ซึมเศร้าหลังแท้งลูก เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่สูญเสียลูกในครรภ์ และบางครั้งก็อาจส่งผลต่อคุณพ่อได้เช่นกัน การรับรู้อาการและวิธีรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังแท้งลูกที่เหมาะสม อาจช่วยให้คุณแม่และคุณพ่อสามารถปรับความคิด จิตใจ และความรู้สึก ให้กลับสู่สภาวะที่ดีต่อสุขภาพได้เร็วขึ้น
ซึมเศร้าหลังแท้งลูก คืออะไร
ภาวะซึมเศร้าหลังแท้งลูก หมายถึงปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นหลังจากสูญเสียลูกในครรภ์ไป การสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันย่อมนำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจ บางคนอาจละทิ้งความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียและพร้อมเดินหน้าต่อได้ในทันที แต่บางคนก็อาจต้องการเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี กว่าจะสามารถทำใจยอมรับความสูญเสีย และกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติหรือมีประสิทธิภาพเท่าเดิมอีกครั้ง และในช่วงเวลาทำใจนี้ อาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังแท้งลูกได้
ปัญหาซึมเศร้าหลังแท้งบุตร ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคุณแม่เท่านั้น แต่อาจพบได้ในคุณพ่อด้วย มีงานศึกษาวิจัยที่พบว่า มีผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังภรรยาแท้งลูก แต่ผู้ชายส่วนใหญ่อาจสามารถทำใจได้เร็วกว่าผู้หญิง ทำให้ดูเหมือนว่าปัญหาซึมเศร้าหลังแท้งบุตรไม่ค่อยเกิดกับผู้ชาย ซึ่งไม่เป็นความจริง
อาการของภาวะซึมเศร้าหลังแท้งบุตร
อาการของภาวะซึมเศร้าหลังแท้งลูก อาจมีดังนี้
- รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า และสิ้นหวัง
- ร้องไห้บ่อย
- ไม่ยอมรับความจริงว่าเสียลูกไปแล้ว
- หงุดหงิด อารมณ์ไม่คงที่
- รู้สึกเฉยชา หรือหมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบทำ
- มีปัญหาในการนอนหลับ อาจเป็นได้ทั้งการนอนหลับมากเกินไป หรือนอนไม่หลับ
- กินอาหารน้อยเกินไปหรือมากเกินไป
- รู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย
- รู้สึกไร้ค่า
- รู้สึกผิด
- มีปัญหาด้านการจดจ่อ การจดจำสิ่งต่าง ๆ และการตัดสินใจ
- คิดทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย
เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเศร้าหลังแท้งบุตร อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนหลังการแท้งบุตร อาจทำให้อาการข้างต้นยิ่งรุนแรงขึ้นได้ คู่ครองและสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวจึงควรเฝ้าดูแลและให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพและเหตุการณ์ไม่คาดคิด
วิธีรับมือภาวะซึมเศร้าหลังแท้งลูก
แต่ละคนมีความสามารถในการรับมือกับความสูญเสียได้ต่างกัน บางคนอาจใช้เวลาสั้น บางคนอาจใช้เวลานาน อย่างไรก็ตาม หากเกิดภาวะซึมเศร้าหลังแท้งลูก คุณหมออาจใช้วิธีรักษาดังต่อไปนี้
- ยาแก้ซึมเศร้า ช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง และบรรเทาอาการซึมเศร้า
- จิตบำบัด เป็นการให้คำปรึกษาด้านจิตใจ เช่น การพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล และปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักจิตบำบัดกับผู้ป่วย วิธีนี้จะช่วยให้รับมือกับความเศร้าโศกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy หรือ ECT) คุณหมอจะกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ เพื่อให้เกิดอาการชัก ซึ่งอาจช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้ วิธีนี้มักใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้าที่ไม่ตอบสนองต่อยาและวิธีจิตบำบัด
การปฏิบัติตามแผนการรักษา การรับประทานอาหารที่สมดุลตามหลักโภชนาการ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยให้ภาวะซึมเศร้าหลังแท้งลูกดีขึ้นได้ และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการรับมือภาวะนี้ก็คือ กำลังใจและความช่วยเหลือของคู่รักและคนในครอบครัว ซึ่งอาจช่วยให้สุขภาพจิตของผู้ป่วยดีได้เร็วขึ้น
[embed-health-tool-ovulation]