backup og meta

เลือดออกตอนท้องอ่อนๆ เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

เลือดออกตอนท้องอ่อนๆ เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

เลือดออกตอนท้องอ่อนๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เลือดล้างหน้าเด็ก การตั้งครรภ์นอกมดลูก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การมีเพศสัมพันธ์การแท้ง อาการเลือดออกในระยะแรกของการตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปและมักไม่กระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และเด็กในท้อง ทั้งนี้ หากพบว่าตัวเองมีเลือดออกทางช่องคลอด ไม่ว่าจะตอนท้องอ่อนๆ หรือในช่วงอายุครรภ์อื่นๆ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์

[embed-health-tool-due-date]

เลือดออกตอนท้องอ่อนๆ อันตรายหรือไม่

อาการเลือดออกตอนท้องอ่อน ๆ อาจจะเกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนเข้าไปที่เยื่อบุโพรงมดลูกของมารดา มักเป็นในช่วงสัปดาห์ที่4-5ของการตั้งครรภ์ เลือดจะหยุดได้เองและไม่เป็นอันตราย แต่นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอีกหลายประการที่ทำให้มีเลือดออกในช่วงระยะแรกของการตั้งครรภ์ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติ ที่ต้องได้รับการตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาโดยแพทย์ ดังนั้นเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด ควรพบคุณหมอทันที

การวินิจฉัยอาการ เลือดออกตอนท้องอ่อนๆ

การวินิจฉัยอาการเลือดออกตอนท้องอ่อนๆ อาจทำได้ดังนี้

คุณหมออาจวินิจฉัยอาการเลือดออกตอนท้องอ่อน ๆ ด้วยการซักประวัติ อาการร่วมอื่นๆเพื่อประเมินหาสาเหตุตามลักษณะเลือดที่ออก ตรวจภายในเพื่อประเมินหาจุดเลือดออก ตรวจดูปากช่องคลอด ช่องคลอด และปากมดลู และมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดหรือทางหน้าท้องเพื่อตรวจหาความผิดปกติของทารก (สามารถทำได้เมื่อมีอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ขึ้นไป) เพื่อตรวจสอบการเต้นของหัวใจทารก ตรวจสอบตำแหน่งและสุขภาพของรก หรือตรวจหาภาวะผิดปกติ เช่น การแท้ง การตั้งครรภ์นอกมดลูก

นอกจากนี้ ยังอาจมีการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์หรือฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin หรือ hCG) เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยในการหาสาเหตุที่เลือดออก หากพบว่าระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าที่ควร อาจหมายถึงเกิดภาวะแท้งหรือภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก

หากอาการเลือดออกตอนท้องอ่อน ๆ ไม่ได้เกิดจากภาวะสุขภาพที่น่ากังวล คุณหมออาจแนะนำให้คุณแม่พักผ่อนเยอะ ๆ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ และให้หากิจกรรมผ่อนคลายจิตใจเพื่อลดความเครียด

เลือดออกตอนท้องอ่อนๆ เกิดจากอะไรได้บ้าง

เลือดออกตอนท้องอ่อนๆ อาจเกิดได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้

เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation bleeding)

อาการเลือดออกตอนท้องอ่อนๆ ที่เกิดจากตัวอ่อนฝังตัวเข้ากับผนังมดลูก ทำให้เส้นเลือดของเยื่อบุบริเวณนั้นแตกออก พบได้ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 4-5 สัปดาห์ เลือดล้างหน้าเด็กอาจทำให้เกิดจุดเลือดออกกะปริบกะปรอย มีสีชมพูอ่อนจนไปถึงน้ำตาลเข้ม และคุณแม่บางท่านก็อาจไม่สังเกตเห็นอาการนี้เลย

การแท้งบุตร (Miscarriage)

การสูญเสียเด็กในท้องที่เกิดขึ้นภายใน 12 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ทำให้มีเลือดออกตอนท้องอ่อนๆ มีสีตั้งแต่แดงสด ชมพู ไปจนถึงน้ำตาล สาเหตุหลักมักมาจากเด็กมีโครโมโซมผิดปกติและไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ร่างกายเลือกขับเนื้อเยื่อออกมาตามธรรมชาติ มักเป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันล่วงหน้าได้

อาการของการแท้งบุตร อาจมีดังนี้

  • เป็นตะคริวและปวดท้องน้อย
  • มีของเหลวหรือตกขาวที่ไหลออกมาจากช่องคลอด
  • มีเนื้อเยื่อหรือชิ้นเนื้อไหลออกมาจากช่องคลอด
  • อาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยล้า อยากอาหารมากกว่าปกติ ที่เคยมีค่อยๆ หายไป หรือหายไปแบบฉับพลัน

การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy)

เป็นภาวะผิดปกติของการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ผสมกับอสุจิแล้วกลายเป็นตัวอ่อน มีการไปฝังตัวที่บริเวณอื่นนอกโพรงมดลูก อาจเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป

การตั้งครรภ์นอกมดลูกส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบริเวณท่อนำไข่ซึ่งเป็นบริเวณที่ไข่ผสมกับอสุจิ เมื่อตัวอ่อนเดินทางไปไม่ถึงภายในโพรงมดลูก และฝังตัวในบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ผนังมดลูก จะทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างที่ควร ส่งผลให้คุณแม่ไม่สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ได้ตามปกติ เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้ท่อนำไข่หรือบริเวณอื่น ๆ ที่ตัวอ่อนฝังตัวอยู่แตกหรือฉีกขาด จนทำให้เกิดอาการเลือดออกตอนท้องอ่อนๆ ได้ ภาวะนี้อาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต และควรได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการใช้ยาอย่างเร่งด่วน

อาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูก อาจมีดังนี้

  • มีเลือดออกจากช่องคลอด หรืออาจมีตกขาวสีน้ำตาลหรือตกขาวออกมาเป็นน้ำ
  • ปวดท้องส่วนล่างข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจเป็นบริเวณท่อนำไข่ข้างที่เกิดการปฏิสนธิ
  • ปวดหัวไหล่
  • ปวดขณะถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ

อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ที่อาจทำให้เกิดเลือดออกจากช่องคลอด ซึ่งไม่ได้เกิดจากสาเหตุโดยตรงจากในโพรงมดลูกหรือการตั้งครรภ์

  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ทำให้มดลูกเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อรองรับการตั้งครรภ์ จนทำให้มีเลือดออก
  • การมีเพศสัมพันธ์
  • การติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์
  • การบาดเจ็บบริเวณระบบสืบพันธุ์

วิธีดูแลตัวเองตอนท้องอ่อนๆ

วิธีดูแลตัวเองตอนท้องอ่อนๆ อาจทำได้ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง/วัน
  • ปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานยารักษาโรค สมุนไพร หรืออาหารเสริม
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด
  • รับประทานวิตามินบำรุงครรภ์ตามที่คุณหมอแนะนำ เช่น กรดโฟลิกวันละ 0.4 มิลลิกรัม ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
  • ขณะตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด (Douche) การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอด รวมไปถึงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เพราะอาจทำให้ช่องคลอดระคายเคืองหรือติดเชื้อได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal bleeding. https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/common-symptoms/vaginal-bleeding/#. Accessed December 22, 2022

Bleeding During Pregnancy – What‘s Normal?. https://familydoctor.org/bleeding-pregnancy-whats-normal/. Accessed December 22, 2022

Bleeding in early pregnancy. https://www.thewomens.org.au/health-information/pregnancy-and-birth/pregnancy-problems/early-pregnancy-problems/bleeding-in-early-pregnancy. Accessed December 22, 2022

Spotting During Pregnancy. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-concerns/spotting-during-pregnancy/. Accessed December 22, 2022

Bleeding during pregnancy. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/bleeding-during-pregnancy. Accessed December 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/02/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เลือดออกขณะตั้งครรภ์ อาการ สาเหตุ การดูแลตัวเอง

มีเลือดออกจากช่องคลอด แต่ ไม่ใช่ ประจําเดือนสี น้ำ ตาล เกิดจากอะไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา