backup og meta

Precocious puberty คือ ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย สังเกตได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    Precocious puberty คือ ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย สังเกตได้อย่างไร

    Precocious puberty คือ ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย เกิดจากการหลั่งฮอร์โมนเพศที่ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลง เช่น มีหน้าอก มีประจำเดือน มีหนวดขึ้น มีขนตามแขน ขา อวัยวะเพศ องคชาตและอัณฑะขยายใหญ่ขึ้น ตั้งแต่เด็กผู้หญิงมีอายุไม่ถึง 8 ปี และเด็กผู้ชายมีอายุไม่ถึง 9 ปี ส่งผลให้เด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก่อนวัยที่ควรจะเป็น อีกทั้งกระดูกและกล้ามเนื้อยังพัฒนารวดเร็วกว่าปกติจนหยุดพัฒนาก่อนเวลา ส่งผลให้เตี้ยกว่าที่ควรเนื่องจากร่างกายถูกเร่งให้โตเร็วเกินไป และอาจทำให้เด็กรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของตัวเองที่รวดเร็วเกินไป จนกระทบต่อสภาพจิตใจได้ด้วย

    หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าบุตรหลานมีอาการที่เข้าข่าย Precocious puberty ควรพาเด็กไปพบคุณหมอและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ  เพื่อช่วยให้เด็กกลับมามีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย

    Precocious puberty คือ อะไร

    ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย หรือ Precocious puberty คือ ภาวะที่เด็กมีพัฒนาการของกระดูก กล้ามเนื้อ ระบบสืบพันธุ์ รวมไปถึงมีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง ขนาด ความสูงของร่างกาย เร็วกว่าเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน ส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตไปเป็นวัยรุ่นก่อนวัยอันควร มักพบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชาย โดยปกติแล้วร่างกายของเด็กผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนอายุ 9-13 ปี ในขณะที่เด็กผู้ชายจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนอายุ 9-14 ปี แต่หากร่างกายของเด็กผู้หญิงเปลี่ยนแปลงก่อนอายุ 8 ปี และร่างกายของเด็กผู้ชายเปลี่ยนแปลงก่อนอายุ 9 ปี หมายความว่า มีภาวะ Precocious puberty หรือเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

    สาเหตุของ Precocious puberty คือ อะไร

    ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของ Precocious puberty คืออะไร แต่อาจเกิดจากพันธุกรรม ความผิดปกติของฮอร์โมน ความผิดปกติหรือการบาดเจ็บของสมอง เนื้องอก การติดเชื้อ เป็นต้น โดย Precocious puberty แบ่งออกได้ 2 ประเภท ได้แก่

    1. Central precocious puberty หรือภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยชนิดพึ่งโกนาโดโทรปิน (Gonadotropin) เป็นประเภทที่พบได้บ่อย เกิดจากต่อมใต้สมองทำงานก่อนเวลาอันควร และหลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปินที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมเพศ และกระตุ้นให้อัณฑะหรือรังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศอย่างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ทำให้ร่างกายของเด็กเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น นมตั้งเต้า เสียงแหบทุ้ม ขนขึ้นตามตัวและอวัยวะเพศ
    2. Peripheral precocious puberty หรือภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยชนิดไม่พึ่งโกนาโดโทรปิน เป็นประเภทที่พบได้น้อยกว่า และไม่ได้เกิดจากการสั่งการของสมองและต่อมใต้สมอง แต่อาจมีสาเหตุมาจากอวัยวะส่วนปลาย เช่น รังไข่ อัณฑะ ต่อมหมวกไต ทำงานผิดปกติ จนไปกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ทำให้เด็กเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป หรือการสัมผัสหรือได้รับฮอร์โมนเพศจากภายนอกจากการใช้ครีมหรือขี้ผึ้งเอสโตรเจนหรือเทสโทสเตอโรนได้ด้วย

    อาการของ Precocious puberty

    อาการของ Precocious puberty อาจมีดังนี้

    อาการในเด็กผู้หญิง

    • มีพัฒนาการของเต้านมก่อนอายุ 7-8 ปี
    • มีพัฒนาการด้านความสูงอย่างรวดเร็วในเวลาสั้น ๆ (Growth spurt) ก่อนอายุ 7-8 ปี
    • เริ่มมีประจำเดือนก่อนอายุ 10 ปี

    อาการในเด็กผู้ชาย

  • อัณฑะมีขนาดใหญ่ขึ้นก่อนอายุ 9 ปี
  • มีการแข็งตัวของอวัยวะเพศและมีการผลิตอสุจิก่อนอายุ 9 ปี
  • มีพัฒนาการด้านความสูงอย่างรวดเร็วในเวลาสั้น ๆ ก่อนอายุ 9 ปี
  • นอกจากนี้ อาการที่พบได้ทั่วไปดังต่อไปนี้ ก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยได้เช่นกัน

    • มีสิว
    • มีกลิ่นตัว
    • เสียงทุ้มขึ้น (ในเด็กผู้ชาย)
    • มีขนขึ้นร่างกาย บริเวณอวัยวะเพศ ใต้วงแขน หรือมีหนวดขึ้น

    วิธีรักษา Precocious puberty

    เป้าหมายของการรักษา Precocious puberty คือการหยุดภาวะเจริญเติบโตก่อนวัยไม่ให้พัฒนาไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ในบางกรณีอาจทำให้อาการบางอย่างหายไปและทำให้ร่างกายย้อนกลับไปเป็นปกติตามวัยได้ เช่น เต้านมของเด็กผู้หญิงมีขนาดลดลง องคชาตและลูกอัณฑะของเด็กผู้ชายหดตัวเป็นขนาดที่เหมาะสมตามวัย โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทของ Precocious puberty หากอาการเกิดจากต่อมใต้สมองทำงานเร็วเกินไป คุณหมอที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่ออาจวางแผนการรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง (Gonadotropin releasing hormone) หรือจีเอ็นอาร์เอช (GnRH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ช่วยยับยั้งกระบวนการปล่อยฮอร์โมนโกนาโดโทรปินที่กระตุ้นให้ร่างกายพัฒนาก่อนวัย ยิ่งวินิจฉัยพบ Precocious puberty ได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรักษาได้ผลดีมากขึ้นเท่านั้น

    หาก Precocious puberty เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย เช่น ซีสต์รังไข่ เนื้องอกรังไข่ เนื้องอกในเซลล์สืบพันธุ์ที่สร้างอสุจิหรือในเซลล์ที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย จนทำให้การผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนผิดปกติ คุณหมอจะรักษาภาวะสุขภาพที่เป็นต้นเหตุของ Precocious puberty เมื่อรักษาจนหายแล้ว จะช่วยหยุดพัฒนาการทางร่างกายที่เร็วผิดปกติของเด็กได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา