backup og meta

ตกเลือด สาเหตุ อาการ การรักษา

ตกเลือด สาเหตุ อาการ การรักษา

ตกเลือด คือภาวะที่มีเลือดออกในปริมาณมากโดยทั่วไปมักหมายถึงอาการเลือดออกทางช่องคลอดในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์และหลังการคลอดบุตร หากพบในช่วงก่อนคลอดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก รกเกาะต่ำ การแท้งบุตร หากคุณแม่สังเกตว่ามีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีเลือดออกทางช่องคลอด ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที ก่อนส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของตนเองและลูกน้อยในครรภ์

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

คำจำกัดความ

ตกเลือด คืออะไร

ตกเลือด คือภาวะที่มีเลือดออกทางช่องคลอดปริมาณมาก อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ในช่วงแรก หรืออาจเกิดหลังจากคลอดบุตร ทำให้ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจนำไปสู่อาการช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้

อาการ

อาการตกเลือด

อาการตกเลือด อาจสังเกตได้จาก

  • เลือดออกทางช่องคลอดในปริมาณมาก อาจเป็นสีชมพูหรือสีแดง พบร่วมกับก้อนเลือดขนาดใหญ่ และอาจหยุดไหลยาก
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • คลื่นไส้
  • วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง ตาพร่ามัว
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ความดันโลหิตลดลง
  • ปวดท้องรุนแรง

คุณแม่ตั้งครรภ์หรือคุณแม่ที่เพิ่งคลอดหากพบว่ามีอาการเลือดไหลออกจากช่องคลอด ไม่ว่าจะในปริมาณน้อยหรือมาก ก็ควรพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดทันที

สาเหตุ

สาเหตุของการตกเลือด

การตกเลือดสามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด ซึ่งมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้

การตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ อาจมีสาเหตุมาจาก

  • ตั้งครรภ์นอกมดลูก เกิดจากไข่ที่ปฏิสนธิแล้วฝังตัวนอกมดลูก พบได้มากในท่อนำไข่ เมื่อตัวอ่อนมีขนาดใหญ่ขึ้นจะส่งผลให้ท่อนำไข่ที่ตัวอ่อนฝังตัวอยู่แตกออก ทำให้เกิดการเสียเลือดในช่องท้องปริมาณมาก ส่งผลให้ปวดท้องอย่างรุนแรง ความดันโลหิตตก จนช็อคและเสียชีวิตได้
  • รกเกาะต่ำ เป็นภาวะที่รกปกคลุมปากมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมด ส่งผลให้มีอาการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ในปริมาณมาก บางคนอาจหายได้เองเมื่อมดลูกขยายตัวขึ้น แต่หากยังคงมีอาการเลือดออกตลอดเวลาจนถึงช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของการตั้งครรภ์ ควรเข้าพบคุณหมอทันที
  • รกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental abruption) เป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงระหว่างตั้งครรภ์ ที่อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ที่อาจส่งผลให้รกขาดออกซิเจนและสารอาหาร จนทำให้รกบางส่วนหรือทั้งหมดหลุดลอกออก และเกิดอาการตกเลือดในปริมาณมากได้
  • มดลูกแตก อาจพบได้ในคุณแม่ที่เคยผ่าคลอด เนื่องจากแผลจากการผ่าตัดฉีกขาดทำให้มีอาการปวดท้องและตกเลือดภายในท้องได้
  • การแท้งบุตร มักเกิดขึ้นภายในการตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์แรก ทำให้มีอาการตกเลือดทางช่องคลอด ร่วมกับมีชิ้นเนื้อที่เป็นชิ้นส่วนการตั้งครรภ์หลุดออกมาด้วย หากชิ้นส่วนการตั้งครรภ์หลุดออกมาไม่สมบูรณ์ จะทำให้ร่างกายเสียเลือดปริมาณมาก
  • การตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ หรือ ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy) เป็นภาวะที่พบได้ยาก เกิดจากความผิดปกติของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว ทำให้ไม่อาจพัฒนาเป็นทารกที่สมบูรณ์ ส่งผลให้มีอาการตกเลือดในปริมาณมากและแท้งบุตร ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์

การตกเลือดหลังคลอด อาจมีสาเหตุมาจากการที่มดลูกไม่หดตัวหลังคลอด หรือภาวะรกหลุดลอกออกจากมดลูกไม่หมด และนำไปสู่การตกเลือด นอกจากนี้ อาการตกเลือดยังอาจเกิดจากการที่มดลูกและเส้นเลือดฉีกขาดระหว่างคลอด เนื่องจากทารกอาจมีลำตัวใหญ่ ทำให้เกิดอาการห้อเลือดในช่องคลอด และกระดูกเชิงกราน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการตกเลือดหลังคลอดได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ตกเลือด

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ตกเลือด มีดังนี้

  • โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
  • โรคอ้วน
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การตั้งครรภ์ในช่วงอายุมาก
  • การมีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คน
  • ปัญหาเกี่ยวกับรก เช่น รกเกาะต่ำ รกลอกก่อนกำหนด
  • มดลูกขยายมากเกินไปเนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่
  • การคลอดที่รวดเร็วกว่าปกติ

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการตกเลือด

การวินิจฉัยอาการตกเลือด อาจทำได้โดยการวัดชีพจร วัดระดับออกซิเจน วัดความดันโลหิต และประเมินปริมาณของเลือดที่ออกจากช่องคลอดว่ามากเพียงใด โดยใช้ฟองน้ำดูดซับเลือดและชั่งน้ำหนัก จากนั้นจะตรวจร่างกายร่วมกับตรวจจำนวนเม็ดเลือดแดง การแข็งตัวของเลือดร่วมด้วย เพื่อหาสาเหตุที่อาจทำให้เกิดการตกเลือด

การรักษาอาการตกเลือด

การรักษาอาการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ เป็นการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดการตกเลือด เช่น ในกรณีที่แท้งไม่สมบูณ์ อาจต้องพิจารณาขูดมดลูก ในกรณีที่ตั้งครรภ์นอกมดลูก อาจต้องพิจารณาผ่าตัดนำท่อนำไข่ออก

สำหรับผู้ที่ตกเลือดหลังคลอด คุณหมออาจรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • ยากระตุ้นให้เกิดการหดตัวของมดลูก เช่น ออกซิโทซิน (Oxytocin) เมทิลเออร์โกโนวีน (Methylergonovine) และยา ไมโสพรอสตอล (Misoprostol)
  • การนวดให้มดลูกหดตัวเพื่อช่วยขับรกที่ตกค้างอยู่ให้ออกไป
  • การขูดมดลูก กรณีมีชิ้นส่วนรกค้างอยู่ในโพรงมดลูก
  • ผ่าตัดใส่บอลลูนเข้าไปบริเวณมดลูก เพื่อช่วยชะลอการตกเลือด
  • ผ่าตัดผ่านการส่องกล้อง เพื่อซ่อมแซมหลอดเลือดที่ทำให้เลือดออก
  • ผ่าตัดนำมดลูกออก ซึ่งอาจเป็นวิธีสุดท้ายที่คุณหมอเลือก หากอาการตกเลือดไม่ดีขึ้น

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการตกเลือด

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการตกเลือด อาจทำได้ดังนี้

  • ออกกำลังกายในระดับเบา เช่น แอโรบิก ว่ายน้ำ เดิน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช และหลีกเลี่ยงการรับประทานที่มีโซเดียม น้ำตาล และไขมันสูง เช่น อาหารแปรรูป ของทอด
  • หยุดสูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์
  • รักษาหรือควบคุมอาการของโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ตามคำแนะนำของคุณหมอ
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal bleeding. https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/common-symptoms/vaginal-bleeding/. Accessed March 24, 2022   

Bleeding During Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/guide/bleeding-during-pregnancy. Accessed March 24, 2022   

Bleeding During Pregnancy. https://www.acog.org/womens-health/faqs/bleeding-during-pregnancy. Accessed March 24, 2022   

Postpartum Hemorrhage. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=postpartum-hemorrhage-90-P02486. Accessed March 24, 2022   

Postpartum Hemorrhage. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentTypeID=90&ContentID=P02486. Accessed March 24, 2022   

Vaginal Bleeding After Birth: When to Call a Doctor. https://www.webmd.com/women/vaginal-bleeding-after-birth-when-to-call-doctor. Accessed March 24, 2022   

Placenta previa. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/placenta-previa/symptoms-causes/syc-20352768. Accessed March 24, 2022   

Placental abruption. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/placental-abruption/symptoms-causes/syc-20376458. Accessed March 24, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตกเลือดหลังคลอด เกิดขึ้นได้อย่างไร และเป็นอันตรายหรือไม่

โรคชีแฮน ภาวะตกเลือดมากขณะคลอดหรือหลังคลอด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา