backup og meta

น้ำคาวปลา 3 ระยะ สังเกตอย่างไร และวิธีดูแลเมื่อมีน้ำคาวปลา

น้ำคาวปลา 3 ระยะ สังเกตอย่างไร และวิธีดูแลเมื่อมีน้ำคาวปลา

น้ำคาวปลา (Lochia) เป็นของเหลวและเศษชิ้นส่วนเนื้อเยื่อภายในมดลูกที่ถูกขับออกมาจากช่องคลอดหลังคลอดบุตร คุณแม่หลังคลอดอาจมี น้ำคาวปลา 3 ระยะ ได้แก่ น้ำคาวปลาแดง พบในช่วง 3-4 วันหลังคลอด น้ำคาวปลาเหลืองใส พบในช่วง 4-10 วันหลังคลอด และน้ำคาวปลาขาว พบในช่วง 10 วันขึ้นไปหลังคลอด ปกติแล้ว น้ำคาวปลาไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ และจะหยุดไหลไปเองภายในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด

หากมีน้ำคาวปลาไหลออกมาจากช่องคลอด คุณแม่หลังคลอดสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยการรักษาสุขอนามัยให้ดีอยู่เสมอ สวมแผ่นอนามัยหรือผ้าอนามัยเพื่อซึมซับน้ำคาวปลา รวมไปถึงพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ทั้งนี้ หากผ่านไปหลายสัปดาห์แล้วยังมีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณมากร่วมกับมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น อ่อนเพลีย อาจเป็นสัญญาณของภาวะตกเลือดหลังคลอด นอกจากนี้หากน้ำคาวปลามีลักษณะที่เปลี่ยนแปลง เช่น สีข้นเหม็นขึ้น ร่วมกับมีการปวดท้อง อาจสงสัยภาวะการติดเชื้อ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษา

[embed-health-tool-due-date]

น้ำคาวปลา 3 ระยะ มีอะไรบ้าง

น้ำคาวปลา คือ เลือด เยื่อเมือกปากมดลูก เนื้อเยื่อโพรงมดลูกและเนื้อเยื่อของทารกที่เหลืออยู่ น้ำคร่ำ แบคทีเรียและจุลินทรีย์ ที่หลุดลอกออกมาหลังจากรกลอกตัวออกจากโพรงมดลูกและไหลออกจากช่องคลอด มีลักษณะคล้ายประจำเดือนและอาจมีกลิ่นอับหรือเหม็นเปรี้ยว น้ำคาวปลาที่ไหลออกมาเป็นภาวะทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่หลังคลอดทุกคน โดยทั่วไปน้ำคาวปลาอาจหลั่งออกมาหลายสัปดาห์กว่าจะหมด ส่วนใหญ่มักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

น้ำคาวปลาอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะดังต่อไปนี้

  • น้ำคาวปลาแดง (Lochia rubra) เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 3-4 วันหลังคลอด มีลักษณะเป็นสีแดงเข้มหรือแดงสด อาจมีปริมาณมากเหมือนการมีประจำเดือนในช่วงวันแรก ๆ มีอาการปวดท้องเล็กน้อยคลายตอนมีประจำเดือน และอาจมีก้อนเลือดปนออกมาด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ
  • น้ำคาวปลาเหลืองใส (Lochia serosa) เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 4-10 วันหลังคลอด มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลออกชมพู มีเลือดและก้อนเลือดปนน้อยลงและไหลออกเป็นน้ำมากขึ้น ลักษณะจะเริ่มใสขึ้น ปริมาณที่พบจะน้อยกว่าในระยะน้ำคาวปลาแดง
  • น้ำคาวปลาขาว (Lochia alba) เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 10-28 วันหลังคลอด มีลักษณะเป็นสีเหลืองใส มีเลือดปนออกมาน้อยลงหรืออาจไม่มีเลย ปริมาณน้ำคาวปลาในช่วงนี้จะลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่ไหลออกมาอีกเลย

ในช่วงให้นมบุตร คุณแม่อาจพบว่าน้ำคาวปลามีสีแดงเข้มขึ้นและไหลออกมาจากช่องคลอดเยอะกว่าเดิม เนื่องจากการให้นมทำให้มดลูกหดตัว ทั้งยังอาจรู้สึกว่ากล้ามเนื้อหดรัดตัวคล้ายกับอาการปวดประจำเดือนด้วย

เลือดออกหลังคลอดแบบไหนถึงผิดปกติ

แม้ในน้ำคาวปลาที่ไหลออกจากช่องคลอดจะมีเลือดปนออกมาด้วยเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีเลือดออกจากช่องคลอดมากเกินไป หรือในลักษณะที่ไม่ใช่น้ำคาวปลา อาจเป็นสัญญาณของภาวะตกเลือดหลังคลอด (Postpartum Hemorrhage หรือ PPH) ซึ่งเป็นภาวะสูญเสียเลือดเกิน 1,000 มิลลิลิตรหลังคลอด อาการที่พบ ปริมาณเลือดที่เสียไป และระดับความรุนแรงของภาวะนี้อาจแตกต่างไปในแต่ละบุคคล และอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตลดลง อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น จำนวนเม็ดเลือดแดงลดลง 

โดยทั่วไป ภาวะตกเลือดหลังคลอดสามารถเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ซึ่งมักจะได้รับการรักษาจากทีมแพทย์ทันทีเพราะยังอยู่ในช่วงพักฟื้นที่โรงพยาบาล สาเหตุของการตกเลือดหลังคลอดในช่วงแรกนี้ส่วนมากเกิดจากภาวะมดลูกหดรัดตัวไม่ดี จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม และอีกลักษณะคือการตกเลือดภายหลังคลอด 24ชั่วโมง และอยู่ภายใน 12 สัปดาห์แรกหลังคลอด โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของการตกเลือดในระยะหลังนี้เกิดจากการติดเชื้อในโพรงมดลูก หรือการมีชิ้นส่วนการตั้งครรภ์หลงเหลืออยู่ในโพรงมดลูก ซึ่งในระยะนี้คุณแม่และผู้ใกล้ชิดต้องคอยสังเกตอาการเองที่บ้าน หากคลอดบุตรไปแล้วหลายสัปดาห์แต่ยังมีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณมาก อาจเป็นสัญญาณของภาวะตกเลือดหลังคลอดที่ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุดเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

วิธีดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างเหมาะสม

วิธีดูแลตัวเองหลังคลอด อาจทำได้ดังนี้

  • รักษาสุขอนามัยของตัวเองให้ดีอยู่เสมอ อาบน้ำและล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำเปล่าอย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด และหลังอาบน้ำควรซับบริเวณช่องคลอดและรอบอวัยวะเพศให้แห้งสะอาดก่อนสวมเสื้อผ้าเสมอ
  • ใช้แผ่นอนามัยหรือผ้าอนามัยรองรับน้ำคาวปลาเพื่อไม่ให้น้ำคาวปลาไหลออกมาเลอะกางเกงชั้นใน ระหว่างวัน ควรเปลี่ยนแผ่นอนามัยหรือผ้าอนามัยบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการอับชื้นและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือการสอดใส่อะไรเข้าไปในช่องคลอดจนกว่าจะได้รับการตรวจภายในกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียภายในมดลูก
  • สวมชุดชั้นในและกางเกงที่ระบายอากาศได้ดีและสามารถเลอะได้ เนื่องจากน้ำคาวปลาอาจเปื้อนและเป็นคราบติดบนเสื้อผ้าได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และหาเวลางีบระหว่างวันบ่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ทารกกำลังนอนหลับเพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และลดอาการอ่อนเพลียจากการคลอดบุตรและการดูแลทารก
  • ในช่วงที่มีน้ำคาวปลา คุณแม่อาจไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงทำอาหารเอง จึงควรเลือกรับประทานอาหารที่เตรียมได้ง่าย ๆ และมีประโยชน์ เช่น สลัดผักกับเนื้อย่างหรือปลาไม่ติดมันรับประทานคู่กับผลไม้สดและโยเกิร์ตไขมันต่ำ
  • ไม่ควรทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะหรือออกกำลังกายหักโหม เช่น การยกของหนัก การขุดดินปลูกต้นไม้ รวมถึงการเดินทางไกล เนื่องจากร่างกายของคุณแม่หลังคลอดยังอ่อนแอจากการคลอดบุตร และอาจทำให้ฟื้นตัวได้ช้าลง
  • หาเวลาส่วนตัวเพื่อผ่อนคลายจิตใจจากภาระหน้าที่ต่าง ๆ ในฐานะคุณแม่อย่างน้อย 20 นาที/วัน และใช้เวลาทำกิจกรรมผ่อนคลายหรืองานอดิเรกที่ชื่นชอบ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ แช่น้ำในอ่าง ดูโทรทัศน์ เดินเล่น

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากคุณแม่หลังคลอดมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธี

  • มีเลือดสีแดงสดไหลออกจากช่องคลอดหลังวันที่ 3 ของการคลอดบุตร
  • มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่กว่าลูกพลัมออกมาจากช่องคลอด
  • มีเลือดออกมาจนเต็มผ้าอนามัย 1 แผ่น/ชั่วโมง และไม่ไหลช้าลงเลย
  • สายตาพร่ามัว
  • หนาวสั่น
  • ผิวหนังเย็น
  • หัวใจเต้นรัว
  • อ่อนแรง
  • คลื่นไส้
  • วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
  • ปวดท้อง มีไข้ น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นมากขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Lochia. https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/22485-lochia. Accessed November 1, 2022

Pregnancy: Physical Changes After Delivery. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/9682-pregnancy-physical-changes-after-delivery. Accessed November 1, 2022

Vaginal Bleeding After Birth: When to Call a Doctor. https://www.webmd.com/women/vaginal-bleeding-after-birth-when-to-call-doctor. Accessed November 1, 2022

Your body after the birth. https://www.nhs.uk/pregnancy/labour-and-birth/after-the-birth/your-body/. Accessed November 1, 2022

Mum’s first few days after giving birth. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/mums-first-few-days-after-giving-birth. Accessed November 1, 2022

What Is a Postpartum Hemorrhage?. https://www.webmd.com/baby/what-is-a-postpartum-hemorrhage#:~:text=A%20postpartum%20hemorrhage%2C%20also%20known,weeks%20after%20having%20a%20baby. Accessed November 1, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/02/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: ศุภานิช สุริโย


บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำคาวปลา กี่วันหมด และวิธีการดูแลตัวเองหลังคลอด

น้ำคาวปลาหลังคลอด คืออะไร แล้วกี่วันถึงจะหมด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา