อาการของคนท้อง อาจเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละไตรมาสของการตั้งท้อง โดยส่วนใหญ่อาการที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การไหลเวียนของเลือด และขนาดตัวของทารก ดังนั้น คุณแม่จึงควรทราบถึงอาการของคนท้องที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละไตรมาส เพื่อช่วยให้สามารถดูแลตัวเองและปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น
[embed-health-tool-due-date]
อาการของคนท้อง ไตรมาสที่ 1
คนท้องไตรมาสที่ 1 หรือประมาณ 1-3 เดือนแรกของการตั้งท้อง เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย ฮอร์โมนและจิตใจ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณแม่ต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมาก โดยอาการของคนท้อง ไตรมาสที่ 1 อาจมีดังนี้
- คัดตึงเต้านม เป็นอาการของคนท้องที่เกิดขึ้นในระยะแรกหลังการปฏิสนธิ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดเต้านม เต้านมบวม และคัดตึงเต้านม แต่อาการอาจค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินไปประมาณ 1-2 สัปดาห์
- คลื่นไส้ อาเจียน เป็นอาการแพ้ท้องที่พบได้บ่อยและอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะตั้งท้อง โดยอาการมักเริ่มขึ้นในช่วงประมาณ 1-2 เดือนของการตั้งท้อง
- ปัสสาวะเพิ่มขึ้น เพราะร่างกายมีปริมาณเลือดเพิ่มขึ้นในขณะตั้งท้อง ส่งผลให้ไตทำงานมากขึ้นเพื่อขับน้ำออกจากร่างกาย
- ความเหนื่อยล้า ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงแรกของการตั้งท้อง ส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า และง่วงนอนบ่อย
- ความไวต่อการรับรสอาหารและการได้กลิ่น ผู้หญิงบางคนอาจมีประสาทรับกลิ่นที่ไวขึ้น และอาจมีการรับรสชาติที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงตั้งท้อง จึงอาจทำให้รู้สึกไม่ชอบกลิ่นและรสชาติอาหารที่เคยชื่นชอบ
- เสียดท้องและแน่นท้อง การตั้งท้องทำให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน ส่งผลให้ลิ้นกั้นระหว่างกระเพาะอาหารกับหลอดอาหารคลายตัว จึงทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับจนอาจทำให้มีอาการเสียดท้อง แสบท้อง และแน่นท้อง
- ท้องอืดและท้องผูก ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ลดน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของระบบย่อยอาหาร อาจทำให้มีอาการท้องผูกและท้องอืดได้
- การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ในช่วงแรกของการตั้งท้องอาจมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนสูงมาก ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจ จนทำให้คุณแม่เกิดความเครียด ความวิตกกังวล อ่อนเพลีย และเหนื่อยล้า นอกจากนี้ เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพการตั้งท้อง ทารกในท้อง ค่าใช้จ่าย และการวางแผนเลี้ยงดูลูกอื่น ๆ ก็อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอารมณ์ได้เช่นกัน
อาการของคนท้อง ไตรมาสที่ 2
คนท้องไตรมาสที่ 2 หรือประมาณ 4-6 เดือนของการตั้งท้อง เป็นช่วงที่อาการแพ้ท้องและอาการของคนท้องจากไตรมาสที่ 1 อาจดีขึ้น แต่ยังอาจมีอาการทางร่างกายอื่น ๆ เกิดขึ้นได้ ดังนี้
- หน้าท้องและหน้าอกขยายใหญ่ขึ้น เนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นทำให้มดลูกขยายตัวออก ส่งผลให้หน้าท้องใหญ่ขึ้น และการสูบฉีดเลือดที่เพิ่มขึ้นในขณะตั้งท้องส่งผลให้เต้านมขยายใหญ่ขึ้นด้วย
- มดลูกบีบรัดตัว เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 มดลูกอาจบีบรัดตัวบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังออกกำลังกาย หลังมีเพศสัมพันธ์ ขณะเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกาย
- อาการวิงเวียนศีรษะ การตั้งครรภ์ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะได้ง่าย
- ปวดขา เป็นตะคริว การตั้งครรภ์อาจทำให้การไหลเวียนของเลือดน้อยลง ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อมีการหดเกร็งตัวได้ง่าย จนเกิดอาการปวดขาและเป็นตะคริว
- การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งท้องจะกระตุ้นการสร้างเม็ดสีผิว ส่งผลให้บางคนอาจมีฝ้า กระ เป็นจุดสีน้ำตาลหรือสีดำเกิดขึ้นบนผิวหนัง หรือบางคนอาจมีรอยแตกลายเกิดขึ้นบริเวณต้นขา หน้าท้อง และก้น เนื่องจากการขยายตัวของผิวหนังอย่างรวดเร็ว
- คัดจมูกหรือเลือดกำเดาไหลง่าย เมื่อระดับฮอร์โมนเพิ่มสูงขึ้นและร่างกายสร้างเลือดมากขึ้น อาจส่งผลให้เยื่อเมือกในจมูกบวมและมีเลือดออกได้ง่าย
- ตกขาว การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายอาจส่งผลต่อลักษณะของตกขาว เช่น เหนียว ใสหรือสีขาว แต่บางคนที่ตกขาวมีสีเหลือง เขียวหรือเทา มีกลิ่นเหม็นรุนแรง ควรเข้าพบคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในช่องคลอด
- การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อยในระหว่างตั้งท้อง อาจทำให้มีอาการปวดรุนแรงขณะปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นแรง มีไข้ หรือปวดหลัง
อาการของคนท้องไตรมาสที่ 3
คนท้องไตรมาสที่ 3 หรือประมาณ 7-9 เดือนของการตั้งท้อง อาจมีอาการทางร่างกายเพิ่มขึ้นเนื่องจากขนาดตัวของทารกที่ใหญ่ขึ้น และอาการใกล้คลอดที่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ดังนี้
- มดลูกบีบรัดตัว เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 มดลูกอาจบีบรัดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งท้อง ซึ่งเป็นสัญญาณของระยะใกล้คลอด
- ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ฮอร์โมนในระหว่างตั้งท้องส่งผลให้เกิดการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อในร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงท้องแก่ และขนาดตัวของทารกในท้อง อาจทำให้มีอาการปวดหลังและปวดเมื่อยตามร่างกายมากขึ้น
- หายใจถี่ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การไหลเวียนของเลือด และความเหนื่อยล้า อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบทางเดินหายใจ
- อาการเสียดท้อง ฮอร์โมนในขณะตั้งท้องส่งผลต่อการทำงานของลิ้นเปิดปิดระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับได้ง่าย
- เส้นเลือดขอด ริดสีดวงทวาร การไหลเวียนของเลือดที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำปรากฏชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะบริเวณแขน ขา ใบหน้า คอ ซึ่งโดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นหลังจากคลอดลูก และอาการท้องผูกที่อาจเกิดขึ้นบ่อยในระหว่างตั้งท้อง อาจทำให้เกิดริดสีดวงทวารได้ง่าย
- ปัสสาวะบ่อย ขนาดตัวของทารกที่ใหญ่ขึ้นและการเคลื่อนไหวของทารก อาจกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น