NCDs คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง และอาจรวมไปถึงโรคที่นำไปสู่โรคดังที่กล่าวมา เช่น โรคอ้วนลงพุง โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งโรค NCDs มักส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว นอกจากนี้ หากมีการติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคโควิด-19 ก็อาจทำให้มีอาการรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
[embed-health-tool-bmi]
NCDs คืออะไร
NCDs หรือ Non-Communicable Disease คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากการมีพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตไม่เหมาะสม องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่ากลุ่มโรคนี้เป็นภาวะสุขภาพที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 41 ล้านคนต่อปี คิดเป็น 74% ของการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก โรค NCDs มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม การใช้ชีวิต หรือสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โรคกลุ่มนี้จะดำเนินโรคอย่างช้า ๆ และสะสมอาการนานหลายปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาและดูแลทางการแพทย์ เช่น การใช้ยารักษา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพ
พฤติกรรมเสี่ยงเกิดโรคในกลุ่ม NCDs
โรคในกลุ่ม NCDs สามารถเกิดขึ้นได้กับคนในทุกช่วงอายุ แต่ความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้นหากมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น รับประทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด มีไขมันและน้ำตาลสูงเป็นประจำ
- มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่เหมาะสม เช่น ไม่ค่อยทำกิจกรรมทางกาย ไม่ออกกำลังกาย หรืออยู่เฉย ๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง นอนดึก นอนน้อย เครียดจัดเป็นประจำ
- ใช้สารเสพติด สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มือสอง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
NCDs มีอะไรบ้าง
โรคในกลุ่ม NCDs อาจแบ่งออกได้ดังนี้
โรคเบาหวานเกิดจากเซลล์ในร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินที่ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำตาลไปเป็นพลังงานให้กับอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย หรือที่เรียกว่าภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) หรืออาจเกิดจากร่างกายมีระดับอินซูลินไม่เพียงพอหรือไม่มีเลย ทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นหลังรับประทานอาหาร และร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ หากมีระดับน้ำตาล 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่า มีภาวะก่อนเบาหวาน และหากมีระดับน้ำตาลในเลือด 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
อาการของโรค ผู้ป่วยอาจมีอาการหิวบ่อย สายตาพร่ามัว ผิวแห้ง ชาตามปลายมือปลายเท้า ถ่ายปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ เป็นต้น
ผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อเป็นโรคเบาหวานนานหลายปี โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเส้นประสาทส่วนปลายที่เกิดจากเบาหวาน (Diabetic peripheral neuropathy) โรคไตเรื้อรัง ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy) ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมหรือที่เรียกว่าเบาหวานลงเท้า (Diabetic foot) เป็นต้น โดยภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานอาจทำให้พิการหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคมะเร็งเกิดจากเซลล์ในร่างกายกลายพันธุ์ไปเป็นเนื้อร้ายหรือเซลล์มะเร็ง ก่อนจะแบ่งตัวเรื่อย ๆ และขยายใหญ่ขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย โรคมะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากปัจจัยจากพันธุกรรมและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอย่างไวรัสเอชพีวี (HPV) ไวรัสตับอักเสบได้เช่นกัน
ข้อมูลสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทยพ.ศ. 2565 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติเปิดเผยว่า โรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในคนไทย ได้แก่ โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่/ทวารหนัก และโรคมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ
อาการของโรค คลำพบหรือสังเกตเห็นก้อนเนื้อขึ้นตามร่างกาย น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ มีปัญหาในการขับถ่าย เช่น ขับถ่ายเป็นเลือด มีแผลเรื้อรังที่ไม่หาย เป็นต้น โดยอาการจะแตกต่างไปตามชนิดของมะเร็งที่เป็น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการจนกระทั่งอยู่ในระยะลุกลามแล้ว
ผลกระทบต่อสุขภาพ หากไม่ได้รับการรักษาจนโรคดำเนินไปถึงระยะหลัง โรคมะเร็งอาจลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นและทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น อีกทั้งการรักษามะเร็งด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำคีโม การฉายรังสี เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งในร่างกาย ก็อาจมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้ร่างกายอ่อนแอ รู้สึกไม่สบาย ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บปากเจ็บคอ
เป็นภาวะสุขภาพที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด อาจเกิดจากส่วนต่าง ๆ ของหัวใจผิดปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกันไป โรคหัวใจมักเกี่ยวข้องกับการมีไขมันสะสมในหลอดเลือดจนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน เลือดจึงไม่สามารถไหลเวียนไปยังหัวใจได้ตามปกติ หรือในบางกรณี โรคหัวใจก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการมีไขมันสะสมในเลือดปริมาณมาก แต่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจส่วนใดส่วนหนึ่งโดยตรง
โรคหัวใจและหลอดเลือดแบ่งได้เป็นหลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคลิ้นหัวใจ (Valve Heart Disease) ภาวะหัวใจวาย (Heart Attack)
อาการของโรค เจ็บหน้าอก หายใจถี่รัว ไอหรือหายใจไม่ออก คลื่นไส้ หน้ามืด อาการบวมที่ข้อเท้าหรือเท้า หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ เร็วหรือช้าผิดปกติ อ่อนเพลียง่าย เป็นต้น
ผลกระทบต่อสุขภาพ โรคหัวใจและหลอดเลือดอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ที่หากไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เป็นกลุ่มโรคปอดอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือที่เรียกว่าโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งพบได้บ่อยในคนไทยที่สูบบุหรี่หรือรับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ โรคนี้เกิดจากการได้รับสารหรือแก๊สที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองภายในระบบทางเดินหายใจเป็นเวลานาน จนทางเดินหายใจอักเสบ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้หลอดลมตีบแคบ และทำให้เนื้อเยื่อปอดเสียหาย ซึ่งจะกระทบต่อการทำงานของปอดในระยะยาวและไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้
อาการของโรค มีอาการไอเรื้อรัง หายใจไม่ออกบ่อย ๆ หายใจมีเสียงหวีด แน่นหน้าอก มีเสมหะเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เป็นต้น
ผลกระทบต่อสุขภาพ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โรคเหล่านี้อาจทำให้ปอดและทางเดินหายใจเสียหายอย่างถาวร
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เผยว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยโรคในกลุ่ม NCDs มากที่สุด (17.9 ล้านคนต่อปี) ตามมาด้วยโรคมะเร็ง (9.3 ล้านคนต่อปี) โรคทางเดินหายใจ (4.1 ล้านคนต่อปี) และโรคเบาหวาน (2.0 ล้านคน รวมทั้งคนเป็นโรคไตที่เสียชีวิตจากเบาหวาน) และสำหรับประเทศไทย จากสถิติของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่รวบรวมได้ในปี พ.ศ. 2552 ระบุว่า ประเทศไทยมีภาระจากกลุ่มโรค NCDs ในสัดส่วนที่สูงกว่านานาชาติ โดยสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 300,000 กว่ารายในปี พ.ศ. 2552 หรือคิดเป็น 73% ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างมาก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนไทยต้องหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองให้มากขึ้นตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังกลุ่มนี้ในภายหลัง
วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรค NCDs
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงจากกลุ่มโรคนี้ อาจทำได้ดังนี้
- ไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อคัดกรองโรค วางแผนรักษา และป้องกันการลุกลามของโรค
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที เช่น เล่นแบดมินตัน เล่นเทนนิส ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ทำสวน ทำงานบ้าน
- รับประทานอาหารชาบู หมูกระทะ ปิ้งย่าง อาหารบุฟเฟต์ หรืออาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพแต่น้อย เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับอย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง
- พยายามไม่เครียด หากิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ไปพูดคุยกับเพื่อนหรือคนใกล้ตัวเมื่อมีปัญหา ปรึกษานักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต