backup og meta

การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วย IUI คือ อะไร

การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วย IUI คือ อะไร

Intrauterine insemination หรือ IUI คือ การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรงเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ ร่วมกับให้ผู้หญิงฉีดยาหรือรับประทานยากระตุ้นการเจริญพันธุ์เพื่อกำหนดช่วงไข่สุกที่แน่นอนในแต่ละรอบเดือน เมื่อทำติดต่อกันหลายครั้งจะช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้ วิธีนี้ใกล้เคียงกับการมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติ มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีอื่น ไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน และมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำ ทั้งนี้ ผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน และปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้วิธีรักษาภาวะมีบุตรยากและเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ที่เหมาะสมที่สุด

[embed-health-tool-ovulation]

IUI คือ อะไร

Intrauterine insemination หรือ IUI คือ การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรงในช่วงไข่สุก โดยคุณหมอจะฉีดเชื้ออสุจิที่คัดกรองแล้วว่ามีคุณภาพสูงและแข็งแรงสมบูรณ์ไปที่บริเวณใกล้กับท่อนำไข่ ทำให้อสุจิเดินทางไปหาเซลล์ไข่ได้ง่ายขึ้นและใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติ จึงอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้

IUI คือ วิธีที่ใกล้เคียงกับการมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติซึ่งปกติแล้วอสุจิของผู้ชายจะเดินทางเข้าสู่ช่องคลอดของผู้หญิง เดินทางผ่านปากมดลูกเข้าไปยังมดลูก และตรงเข้าสู่ท่อนำไข่ที่มีเซลล์ไข่รอรับการผสมอยู่แล้ว เมื่อไข่ผสมกับอสุจิหรือที่เรียกว่า การปฏิสนธิ จะทำให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น

วิธีนี้เป็นทางเลือกลำดับต้น ๆ ในการรักษาภาวะมีบุตรยากก่อนจะเลือกใช้วิธีที่ต้องผ่าตัดและพักฟื้นนาน หรือมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าอย่างการทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization หรือ IVF) การทำอิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection หรือ ICSI) เป็นต้น มักเลือกใช้วิธีนี้ในกรณีที่หาสาเหตุของการมีบุตรยากแล้วพบว่า อสุจิมีการเคลื่อนที่ที่ไม่ดี เพราะจะเป็นการช่วยลดระยะเวลาการเดินทางของอสุจิไปที่เซลล์ไข่ได้ และช่วยเพิ่มเติมในกรณีที่ทางฝ่ายหญิงมีการตกไข่ที่ไม่ปกติ โดยการกินยาหรือฉีดยากระตุ้นไข่เพื่อให้รู้กำหนดวันไข่ตกที่แน่นอน แต่จะทำวิธีนี้ได้ จะต้องแน่ใจว่าท่อนำไข่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีการตีบตัน

โอกาสความสำเร็จของ IUI ตามช่วงอายุ

อายุเป็นปัจจัยที่มีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์เป็นอย่างมาก โดยทั่วไปโอกาสตั้งครรภ์มักจะลดลงตามอายุที่มากขึ้น โดยอัตราความสำเร็จของการทำ IUI อาจมีดังนี้

  • ผู้มีอายุน้อยกว่า 35 ปี อัตราความสำเร็จของการทำ IUI อาจอยู่ที่ 13%
  • ผู้มีอายุ 35-37 ปี อัตราความสำเร็จของการทำ IUI อาจอยู่ที่ 10%
  • ผู้มีอายุ 38-40 ปี อัตราความสำเร็จของการทำ IUI อาจอยู่ที่ 9%
  • ผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อัตราความสำเร็จของการทำ IUI อาจอยู่ที่ 3-9%

นอกจากนี้ โอกาสในการตั้งครรภ์ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น

IUI เหมาะสมกับใคร

หลายคนอาจเลือกทำ IUI เนื่องจากมีปัญหาในการมีบุตรด้วยวิธีตามธรรมชาติ เป็นคู่รักเพศเดียวกัน เป็นหญิงที่ต้องการมีบุตรด้วยการใช้อสุจิของผู้บริจาค เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจทำ IUI เนื่องจากมีภาวะสุขภาพบางประการที่ทำให้ตั้งครรภ์ได้ยากกว่าปกติ ดังต่อไปนี้

  • ปัญหาเกี่ยวกับมูกปากมดลูก เช่น มูกปากมดลูกหนาเกินไปทำให้อสุจิไม่สามารถเดินทางไปยังท่อนำไข่เพื่อผสมกับไข่ได้ตามปกติ ซึ่งการทำ IUI อาจช่วยให้อสุจิไปถึงท่อนำไข่ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องผ่านปากมดลูก
  • ความผิดปกติของอสุจิ หากผู้ชายมีปริมาณเชื้ออสุจิน้อยกว่าปกติ หรืออสุจิผิดปกติ เช่น มีขนาดเล็ก อ่อนแอ เชื่องช้า มีรูปร่างผิดปกติ อาจแก้ไขได้ด้วยการคัดกรองอสุจิแล้วฉีดเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้ได้อสุจิที่แข็งแรงสมบูรณ์ ทำให้ตั้งครรภ์ได้ง่าย
  • การหลั่งหรือการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายผิดปกติ ทำให้ผู้ชายไม่สามารถถึงจุดสุดยอดได้ตามปกติ ส่งผลให้ไม่มีการหลั่งอสุจิหรือมีอสุจิไม่เพียงพอที่จะเข้าไปผสมกับไข่ได้
  • การแพ้น้ำเชื้อ (Semen allergy) ผู้หญิงอาจแพ้น้ำอสุจิของเพศชาย ทำให้ช่องคลอดอักเสบ บวมแดง หรือแสบร้อน ซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยการล้างโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ในระหว่างกรองอสุจิก่อนฉีดเข้าสู่โพรงมดลูก ทั้งนี้ การแพ้น้ำเชื้อเป็นปัญหาที่พบได้ไม่บ่อยนัก
  • ภาวะมีบุตรยากแบบไม่มีสาเหตุ หากคู่แต่งงานตรวจสุขภาพและไม่พบความผิดปกติใด ๆ แต่กลับไม่สามารถมีบุตรได้ตามปกติ การทำ IUI อาจช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้

ขั้นตอนการทำ IUI

ก่อนทำ IUI คุณหมอจะตรวจสุขภาพของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การตรวจเลือด การอัลตราซาวด์ การวิเคราะห์น้ำอสุจิ การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs)

นอกจากนี้ คุณหมอจะให้ยากระตุ้นรังไข่ที่ช่วยชักนำให้มีการตกไข่ เช่น โคลมิฟีน ซิเตรต (Clomiphene citrate) เลโทรโซล (Letrozole) ฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ฮอร์โมนเอฟเอสเอช (FSH) เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีไข่ตกในวันที่ฉีดเชื้ออสุจิ โดยสามารถใช้เชื้ออสุจิของคู่แต่งงานหรือผู้บริจาคอสุจิก็ได้

ขั้นตอนการทำ IUI อาจมีดังนี้

  1. คุณหมอสอดคีมถ่างช่องคลอดเข้าไปทางช่องคลอด แล้วจึงสอดท่อพลาสติกขนาดเล็กเข้าไปในมดลูก
  2. คุณหมอฉีดเชื้ออสุจิที่มีสุขภาพแข็งแรงและผ่านการคัดกรองมาแล้วเข้าไปในโพรงมดลูก
  3. คุณหมอดึงสายสวนออกมาก่อน แล้วตามด้วยคีมถ่างช่องคลอด

การทำ IUI จะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที และมักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ ผู้หญิงบางคนอาจปวดท้องเล็กน้อยขณะทำ IUI หรืออาจมีจุดเลือดออกจากช่องคลอดเล็กน้อยประมาณ 1-2 วันหลังทำ IUI แต่ก็สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวัน รวมไปถึงมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ

หลังจากทำ IUI ประมาณ 2 สัปดาห์ ให้ใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์เพื่อตรวจสอบว่าการทำ IUI ประสบความสำเร็จหรือไม่ หากตรวจพบว่ามีการตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์เพื่อให้คุณหมอสามารถติดตามการตั้งครรภ์ได้อย่างใกล้ชิดด้วยการตรวจเลือดและอัลตราซาวด์ แต่หากพบว่าไม่ตั้งครรภ์ อาจต้องรอทำ IUI ซ้ำในวันไข่ตกครั้งต่อไป ส่วนใหญ่การทำ IUI จะใช้เวลา 3-6 เดือนจึงจะเห็นผล แต่หากทำติดต่อกันแล้วไม่สามารถทำให้ตั้งครรภ์ได้ คุณหมออาจแนะนำให้ผู้วางแผนการตั้งครรภ์พิจารณาใช้วิธีอื่นในการรักษาภาวะมีบุตรยาก

ความเสี่ยงของการทำ IUI

การทำ IUI มีความเสี่ยงต่อสุขภาพน้อยกว่าการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีอื่น เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว แต่ก็อาจทำให้เสี่ยงเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้เช่นกัน

  • การตั้งครรภ์แฝด (Multiple pregnancy) การรับประทานยากระตุ้นรังไข่อาจทำให้มีการปล่อยไข่มากกว่า 1 ฟอง เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์แฝด และหากตั้งครรภ์แฝดอาจเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดหรือทารกน้ำหนักแรกเกิดน้อยได้
  • การติดเชื้อ การทำ IUI อาจทำให้แบคทีเรียหรือไวรัสเข้าสู่มดลูกจนทำให้ติดเชื้อได้ แต่มักพบได้ไม่บ่อยนัก
  • จุดเลือดออก การสอดท่อพลาสติกเข้าไปในช่องคลอดอาจทำให้หลอดเลือดฝอยภายในแตกจนเกิดจุดเลือดออกเล็กน้อย
  • ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian hyperstimulation syndrome หรือ OHSS) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยากระตุ้นภาวะเจริญพันธุ์ จนทำให้ของเหลวรั่วไหลจากหลอดเลือดที่อยู่รอบรังไข่ไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย อาจทำให้ปวดบริเวณมดลูก มดลูกบวม มีน้ำในช่องท้องและช่องอก คลื่นไส้ อาเจียน แต่จะเกิดได้น้อย เนื่องจากขนาดยาที่ใช้กระตุ้นไข่ในวิธีนี้ใช้ในขนาดต่ำ

ความแตกต่างระหว่าง IVF และ IUI คือ อะไร

ความแตกต่างของการทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF และการทำ IUI คือ ตำแหน่งของกระบวนการปฏิสนธิ การทำเด็กหลอดแก้วเป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย โดยบุคลากรทางการแพทย์จะนำไข่และอสุจิที่คัดกรองแล้วมาปล่อยให้ผสมกันเอง จากนั้นจึงนำไข่ที่ได้รับการผสมแล้วไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการให้เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนแล้วจึงนำไปฉีดเข้าไปในร่างกายของผู้หญิง

ส่วนการทำ IUI เป็นการปฏิสนธิภายในร่างกาย โดยบุคลากรทางการแพทย์จะฉีดเชื้ออสุจิที่คัดกรองแล้วเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อให้เชื้ออสุจิเดินทางไปหาไข่ และเกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติที่บริเวณท่อนำไข่หรือที่เรียกว่าปีกมดลูก

ทั้งนี้ การทำ IVF จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและใช้เวลาพักฟื้นนานกว่า แต่ก็มีอัตราความสำเร็จสูงกว่า IUI

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Infertility and Artificial Insemination. https://www.webmd.com/infertility-and-reproduction/guide/artificial-insemination#:~:text=In%20artificial%20insemination%2C%20a%20doctor,and%20gets%20around%20any%20obstructions. Accessed February 2, 2023

Intrauterine insemination (IUI). https://www.nhs.uk/conditions/artificial-insemination/. Accessed February 2, 2023

IUI (Intrauterine Insemination). https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/22456-iui-intrauterine-insemination. Accessed February 2, 2023

Intrauterine Insemination (IUI) Treatment. https://www.hopkinsmedicine.org/gynecology_obstetrics/specialty_areas/fertility-center/infertility-services/intrauterine-insemination.html. Accessed February 2, 2023

Intrauterine insemination (IUI). https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/intrauterine-insemination/about/pac-20384722#:~:text=Intrauterine%20insemination%20(IUI)%20%E2%80%94%20a,more%20eggs%20to%20be%20fertilized. Accessed February 2, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/03/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

การทำเด็กหลอดแก้ว การเตรียมตัว และความเสี่ยง

ทำกิ๊ฟ หรือการทำเด็กหลอดแก้ว สำหรับคุณแม่มีบุตรยาก


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา