หลายคนอาจคุ้นเคยกับขั้นตอนการ ทำแผล ตั้งแต่การหยุดเลือด ทำความสะอาดบริเวณแผลและโดยรอบ และปิดด้วยผ้าพันแผลเพื่อป้องกันสิ่งสกปรก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการทำแผลอยู่มากมาย และนี่คือตัวอย่าง 5 ความเชื่อผิด ๆ นั้น
5 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการ ทำแผล
ความเชื่อที่ 1: ควรทำให้แผลแห้งตลอด
ความเชื่อนี้เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย ๆ แม้ว่าการทำให้แผลแห้งอยู่เสมออาจจะเป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วดูสมเหตุสมผล เพราะแผลมักจะแห้งเมื่อเกิดสะเก็ดแผล แต่คุณรู้หรือไม่ว่า การรักษาความชุ่มชื้นของแผลจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
บาดแผลที่มีความชุ่มชื้นอย่างพอเหมาะมักจะมีโอกาสอักเสบน้อยกว่าและหายได้ไวกว่าแผลที่แห้ง
วิธีหนึ่งที่จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แผลคือการทาปิโตเลียมเจล² เพื่อช่วยเก็บรักษาความชื้นและยังช่วยเป็นเกราะป้องกันการเกิด แผลติดเชื้อ ซึ่งอาจช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นและมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นน้อยลง
นอกจากนี้ คุณก็อาจทาไฮโดรเจล ซึ่งมีส่วนประกอบของวัสดุสังเคราะห์ที่ช่วยคงความชุ่มชื้นให้กับบาดแผลโดยไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อของบาดแผล9
ดร.คาร์ลา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพผิว
อย่างไรก็ตาม หากดูเหมือนบาดแผลไม่หายดี หรือมีสัญญาณของ แผลติดเชื้อ ควรเข้ารับการรักษาจากคุณหมอในทันที
ความเชื่อที่ 2: ควรใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์หรือแอลกอฮอล์เพื่อ ทำแผล
อีกหนึ่งความเชื่อผิด ๆ ที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับการทำแผลคือการใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์หรือแอลกอฮอล์เพื่อทำความสะอาดแผล
ในความเป็นจริงแล้ว การใช้สารเคมีเหล่านี้เพื่อฆ่าเชื้อเกินความจำเป็นอาจส่งผลให้แผลหายช้าลงได้ แม้ว่าแอลกอฮอล์³ และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์4 จะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถส่งผลกระทบต่อกระบวนการฟื้นฟูของแผล และทำให้แผลหายช้าลงได้
ทางเลือกที่ดีกว่าคือการทำความสะอาดแผลโดยใช้น้ำสะอาดและไอโอดีน5 ทั้งสองอย่างนี้มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดสิ่งสกปรกและฆ่าเชื้อโรค
ความเชื่อที่ 3: การทายาสีฟันบนแผลไหม้จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น
แม้ว่าหลายคนอาจจะคิดว่าการทายาสีฟันลงบนแผลไหม้ แผลลวก เป็นเรื่องที่ปกติและควรทำ เพราะยาสีฟันมีฤทธิ์ทำให้ผิวเย็นลง แต่เรื่องนี้เป็นเพียงแค่ความเชื่อผิด ๆ เท่านั้น
การทายาสีฟันลงบนผิวอาจส่งผลร้ายต่อผิวหนังมากกว่าผลดี อีกทั้งยังอาจสร้างสภาพแวดล้อมให้เชื้อแบคทีเรียสามารถเจริญเติบโตได้ดี6 ดังนั้น แทนที่จะใช้ยาสีฟันเพื่อรักษาแผลไหม้ระดับเบา ควรเปลี่ยนมาใช้ไฮโดรเจลที่มีคุณสมบัติช่วยในการฟื้นฟูของแผล และยังมีฤทธิ์เย็น ช่วยปลอบประโลมผิวได้อีกด้วย9
อย่างไรก็ตาม สำหรับแผลไหม้ระดับรุนแรง ทางที่ดีที่สุดคือควรเข้ารับการรักษาโดยคุณหมอในทันที
ความเชื่อที่ 4: กาวซูเปอร์กลูใช้รักษาบาดแผลได้
ความเชื่อเรื่องการใช้กาวซูเปอร์กลูเพื่อรักษาแผลหรือทำให้แผลติดกันนั้นพบได้ค่อนข้างบ่อย คุณอาจเคยเห็นวิดีโอหรือโพสต์บนโซเชียลมีเดียที่พูดถึงการใช้วิธีการนี้ในการ ทำแผล อยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้คุณไปซื้อกาวซูเปอร์กลูทั่วไปมาใช้เพื่อรักษารอยบาดแผลเพราะอาจทำให้เกิดแผลไหม้จากสารเคมีได้7 หากคุณใช้กาวนี้ทาลงบนผิวอาจทำให้แผลมีอาการแย่ลงได้
เนื่องจากกาวซูเปอร์กลูทั่วไปไม่มีสูตรเหมือนไซยาโนอะคริเลต (Cyanoacrylate ) ที่ใช้ในทางการแพทย์ หากคุณต้องการกาวซูเปอร์กลูเกรดทางการแพทย์ ควรให้แพทย์ของคุณเป็นผู้ตัดสินใจ
ความเชื่อที่ 5: การใช้ผ้าพันแผลอาจทำให้ แผลติดเชื้อ
สุดท้ายนี้ หนึ่งในความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการทำแผลที่พบได้บ่อยที่สุดคือ คุณไม่ควรใช้ผ้าพันแผลเพราะอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตและติดเชื้อได้
หลายคนเชื่อว่า แทนที่จะพันแผลเอาไว้ ควรปล่อยให้แผลได้ “หายใจ” จะดีกว่า
อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ไม่เหมาะสมสำหรับการฟื้นฟูของบาดแผล8 การใช้ผ้าพันแผลที่สะอาดเพื่อปกปิดแผลจะช่วยปกป้องแผลจากเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยให้แผลชุ่มชื้น ซึ่งจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นอีกด้วย
วิธี ทำแผล ที่ดีที่สุดคืออะไร?
ขั้นตอนง่าย ๆ 3 ขั้นตอนที่จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ มีดังนี้
- ขั้นตอนแรก ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเปล่า และฆ่าเชื้อบริเวณรอบโดยใช้ไอโอดีนหรือน้ำยาฆ่าเชื้อที่อ่อนโยน
- หลังจากนั้นอาจทาปิโตเลียมเจล ไฮโดรเจล หรือยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของแผลและป้องกันเชื้อโรค การรักษาความชุ่มชื้นของแผลจะช่วยให้แผลฟื้นฟูดีขึ้น
- ขั้นสุดท้าย ปิดแผลด้วยผ้าพันแผลที่สะอาดเพื่อปกป้องแผลจากเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรก ควรเปลี่ยนผ้าพันแผลทุกวัน ล้างแผล และทายาจนกว่าแผลจะหายดี
หลังจากที่แผลหายดีแล้วและสะเก็ดแผลหลุดออกไปหมดแล้ว อาจรักษารอยแผลเป็นได้ด้วยการใช้เจลซิลิโคนที่มีส่วนผสมของ Cyclopentasiloxan และ วิตามิน C Ester เพื่อช่วยให้แผลเป็นนุ่มขึ้น จางลง และเรียบเนียน10-12
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นคำแนะนำทางการแพทย์ หากคุณมีข้อกังวลเกี่ยวกับบาดแผลและรอยแผลเป็น โปรดปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Menarini
[embed-health-tool-bmi]