คลอดลูกเจ็บไหม เป็นหนึ่งในคำถามที่พบบ่อยของผู้หญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ หรือกำลังตั้งครรภ์ ซึ่งความกลัวการคลอดลูกนั้นอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ และหลายปัจจัย แม้ว่าการคลอดลูกจะเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่คุณแม่รอคอยที่จะพบหน้าลูกน้อย ความกลัวนี้หากเป็นมากจะเข้าสู่โรคกลัวการคลอดลูก หรือโทโคโฟเบีย ดังนั้น คุณแม่ควรหาวิธีรับมือโรคกลัวการคลอดลูกว่าควรทำอย่างไร
[embed-health-tool-due-date]
คำจำกัดความ
กลัวการคลอดลูก คืออะไร
โรคกลัวการคลอดลูก หรือโทโคโฟเบีย (Tokophobia) คือ เป็นการตอบสนองทางด้านอารมณ์และความรู้สึกไม่สบายใจของคุณแม่ตั้งครรภ์ มีอาการกลัวสุดขีดของการคลอด เหมือนกันกับการกลัวที่สูงหรือกลัวสิ่งต่าง ๆ โดยโทโคโฟเบีย มี 2 ประเภท คือ “ประเภทปฐมภูมิ” เกิดขึ้นได้หากไม่เคยให้กำเนิดมาก่อน “ประเภททุติยภูมิ” เคยผ่านการคลอดลูกมาแล้วครั้งหนึ่งและเกิดความกลัวจากประสบการณ์ก่อนหน้านี้
โรคกลัวการคลอดลูก พบได้บ่อยแค่ไหน
ความกลัวนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน จากข้อมูลของ National Comorbidity Survey Replication (NCS-R) พบว่าประมาณ 9.1% ของผู้หญิงที่อายุเกิน 18 ปีมักเกิดอาการหวาดกลัวการคลอด โดยโทโคโฟเบียสามารถพบได้ใน 6-10% ของผู้หญิงตั้งครรภ์
อาการ
อาการของ กลัวการคลอดลูก
โดยอาการของผู้หญิงตั้งครรภ์ที่กลัวการคลอดลูกนั้นอาจมีความวิตกกังวล หรือจินตนาการไปต่าง ๆ นานา อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการนอน การกิน หรือส่งผลต่ออารมณ์ด้วย โดยอาการทั่วไปของกลัวการคลอด มีดังนี้
- ตื่นตระหนก และวิตกกังวลมากขึ้น
- นอนไม่หลับ หรือฝันร้ายอยู่บ่อย ๆ
- อารมณ์แปรปรวน
- ความอยากอาหารลดลง
- หมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ (ก่อนการตั้งครรภ์)
- พยายามหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ โดยใช้วิธีการคุมกำเนิด
- อัตราการเต้นของหัวใจถี่ขึ้น
- ต้องการผ่าคลอด มากกว่าคลอดแบบธรรมชาติ
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น หรือบางคนอาจมีอาการที่แตกต่างออกไปจากที่กล่าวมา ควรไปหาคุณหมอเพื่อตรวจสอบและปรึกษาเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของแต่ละคน
สาเหตุ
สาเหตุของ โรคกลัวการคลอดลูก
ผู้หญิงอาจมีสาเหตุหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการกลัวการคลอดลูกได้ ซึ่งไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมจึงเกิดอาการกลัวการคลอดลูกได้ โดยอาจมีสาเหตุมาจากดังนี้
- มีประสบการณ์เชิงลบจากการคลอดครั้งก่อน
- ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ จนทำให้เกิดความวิตกกังวลต่าง ๆ ตามมา
- กลัวการไปส่งที่โรงพยาบาลไม่ทัน หรือกลัวโรงพยาบาล กลัวการทำคลอด กลัวการทำหัตถการ
- เคยสูญเสียมาก่อน เช่น การแท้ง เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกลัวการคลอดลูก
มีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่อาจส่งผลกระทบให้ผู้หญิงกลัวการคลอดลูก ซึ่งอาจเป็นในกรณีดังกล่าว ได้แก่
- มีประวัติการเป็นภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวล
- เคยโดนล่วงละเมิดทางเพศ หรือข่มขืน
- คิดคาดการณ์ไปล่วงหน้าว่าต้องมีความเจ็บปวดจากการคลอดอย่างแน่นอน
- การดูคลิป หรือวิดีโอการคลอดของบุคคลอื่น ทำให้รู้สึกกลัว
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในนี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคกลัวการคลอดลูก
เป็นการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ในการสอบถามอาการต่าง ๆ
การรักษา โรคกลัวการคลอดลูก
การรักษาอาการของโรคกลัวการคลอดลูกนั้น อาจมีหลายวิธี เช่น
- พูดคุยเกี่ยวกับความกังวลต่าง ๆ กับเพื่อน หรือคนในครอบครัว
- บอกพยาบาลผดุงครรภ์ หรือแพทย์ที่คุณฝากครรภ์ว่ารู้สึกอย่างไรในขณะนั้น
- การเข้าคอร์สเรียนเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการคลอด อาจสามารถช่วยให้รู้สึกพร้อมมากขึ้นและคลายความกลัวในบางเรื่องที่คิดกังวลไปล่วงหน้า
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการคลอด เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือให้ดีขึ้น
หากมีอาการกังวลหรือวิตกจริตกับการคลอดมากจนถึงขั้นรุนแรง แพทย์อาจใช้วิธีการบำบัดด้วยจิตบำบัด และการให้ยาเพื่อรักษา
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ หรือวิถีการใช้ชีวิตบางอย่างอาจช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ลดความวิตกกังวลจากการคลอดลูกได้ เช่น
- การฝึกสมาธิให้อยู่กับตนเอง แบบไม่คิดฟุ้งซ่าน ซึ่งคุณแม่อาจจะฝึกโยคะ หรือการออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อลดความตึงเครียด
- กำหนดลมหายใจ เข้า-ออก อย่างเป็นประจำ การนั่งสมาธิอาจช่วยได้
- การพูด หรือแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ กับคนในครอบครัวมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดูข่าวอาชญากรรม หรือสิ่งที่ทำให้หดหู่
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะปรึกษา และขอรับข้อเสนอแนะจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม และหมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย เพราะสุขภาพแม่นั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์