backup og meta

วัยรุ่นชาย การเจริญเติบโตและปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง

วัยรุ่นชาย การเจริญเติบโตและปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง

วัยรุ่นชาย อาจเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้ากว่าวัยรุ่นหญิง และมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมมากขึ้น รวมถึงอาจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ เช่น ความปลอดภัยทางเพศ การใช้สารเสพติด ความรุนแรง พฤติกรรมเสี่ยง ปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งการรู้ถึงพัฒนาการและการเจริญเติบโตของวัยรุ่นชาย ควบคู่ไปกับการดูแลอย่างใกล้ชิดช่วยป้องกันปัญหาวัยรุ่นที่อาจเกิดขึ้นได้

[embed-health-tool-bmi]

การเจริญเติบโตของ วัยรุ่นชาย

เด็กผู้ชายจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเมื่ออายุประมาณ 9-14 ปี ซึ่งจะช้ากว่าเด็กผู้หญิงประมาณ 2 ปี โดยจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ดังนี้

  • มีการขยายของอัณฑะ ถุงอัณฑะ และองคชาต
  • มีขนอ่อนงอกและยาวขึ้นบริเวณหัวหน่าวและรอบ ๆ อวัยวะเพศ เมื่อเวลาผ่านไปขนจะมีสีเข้มขึ้น หยาบ ขดงอและมีปริมาณเพิ่มขึ้น ขนของวัยรุ่นชายบางคนอาจกระจายไปถึงต้นขาหรือบริเวณหน้าท้อง
  • ขนจะเริ่มขึ้นบริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ใบหน้า แขน ขา นิ้ว รักแร้
  • องคชาตจะขยายใหญ่ขึ้นเต็มที่และเริ่มมีการแข็งตัวของอวัยวะเพศ เนื่องจากมีการไหลเวียนของเลือดไปยังองคชาตมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่วัยรุ่นชายมีความคิดเรื่องเพศ
  • อัณฑะจะเริ่มสร้างน้ำอสุจิที่ประกอบด้วยตัวอสุจิและน้ำหล่อเลี้ยงต่าง ๆ ซึ่งวัยรุ่นชายอาจมีการหลั่งน้ำอสุจิออกมานอกร่างกายในระหว่างที่อวัยวะเพศแข็งตัว และสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาที่นอนหลับ หรือที่เรียกว่า ฝันเปียก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของวัยเจริญพันธุ์ และหากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ก็สามารถทำให้ฝ่ายหญิงเกิดการตั้งครรภ์ได้
  • ขนาดร่างกายจะขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งเท้า แขน และขา อาจเจริญเติบโตเร็วกว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
  • วัยรุ่นชายบางคนอาจมีอาการบวมที่เต้านม เนื่องจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงวัยรุ่น แต่อาการนี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
  • เริ่มมีเสียงแตกหนุ่ม โดยเสียงจะทุ้มลึกและหนาขึ้น ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเสียงจะเริ่มเข้าที่มากขึ้น
  • ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงมากในช่วงแรกของวัยรุ่นชาย อาจทำให้ผิวมันและเหงื่อออกมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดสิวได้ง่าย

สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ อารมณ์ และสังคมของวัยรุ่นชาย อาจมีดังนี้

  • มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดในเชิงนามธรรมมากขึ้น โดยมีกระบวนการคิด วิเคราะห์และการแก้ปัญหาในรายละเอียดที่ลึกซึ้งมากขึ้น และสามารถคาดการณ์ผลของการกระทำที่ตามมาได้
  • มีความคิดถึงหลักปรัชญา การเมือง และปัญหาทางสังคมในวงกว้างมากขึ้น
  • ตั้งเป้าหมายในอนาคต
  • มีความคิดเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนหรือคนรอบข้าง ในเรื่องของรูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ สภาพสังคม ฐานะทางบ้าน และอื่น ๆ
  • มีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น และต้องการความเป็นอิสระจากพ่อแม่
  • ต้องการความสนใจจากคนรอบข้าง และต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน
  • มีความสนใจเรื่องความสัมพันธ์แบบคู่รัก และมีความสนใจเรื่องเพศมากขึ้น

วัยรุ่นชาย มีปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง

ปัญหาสุขภาพของวัยรุ่นชายที่อาจกระทบต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ มีดังนี้

  • การเข้าสู่วัยแรกรุ่นล่าช้า อาจทำให้อัณฑะและความยาวขององคชาตมีการพัฒนาช้ากว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ทำให้เกิดความทุกข์ทางอารมณ์ในภาพลักษณ์ของตนเอง จนอาจทำให้ความนับถือตัวเองลดลง
  • การเข้าสู่วัยแรกรุ่นเร็วเกินไป อาจทำให้อัณฑะและองคชาตของวัยรุ่นชายมีการขยาย หรือมีรูปร่างหน้าตาที่โตกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้วัยรุ่นเกิดความกังวลใจ และขาดความมั่นใจ เมื่อถูกเปรียบเทียบกับเพื่อน
  • ภาวะผู้ชายมีนม (Gynecomastia) อาจพบได้บ่อยในวัยรุ่นชายที่มีการพัฒนาของเต้านมมากกว่าปกติ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความอับอายและความกังวลภายในจิตใจ
  • การใช้สารเสพติด วัยรุ่นชายอาจมีความเสี่ยงในการใช้สารเสพติดมากกว่าวัยรุ่นหญิง เช่น กัญชา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
  • ความรุนแรงและพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย การกลั่นแกล้งและความรุนแรงมักเกิดขึ้นในวัยรุ่นชาย ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะกลายไปเป็นอาชญากรรมในอนาคต
  • ปัญหาการเจริญพันธุ์และรสนิยมทางเพศ วัยรุ่นชายอาจเริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน จนอาจเกิดปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมและติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • โรคสมาธิสั้น วัยรุ่นชายอาจมีแนวโน้มเป็นโรคสมาธิสั้นมากกว่าวัยรุ่นหญิง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้ปัญหานี้มีแนวโน้มที่จะพัฒนารุนแรงขึ้น จนอาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคต่อต้านสังคม ความผิดปกติทางพฤติกรรม การใช้สารเสพติด ละทิ้งหน้าที่ของตนเอง ความขัดแย้งในครอบครัวและเพื่อน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Adolescent male health. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2528816/. Accessed September 14, 2022

How much will my teen grow?. https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/puberty-adolescent-male. Accessed September 14, 2022

Adolescent and young adult health. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/adolescents-health-risks-and-solutions. Accessed September 14, 2022

Emerging Issues in Male Adolescent Sexual and Reproductive Health Care. https://publications.aap.org/pediatrics/article/145/5/e20200627/36805/Emerging-Issues-in-Male-Adolescent-Sexual-and?autologincheck=redirected?nfToken=00000000-0000-0000-0000-000000000000. Accessed September 14, 2022

Male Adolescent Sexual and Reproductive Health Care. https://publications.aap.org/pediatrics/article/128/6/e1658/31153/Male-Adolescent-Sexual-and-Reproductive-Health?autologincheck=redirected?nfToken=00000000-0000-0000-0000-000000000000. Accessed September 14, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/10/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

การเปลี่ยนแปลงทางเพศ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น มีอะไรบ้าง

วัยรุ่นอายุเท่าไหร่ และปัญหาสุขภาพที่ควรให้ความสำคัญ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา