backup og meta

อยากท้อง แต่ไม่ท้อง มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 15/11/2022

    อยากท้อง แต่ไม่ท้อง มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง

    คู่รักหลายคู่อยากมีลูก แต่พยายามมาหลายครั้งก็ยังคงไม่สำเร็จ อยากท้อง แต่ไม่ท้อง อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของการตกไข่ หรือการมีอสุจิน้อย รวมถึงปัญหาสุขภาพของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง

    ต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะตั้งท้อง

    ในกรณีที่คู่รักทั่วไปมีเพศสัมพันธ์ตามช่วงเวลาที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งท้องในทุก ๆ เดือน คู่รักจำนวนประมาณร้อยละ 80 จะตั้งท้องหลังจากผ่านไป 6 เดือน และประมาณ 90% จะตั้งท้องหลังจาก 12 เดือน อย่างไรก็ตาม หากผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีหรือมากกว่า และพยายามมีลูกเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน หรือมีอายุน้อยกว่า 35 ปี และพยายามมีลูกอย่างน้อย 1 ปี แล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ควรปรึกษาคุณหมอเพราะอาจมีปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ทำให้ยังไม่ตั้งท้อง

    อยากท้อง แต่ไม่ท้อง มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง

    สำหรับสาเหตุที่ อยากท้อง แต่ไม่ท้อง อาจมีสาเหตุมาจากสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

    ความเครียด

    งานวิจัยพบว่า มีความเชื่อมโยงกันระหว่างระดับความเครียดของผู้หญิง กับโอกาสในการตั้งท้องที่ลดลง ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงที่มีระดับอัลฟา อะไมเลส (Alpha-amylase) ที่เป็นเอนไซม์ที่บอกถึงความเครียด หากผู้หญิงมีอัลฟา อะไมเลสในระดับสูง อาจใช้เวลานานกว่าร้อยละ 29 ในการตั้งครรภ์ เมื่อเทียบกับผู้ที่มีเอนไซม์ชนิดนี้น้อย

    นอกจากนี้ ความเครียดยังอาจส่งผลทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีเพศสัมพันธ์น้อยลง และอาจดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ซึ่งทำให้ลดโอกาสในการตั้งท้องด้วย

    อายุ

    สำหรับผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไป และผู้ชายที่อายุ 40 ปีขึ้นไป อาจใช้เวลานานในการตั้งท้อง ซึ่งผู้หญิงบางคนอาจคิดว่า หากประจำเดือนยังคงมาปกติ ก็น่าจะไม่มีปัญหาในการตั้งท้อง แต่ความจริงแล้ว อายุ ถือเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของไข่ด้วย ดังนั้น หากมีอายุมากกว่า 35 ปี จึงอาจใช้เวลานานกว่าที่จะตั้งท้องสำเร็จ จึงควรปรึกษาคุณหมอ

    อสุจิ

    คู่สมรสที่มีลูกยากจำนวนประมาณร้อยละ 20-30 พบว่าปัจจัยที่ทำให้มีลูกยากนั้น มักมาจากฝากชาย และมีประมาณร้อยละ 40 ที่พบปัจจัยมาจากทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้น สาเหตุที่ทำให้ไม่ตั้งท้อง อาจเกิดจากฝ่ายชายก็ได้ โดยเรื่องนี้อาจวิเคราะห์ได้จากอสุจิ โดยการวัดความแข็งแรงของน้ำอสุจิและเซลล์อสุจิ เพราะเมื่อไปพบคุณหมอจึงควรเข้ารับการตรวจร่างกายทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง

    การตกไข่

    การตั้งท้องเกิดจากการปฏิสนธิของอสุจิและไข่ ถ้าไม่ตกไข่ก็จะไม่สามารถตั้งท้องได้ โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงไม่ตกไข่ อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น

  • กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS)
  • น้ำหนักเกิน หรือน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์
  • ความผิดปกติของการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Dysfunction)
  • ภาวะระดับโปรแลคตินสูง (Hyperprolactinemia)
  • ออกกำลังกายหนักเกินไป
  • การที่ประจำเดือนมาปกติ อาจไม่ได้รับประกันว่าการตกไข่จะเกิดขึ้น ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอหากพยายามมีลูกมานานเกิน 1 ปี

    เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

    ภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เป็นภาวะที่เยื่อบุมดลูกไปเกิดขึ้นนอกโพรงมดลูก เช่น รังไข่ เยื่อบุช่องท้อง ผนังลำไส้ หรือผนังกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งผู้หญิงที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกประมาณ 50% จะมีปัญหาในการตั้งท้อง โดยอาการที่อาจพบได้บ่อย เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรงเวลามีประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงบางคนอาจไม่มีอาการปวดท้อง แต่ก็สามารถเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน และเนื่องจากภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่จะตรวจพบได้จากการใช้กล้อง จึงควรปรึกษาคุณหมอ

    อยากท้องแต่ไม่ท้องเสียที ควรทำอย่างไร

    กรณีที่พยายามมีลูกมาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ควรปรึกษาคุณหมอ นอกจากนี้ การปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้อาจเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้

    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยบรรเทาความเครียดแล้ว ยังเพิ่มโอกาสใน การตั้งครรภ์ ด้วย เนื่องจากมีงานวิจัยที่ชี้ว่า การออกกำลังกายในระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 5 วัน/สัปดาห์ วันละ 30 นาที เช่น เดิน โยคะ อาจเพิ่มโอกาสในการตั้งท้องได้
    • ลดน้ำหนัก การมีน้ำหนักเกินอาจลดโอกาสในการตั้งท้อง เพราะมีงานวิจัยที่แนะนำว่า ผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินอาจมีปัญหาในการตั้งครรภ์มากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่มีน้ำหนักในเกณฑ์ปกติ
    • กินอาหารที่มีประโยชน์ สอดคล้องกับข้อมูลจากงานวิจัย พบว่า ผู้หญิงที่กินอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean diet) คือ อาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ธัญพืช รวมถึงถั่วเหลืองมีแนวโน้มที่จะตั้งท้องมากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่กินอาหารไขมันสูง และอาหารแปรรูปในปริมาณมาก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 15/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา