การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นวิธีการตั้งครรภ์โดยใช้เทคนิคทางการแพทย์เข้ามาช่วย โดยการนำไข่และอสุจิออกมาผสมกันในห้องปฏิบัติการ ก่อนจะนำไข่ที่ปฏิสนธิจนกลายเป็นตัวอ่อนแล้วกลับเข้าสู่มดลูกเพื่อให้พัฒนาเป็นทารกในครรภ์ต่อไป การทำเด็กหลอดแก้วอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีบุตรยาก อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาเกี่ยวกับข้อดี ข้อเสีย และการเตรียมตัว เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกวิธีนี้เพื่อมีบุตร
[embed-health-tool-ovulation]
การทำเด็กหลอดแก้ว คืออะไร
การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นเทคนิคการผสมเทียมในหลอดแก้ว โดยการคัดเลือกไข่และอสุจิที่มีสุขภาพดี มาผสมกันภายในหลอดแก้วในห้องปฏิบัติการ จากนั้นจะนำไปไว้ในตู้ที่มีการควบคุมอุณหภูมิ เพื่อรอจนเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน ก่อนจะนำกลับเข้าสู่มดลูกเพื่อให้ตัวอ่อนได้ฝังตัวในมดลูก และพัฒนาเป็นทารกในครรภ์ วิธีการทำเด็กหลอดแก้วเหมาะสำหรับผู้ที่มีบุตรยาก การตกไข่ผิดปกติ อสุจิอ่อนแอ และท่อนำไข่อุดตัน
การเตรียมตัวก่อนทำเด็กหลอดแก้ว
ก่อนเริ่มทำเด็กในหลอดแก้ว คุณหมออาจให้คุณพ่อคุณแม่เข้ารับการตรวจคัดกรอง ดังนี้
- ตรวจปริมาณและคุณภาพของไข่ที่จะนำมาผสม โดยทดสอบความเข้มข้นของฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ (Follicle Stimulating Hormone: FSH) ฮอร์โมนแอนตี้มูลเลอเรียน (Anti-Mullerian Hormone: AMH) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่ เป็นตัวบ่งบอกความสามารถในการทำงานของรังไข่หรือบอกจำนวนไข่ที่สามารถผลิตได้ และฮอร์โมนเอสตราไดออล (Estradiol) ร่วมกับการอัลตราซาวด์ เพื่อให้คุณหมอทราบว่ารังไข่จะตอบสนองต่อยารักษาภาวะเจริญพันธ์ุหรือไม่
- ตรวจมดลูก คุณหมออาจใช้ของเหลวฉีดผ่านปากมดลูกเข้าไปด้านในแล้วทำอัลตราซาวด์ หรือใช้กล้องขนาดเล็กส่องภายใน เพื่อตรวจเยื่อบุมดลูกก่อนการทำเด็กในหลอดแก้ว
- จำลองการย้ายตัวอ่อนจำลองเข้าโพรงมดลูก คุณหมออาจจำลองการย้ายตัวอ่อนร่วมกับการใช้เทคนิคการย้ายตัวอ่อนที่เหมาะสม เพื่อให้ทราบความลึกของโพรงมดลูกที่ตัวอ่อนจะมีโอกาสฝังตัวในมดลูก
- ตรวจคุณภาพของน้ำอสุจิ เพื่อประเมินว่ามีภาวะเจริญพันธุุหรือไม่ และตรวจดูคุณภาพของตัวอสุจิว่าสมบูรณ์พร้อมหรือไม่
- ตรวจคัดกรองโรค เช่น เอชไอวี (HIV) ซิฟิลิส เพื่อป้องการแพร่กระจายไปสู่ลูก รวมถึงตรวจหาโรคที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือเพิ่มความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ เช่น โรคธาลัสซีเมีย ความดันโลหิตสูง
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว มี 5 ขั้นตอนหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- การกระตุ้นรังไข่ คุณหมอจะมีการฉีดยาหรือให้รับประทานยากระตุ้นรังไข่ แต่โดยส่วนมากมักจะเป็นยาฉีดในการกระตุ้นเพื่อให้รังไข่ผลิตไข่ได้หลายฟอง แล้วจึงเก็บเซลล์ไข่ออกมาผสมกับอสุจิ นอกจากนี้ คุณหมออาจให้ยากระตุ้นการเจริญเติบโตของรังไข่ ยาป้องกันการตกไข่ก่อนถึงเวลาที่ควร และยาที่ช่วยทำให้โพรงมดลูกพร้อมรับการฝังตัวอ่อนมากขึ้น
- การเก็บไข่ อาจเริ่มเก็บได้ตั้งแต่ 34-36 ชั่วโมงหลังการฉีดกระตุ้นรังไข่ครั้งสุดท้ายหรือก่อนการตกไข่ โดยคุณหมออาจให้ยาแก้ปวดหรือยาระงับประสาทบรรเทาความเจ็บ จากนั้นจะเริ่มอัลตราซาวด์และสอดอุปกรณ์ขนาดเล็กเข้าไปในช่องคลอด เพื่อดูดเซลล์ไข่ออกมาจากรังไข่ ในขั้นตอนนี้อาจทำให้รู้สึกเกร็งหรือเป็นตะคริวที่ช่องคลอดเล็กน้อย ซึ่งอาจหายได้เองภายใน 1 วัน
- การผสมเทียม หลังจากเก็บไข่ของผู้หญิงแล้ว คุณหมอจะนำอสุจิจากฝ่ายชายมาผสมเทียม โดยอาจใช้วิธีการช่วยตัวเองหรือการผ่าตัดเพื่อนำอสุจิออกมา หากคุณหมอสังเกตว่าตัวอสุจิไม่ผสมกับไข่ ก็อาจนำเข็มดูดอสุจิและฉีดเข้าสู่ไข่โดยตรงเพื่อให้ปฏิสนธิ
- การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในหลอดแก้ว เมื่อเกิดการปฏิสนธิในหลอดแก้ว คุณหมอจะทำการควบคุมอุณหภูมิในตู้ฟักไข่ เพื่อรอดูว่าไข่และอสุจิจะเริ่มแบ่งตัวกลายเป็นตัวอ่อนเมื่อใด ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 5 วัน
- การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่มดลูก หลังจากที่ไข่ปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนแล้ว คุณหมอจะนำตัวอ่อนกลับเข้าสู่มดลูก โดยทำการฉีดยาระงับประสาทให้ผู้หญิงก่อนที่จะสอดสายสวนที่มีความยืดหยุ่นเข้าไปในช่องคลอด และนำตัวอ่อนส่งกลับเข้าไปทางสายสวน ให้ตัวอ่อนได้ฝังตัวในผนังมดลูกของคุณแม่ เกิดเป็นการตั้งครรภ์
ความเสี่ยงการทำเด็กหลอดแก้ว
การทำเด็กหลอดแก้วอาจมีความเสี่ยง ดังนี้
- หากย้ายตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัวไปยังมดลูก อาจทำให้ได้ตัวทารกมากกว่า 1 คน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด และทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อย
- รังไข่บวม เจ็บปวด จากการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญพันธุ์ การกระตุ้นรังไข่และมีการตอบสนองที่มากเกินไป หากสังเกตว่ามีอาการปวดท้องน้อย ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง หอบเหนื่อย ควรพบคุณหมอในทันที
- การติดเชื้อในช่องคลอด เนื่องจากระหว่างเก็บไข่อาจมีการสอดสายสวนและอุปกรณ์เพื่อดูดไข่ ซึ่งอาจทำให้เลือดออก ติดเชื้อ และอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะและลำไส้บาดเจ็บได้
- อาจมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ประมาณ 2-5 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วไม่สามารถอยู่รอดนอกมดลูกได้
นอกจากนี้ การทำเด็กหลอดแก้วอาจมีความเสี่ยงให้ลูกพิการแต่กำเนิด หรือเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งปากมดลูก ขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของพ่อและแม่ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติเหล่านี้ต่อไป