโลหิตจางได้
- เป็นตะคริวได้บ่อย
ไม่ใช่แค่อาการอ่อนเพลียเท่านั้น การเพิ่มขึ้นอย่างมากของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ยังทำให้คนท้องเกิดตะคริวได้ง่าย นอกจากอาการตะคริวแล้ว ช่วงที่ตั้งครรภ์ คนท้องจะมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นเล็กน้อย จึงควรพักผ่อนในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี หรือมีอากาศเย็นสบาย
- ได้กลิ่นง่ายขึ้น
คนท้องมักจะมีความรู้สึกไวต่อกลิ่น ได้กลิ่นอย่างรวดเร็ว และสามารถได้กลิ่นจากในระยะไกล ซึ่งอาจเป็นระบบการป้องกันตัวเองเมื่อได้กลิ่นที่อาจเกิดอันตรายต่อลูกในท้อง เพื่อให้แม่ออกให้ห่างจากสภาพแวดล้อมนั้น เช่น กลิ่นบุหรี่และกลิ่นควันไฟ
อาการแพ้ท้องเกิดได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์จนถึง 3 เดือน หรือไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ พบได้หลายอาการ เช่น รู้สึกเหม็นอาหารที่เคยชอบ มีความอยากกินอาหารที่เปลี่ยนไป อยากกินของกินที่ไม่ชอบกิน อยากกินของเปรี้ยวหรือของหมักดอง ของที่มีรสชาติแปลกกว่าปกติที่เคยรับประทาน แต่ในบางรายจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหนักมาก จนรับประทานอาหารไม่ค่อยได้
อาการเหล่านี้มีข้อสันนิษฐานว่า เกิดจากกลไกในร่างกายของแม่ ที่ป้องกันไม่ให้กินอาหารมากเกินไปซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดอาการแพ้ท้องจนไม่อาจรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มได้ ควรพบแพทย์ เพราะอาจเกิดร่างกายขาดน้ำ ระดับเกลือแร่ในเลือดลดลง ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อแม่และลูกได้