backup og meta

วิธีตรวจครรภ์ ทำได้อย่างไร วิธีใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ตรวจด้วยตัวเอง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 05/07/2023

    วิธีตรวจครรภ์ ทำได้อย่างไร วิธีใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ตรวจด้วยตัวเอง

    วิธีตรวจครรภ์ สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาล หรือวิธีตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง โดยใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ และไปตรวจซ้ำที่โรงพยาบาลอีกครั้ง

    วิธีตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไร

    อาการแรกที่ต้องสงสัยว่า กำลังตั้งครรภ์ คือ การที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ หลังจากที่ประจำเดือนขาดเกิน 1 สัปดาห์ หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ จึงควรตรวจครรภ์โดยใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ที่เป็นการทดสอบฮอร์โมนเอชซีจี (Human chorionic gonadotropin : hCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นมาระหว่างตั้งครรภ์ หลั่งออกมาในกระแสเลือด และมีฮอร์โมนบางส่วนถูกขับออกมาทางปัสสาวะ โดยชุดทดสอบการตั้งครรภ์จะทดสอบฮอร์โมนเอชซีจีในปัสสาวะ ด้วยการทำปฏิกิริยากับสารเคมีที่เคลือบบนชุดทดสอบตั้งครรภ์

    ประเภทของอุปกรณ์ตรวจการตั้งครรภ์

    อุปกรณ์ตรวจการตั้งครรภ์ โดยการตรวจปัสสาวะ มีอยู่ 3 แบบ

    1. ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบจุ่ม (Test Strip)  : วิธีตรวจครรภ์ให้ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ นำส่วนปลายของอุปกรณ์จุ่มลงในปัสสาวะ รอผลประมาณ 5 นาที
    2. ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบหยด (Pregnancy Test Cassette)  : วิธีตรวจครรภ์ให้ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ นำหลอดดูดน้ำปัสสาวะแล้วหยดลงบนตลับการทดสอบตามคำแนะนำ รอผลประมาณ 3 นาที
    3. ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบปัสสาวะผ่าน (Pregnancy Midstream Tests)  : วิธีตรวจครรภ์ให้ถอดฝาครอบออก ถือแท่งทดสอบตามคำแนะนำข้างกล่อง ให้ปัสสาวะผ่านบริเวณที่ดูดซับน้ำปัสสาวะประมาณ 5 นาที รอผลอย่างน้อย 3 นาที 

    ผลทดสอบการตั้งครรภ์ หากเส้นสีแดงขึ้น 2 ขีด ทั้งตัวอักษร C และ T อาจหมายความว่า ตั้งครรภ์ ซึ่งความเข้มของแถบสีจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของระดับฮอร์โมน แต่ถ้าเส้นขีดที่ตรงกับตัว T สีจางมาก ให้ทำการทดสอบการตั้งครรภ์อีกครั้งโดยรออย่างน้อย 2-3 วัน หากตรวจแล้วขึ้นขีดเดียวที่ตัว C ผลคือ อาจไม่ตั้งครรภ์ 

    นอกจากนี้ การใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ควรระวังผลลบลวง จากการตรวจเร็วเกินไป จึงแสดงผลเพียง 1 ขีด โดยเฉพาะในช่วงก่อน 6 วันหลังจากปฏิสนธิที่ระดับฮอร์โมนเอชซีจี ยังต่ำจนไม่อาจตรวจเจอได้ ดังนั้น เมื่อพบอาการผิดปกติสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ ควรตรวจอีกครั้ง   

    วิธีตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาล

    การวินิจฉัยการตั้งครรภ์ในโรงพยาบาล แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจคลื่นความถี่สูง ดังนี้

    • ซักประวัติ : การขาดของประจำเดือน วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย การใช้ยาคุมกำเนิด อาการคลื่นไส้อาเจียนในตอนเช้า หรือเต้านมตึงขึ้น
    • การตรวจร่างกาย : ด้วยการคลำขนาดมดลูก โดยได้ระดับยอดมดลูกโตขึ้น 
    • การตรวจทางห้องปฎิบัติการ : การตรวจฮอร์โมน Human chorionic gonadotropin (hCG) จากปัสสาวะ และควรใช้ปัสสาวะครั้งแรกในตอนเช้า ซึ่งคล้ายกับการใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ โดยจะต้องเก็บปัสสาวะเพื่อตรวจในห้องแล็บแปลผลโดยนักเทคนิคการแพทย์ จึงมีความแม่นยำค่อนข้างสูงกว่าการใช้วิธีตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง
    • การเจาะเลือดตรวจการตั้งครรภ์ : เป็นวิธีตรวจครรภ์ที่พบการตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ 
    • การตรวจคลื่นความถี่สูง : ตรวจด้วยการอัลตร้าซาวด์โดยสูตินรีแพทย์ การอัลตร้าซาวด์เป็นการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปยังเนื้อเยื่อ และจะถูกแปลผลให้ปรากฎเป็นภาพบนจอ ปัจจุบันมีอัลตร้าซาวด์ 2 มิติ อัลตร้าซาวด์ 3 มิติ และอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ ในช่วง 3 เดือนแรกจะสามารถประเมินอายุครรภ์ได้ค่อนข้างแม่นยำ การตรวจครรภ์ด้วยวิธีนี้ยังช่วยให้ประเมินอายุครรภ์ได้ ทราบถึงตำแหน่งการตั้งครรภ์ว่าตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือไม่ และอาจพบความผิดปกติในการตั้งครรภ์ได้ด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 05/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา