backup og meta

การเจริญเติบโตของวัยรุ่น ทางร่างกายและสติปัญญา

การเจริญเติบโตของวัยรุ่น ทางร่างกายและสติปัญญา

การเจริญเติบโตของวัยรุ่น หมายถึง การพัฒนาทางร่างกายและสติปัญญาในช่วงอายุประมาณ 12-18 ปี โดยผู้หญิงมักจะเจริญเติบโตทางร่างกายเร็วกว่าผู้ชายประมาณ 2 ปี ในขณะที่พัฒนาการด้านสติปัญญานั้นอาจใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ การช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของวัยรุ่นอย่างเหมาะสม ถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้วัยรุ่นเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

[embed-health-tool-bmi]

การเจริญเติบโตของวัยรุ่น มีอะไรบ้าง

วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ มีการเจริญเติบโตทางร่างกายและทางสติปัญญา ดังนี้

การเจริญเติบโตของวัยรุ่น ทางร่างกาย

ร่างกายของวัยรุ่นมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งกล้ามเนื้อและรูปร่าง แต่ผู้หญิงกับผู้ชายอาจมีพัฒนาการทางร่างกายที่แตกต่างกัน ดังนี้

วัยรุ่นหญิง ส่วนใหญ่เริ่มมีพัฒนาการทางเพศตั้งแต่อายุ 8-13 ปี และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วระหว่างอายุ 10-14 ปี โดยผู้หญิงจะเริ่มมีการเปลี่ยนทางร่างกายหลายส่วน ได้แก่

  • ความสูงของร่างกายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • หน้าอกเริ่มใหญ่ขึ้นและสะโพกเริ่มมีส่วนเว้าส่วนโค้งมากขึ้น
  • เริ่มมีขนรักแร้ ขนที่อวัยวะเพศ โดยปกติจะเริ่มมีขนภายใน 6-12 เดือนหลังจากเต้านมเริ่มขยาย
  • ส่วนประกอบของระบบสืบพันธุ์ เช่น มดลูก คลิตอริส ช่องคลอด เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก อาจมีประจำเดือนตอนอายุประมาณ 13 ปี

เมื่อผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือน การพัฒนาของความสูงอาจเพิ่มขึ้นอีก 1-2 นิ้วและการพัฒนาของความสูงอาจค่อย ๆ ช้าลงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย

วัยรุ่นชาย ส่วนใหญ่เริ่มมีพัฒนาการทางเพศตั้งแต่อายุ 10-14 ปี และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนอายุประมาณ 16 ปี ซึ่งการเจริญเติบโตของเด็กผู้ชายมักช้ากว่าผู้หญิง 2 ปี โดยส่วนใหญ่เมื่อผู้ชายอายุ 16 ปี ร่างกายจะหยุดเติบโตแต่กล้ามเนื้อยังคงพัฒนาต่อไป โดยการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้ชาย ได้แก่

  • องคชาตและอัณฑะมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • เริ่มมีขนรักแร้ หนวด เครา ขนบนใบหน้า และขนที่อวัยวะเพศ
  • เสียงเริ่มแตกหนุ่มและเข้มขึ้น
  • ลูกอัณฑะเริ่มผลิตอสุจิ อาจเริ่มมีฝันเปียก
  • ผู้ชายบางคนอาจมีลูกกระเดือกใหญ่ขึ้นจนมองเห็นได้ชัด

การเจริญเติบโตของวัยรุ่น ทางสติปัญญา

วัยรุ่นเริ่มมีพัฒนาการและความสามารถทางความคิดอย่างมีระบบ ลึกซึ้งและซับซ้อนมากขึ้น รู้จักการจัดการกับอารมณ์และการแก้ปัญหา ซึ่งช่วยในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจที่นำไปสู่การพัฒนาทางปัญญาของวัยรุ่น การเจริญเติบโตของวัยรุ่นทางสติปัญญาแต่ละช่วงวัย มีดังนี้

วัยรุ่นตอนต้น เริ่มมีความคิดที่ซับซ้อนมากขึ้นและรู้จักตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง เช่น

  • เริ่มพูดและแลกเปลี่ยนความเห็นในมุมมองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตัวเอง เช่น ควรเข้ากลุ่มกับเพื่อนคนไหนดี ควรเล่นกีฬาชนิดไหนดี ควรสร้างบุคลิกแบบไหนถึงน่าดึงดูด
  • เริ่มแสดงความคิดเห็น แนะนำ โต้ตอบในเรื่องการเรียน
  • เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมและมาตรฐานทางสังคมมากขึ้น

วัยรุ่นตอนกลาง เริ่มมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องอนาคตมากขึ้น เช่น

  • เริ่มคิดเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกของตัวเองในอนาคต
  • เริ่มคิดและวางแผนการใช้ชีวิต และตั้งเป้าหมายของตัวเองในอนาคต
  • เริ่มคิดถึงการกระทำและผลของการกระทำในระยะยาวมากขึ้น
  • เริ่มคิดถึงการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น

วัยรุ่นตอนปลาย เริ่มมีกระบวนการความคิดที่ซับซ้อน คิดถึงความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและอาจสนใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น เช่น

  • เริ่มให้ความสนใจในการเรียนต่อ และตัดสินใจเลือกอาชีพในอนาคต
  • แสดงความคิดเห็นและโต้ตอบเมื่อไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ขัดแย้งกับแนวคิดของตนเอง
  • เริ่มมีแนวคิดและให้ความสนใจเกี่ยวกับสิ่งรอบตัวมากขึ้น เช่น การเมือง กฎหมาย ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางเพศ

การเจริญเติบโตของวัยรุ่น มีวิธีส่งเสริมได้อย่างไรบ้าง

การส่งเสริมสุขภาพที่ดีทั้งทางร่างกายและทางสติปัญญาของวัยรุ่น สามารถทำได้ดังนี้

  • การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วัยรุ่นควรนอนหลับอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง/วัน เพื่อช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง
  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ วัยรุ่นควรรับประทานอาหารที่หลากหลายทั้งผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีน และอาหารไขมันต่ำ ไม่ควรรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดบ่อยเกินไป
  • การออกกำลังกาย วัยรุ่นควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 60 นาที เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและการเจริญเติบโตที่ดี อาจเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ว่ายน้ำ เตะฟุตบอล เต้น
  • ส่งเสริมให้วัยรุ่นแบ่งปันความคิดเห็นกับผู้ใหญ่ ร่วมอภิปรายเกี่ยวกับหัวข้อ ประเด็น และเหตุการณ์ปัจจุบันที่หลากหลาย และแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ตัดสิน เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นมีอิสระทางความคิด และฝึกใช้เหตุและผลในการพิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัว
  • ส่งเสริมและช่วยวัยรุ่นในการกำหนดเป้าหมายของตนเองในอนาคต เช่น การเรียนต่อ การทำงาน หากวัยรุ่นทำสิ่งใดผิดพลาด อาจช่วยสอน ตักเตือน และหาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้ทำผิดพลาดซ้ำ
  • ชมเชยและยกย่องวัยรุ่นที่ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างรอบคอบ หรือทำสิ่งที่ดีต่อตนเองและสังคม เช่น การทำความดี การช่วยเหลือผู้อื่น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cognitive Development. https://www.cincinnatichildrens.org/health/c/cognitive. Accessed July 6, 2022.

Cognitive Development in the Teen Years. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentTypeID=90&ContentID=P01594. Accessed July 6, 2022.

The Growing Child: Adolescent 13 to 18 Years. https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/the-growing-child-adolescent-13-to-18-years. Accessed July 6, 2022.

The Growing Child: Teenager (13 to 18 Years). https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=the-growing-child-adolescent-13-to-18-years-90-P02175. Accessed July 6, 2022.

Growth and Your 13- to 18-Year-Old. https://kidshealth.org/en/parents/growth-13-to-18.html. Accessed July 6, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความรุนแรง ส่งผลต่อ วัยรุ่น อย่างไรบ้าง

วัยรุ่น ควรนอนมากน้อยแค่ไหนถึงจะส่งผลดีต่อสุขภาพ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา