backup og meta

มดลูกเข้าอู่กี่วัน และควรดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างไร

มดลูกเข้าอู่กี่วัน และควรดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างไร

คุณแม่หลังคลอดอาจมีคำถามว่า มดลูกเข้าอู่กี่วัน โดยทั่วไปมดลูกอาจใช้เวลาในการเข้าอู่ประมาณ 6 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองของแต่ละคน แต่หากมีอาการปวดท้องรุนแรง เลือดออก น้ำคาวปลามากและมีกลิ่นเหม็น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจร่างกายทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณความผิดปกติหรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นกับมดลูกหลังคลอดได้

[embed-health-tool-ovulation]

มดลูกเข้าอู่ คืออะไร

มดลูกเข้าอู่ คือ ภาวะที่มดลูกลดขนาดกลับไปสู่ขนาดและน้ำหนักปกติหรือเทียบเท่ากับก่อนตั้งครรภ์ โดยในระหว่างตั้งครรภ์มดลูกจะขยายตัวใหญ่ขึ้น เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น และหลอดเลือดกว้างขึ้น เพื่อส่งสารอาหาร ปกป้องและรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เมื่อคลอดลูกแล้วร่างกายไม่ต้องรองรับการตั้งครรภ์อีกต่อไป มดลูกจึงจะหดตัวกลับสู่สภาพปกติเหมือนก่อนตั้งครรภ์

มดลูกเข้าอู่กี่วัน

มดลูกจะเริ่มหดตัวทันทีหลังคลอดเพื่อขับรกออกมา ซึ่งการหดและคลายตัวซ้ำ ๆ จะช่วยบีบให้หลอดเลือดแคบลงเพื่อป้องกันไม่ให้คุณแม่สูญเสียเลือดมากเกินไป หลังจากนั้นเมื่อผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันหลังคลอด มดลูกจะค่อย ๆ หดตัวและลดขนาดลงเรื่อย ๆ รวมทั้งร่างกายจะสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นใหม่ เพื่อเตรียมการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไป

โดยทั่วไปหลังคลอดฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดลงส่งผลให้ขนาดมดลูกเล็กลง และอาจใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น มดลูกถึงจะเข้าอู่เต็มที่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคน โดยมดลูกจะหดเล็กลงกลับไปสู่ขนาดและน้ำหนักปกติประมาณ 60 กรัม เหมือนหรือเทียบเท่ากับก่อนตั้งครรภ์

นอกจากนี้ คุณแม่หลังคลอดที่ให้นมบุตรอาจช่วยกระตุ้นให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น เพราะในระหว่างการให้นมบุตรร่างกายจะหลั่งสารออกซิโทซิน (Oxytocin) ที่ช่วยให้มดลูกหดตัว จึงควรให้นมบุตรบ่อยขึ้นเพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น

อาการมดลูกเข้าอู่ และอาการผิดปกติที่ควรพบคุณหมอ

โดยปกติประมาณ 2-3 วันหลังคลอด คุณแม่อาจรู้สึกว่ามดลูกบีบตัวขณะให้นมบุตร โดยอาจมีอาการชาหรือเสียวซ่าบริเวณหน้าท้องหรือมดลูก ซึ่งเป็นอาการของมดลูกเข้าอู่ที่ปกติ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีอาการต่อไปนี้ควรเข้าพบคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณความผิดปกติของมดลูก

  • มีไข้
  • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นและมีปริมาณมากขึ้น
  • ปวดท้องระหว่างให้นมบุตร และปวดมท้องมากกว่าปกติ
  • อาจมีลิ่มเลือดปริมาณมากไหลออกมาจากช่องคลอด

การดูแลตัวเองหลังคลอด

การดูแลตัวเองหลังคลอดอาจช่วยฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและอาจช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ซึ่งทำได้ดังนี้

  • พักผ่อนให้มากขึ้น ทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะคุณแม่ต้องรับภาระหนักในระหว่างตั้งครรภ์มาตลอด 9 เดือน ร่างกายสูญเสียเลือดมากในขณะคลอด และหลังคลอดก็ต้องให้นมบุตรด้วย ซึ่งอาจทำให้คุณแม่สูญเสียพลังงาน เหนื่อยล้า และอ่อนเพลียมาก จึงแนะนำให้คุณแม่นอนหลับพักผ่อนมากขึ้นอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง/วัน โดยสลับเลี้ยงลูกกับคุณพ่อหรือคนในบ้าน นอกจากนี้ ควรหากิจกรรมเพื่อคลายเครียดและความวิตกกังวล เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ เดินเล่น พูดคุยกับเพื่อน
  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ควรรับประทานอาหารให้หลากหลายทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันดี วิตามินและแร่ธาตุ เพื่อใช้เป็นพลังงานและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายที่สูญเสียไปในขณะตั้งครรภ์และคลอดบุตร
  • ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน ออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและช่วยให้ช่องคลอด มดลูก และอุ้งเชิงกรานกระชับเร็วขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Everything you need to know about your post-pregnancy belly. https://www.babycenter.com/baby/postpartum-health/post-baby-belly-how-long-you-might-look-pregnant_1152349. Accessed March 20, 2023

Your body after the birth. https://www.nhs.uk/pregnancy/labour-and-birth/after-the-birth/your-body/. Accessed March 20, 2023

The New Mother: Taking Care of Yourself After Birth. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=the-new-mother-taking-care-of-yourself-after-birth-90-P02693. Accessed March 20, 2023

Your body after the birth (the first 6 weeks). https://www.tommys.org/pregnancy-information/after-birth/your-body-after-birth. Accessed March 20, 2023

Your most common postpartum recovery questions, answered. https://www.babycenter.com/baby/postpartum-health/body-changes-after-childbirth_1456740. Accessed March 20, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีนวดเต้าหลังคลอด เพื่อลดอาการคัดตึงเต้านม

น้ำคาวปลากี่วันหมด และควรดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา