backup og meta

เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา สัญญาณเตือนและวิธีดูแล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา สัญญาณเตือนและวิธีดูแล

    เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติในพันธุกรรม ความพิการแต่กำเนิด เด็กกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ โดยเฉพาะจากคนในครอบครัว เนื่องจากครอบครัวเป็นพื้นฐานแรกที่อาจช่วยกระตุ้นพัฒนาการ และส่งเสริมสุขภาพจิตใจของเด็กให้ดีขึ้นได้ ซึ่งส่งผลดีต่อการบรรเทาความรุนแรงและควบคุมอาการที่พบในเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับวิธีดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเพิ่มเติม สามารถขอคำปรึกษาจากคุณหมอด้านพัฒนาการเด็กโดยตรง เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมยิ่งขึ้น

    ความบกพร่องทางสติปัญญาในเด็ก คืออะไร

    ความบกพร่องทางสติปัญญาในเด็ก คือ ภาวะที่เด็กมีระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและมีความผิดปกติด้านพฤติกรรมทางการปรับตัว โดยทักษะทางเชาวน์ปัญญา หรือความฉลาดทางปัญญา หรือที่เรียกว่าไอคิว (Intellectual functioning หรือ IQ) เป็นความสามารถในการเรียนรู้ การใช้เหตุผล การตัดสินใจ การแก้ปัญหา เป็นต้น ปกติแล้วคนทั่วไปมักได้คะแนนในการทดสอบระดับไอคิวระหว่าง 90-109 คนที่ IQ 80-89 คือต่ำกว่าปกติเล็กน้อย แต่ยังสามารถเรียนรู้ได้ใกล้เคียงปกติ หากมีระดับต่ำกว่า 70-79 ถือว่ามีความบกพร่องทางสติปัญญา ส่วนพฤติกรรมทางการปรับตัว (Adaptive Behavior) ถือเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การสื่อสารหรือสื่อความหมาย การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การควบคุมตัวเอง การใช้เวลาว่าง การทำงาน ส่วนใหญ่แล้ว ความบกพร่องทางสติปัญญามักแสดงอาการก่อนอายุ 18 ปี

    ความบกพร่องทางสติปัญญาอาจเกิดจากการที่แม่ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติด หรือสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ ความผิดปกติในพันธุกรรม ความพิการแต่กำเนิด กลุ่มอาการดาวน์หรือดาวน์ซินโดรม กลุ่มอาการโครโมโซม X เปราะบาง (Fragile X) การบาดเจ็บบริเวณศีรษะรุนแรง โรคหลอดเลือดสมอง ที่ส่งผลกระทบต่อทักษะด้านการเรียนรู้ของเด็ก เป็นต้น

    สัญญาณเตือนภาวะบกพร่องทางสติปัญญาในเด็ก

    ความบกพร่องทางสติปัญญาในเด็ก สังเกตได้จากพฤติกรรมหรือภาวะดังต่อไปนี้

    • มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและการเรียนรู้ เช่น นั่ง คลาน หัดเดิน พูด หยิบจับสิ่งของ ช้ากว่าเด็กทั่วไป
    • มีปัญหาในการจำจดสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
    • บอกไม่ได้ว่าด้านไหนคือด้านซ้ายหรือด้านขวาของตัวเอง
    • ไม่ค่อยเข้าใจคำแนะนำหรือกฎระเบียบต่าง ๆ
    • มีปัญหาด้านทักษะการแก้ไขปัญหา
    • ช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ดี เช่น แต่งตัว รับประทานอาหาร
    • มีปัญหาด้านการอ่าน เขียน คำนวณเมื่อเทียบกับวัยเดียวกัน
    • มีความผิดปกติด้านอารมณ์ เช่น หงุดหงิดง่าย โมโหรุนแรง

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญา

    เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาอาจขาดการเรียนรู้หรือเรียนรู้ได้ช้ากว่าปกติ ผลกระทบจากการเรียนรู้ได้ช้า เด็กมักรู้สึกหงุดหงิดตัวเองเมื่อไม่สามารถทำในสิ่งที่ต้องการได้อย่างคล่องตัว หรือไม่ได้ดั่งใจต้องการ จนอาจล้มเลิกความตั้งใจหรือไม่พยายามทำสิ่งนั้น ๆ ต่อ อีกทั้งความบกพร่องทางสติปัญญายังอาจส่งผลให้เด็กถูกกลั่นแกล้งด้วยการกระทำหรือคำพูด ซึ่งอาจกระทบต่อจิตใจ ทำให้เด็กเครียดหรือซึมเศร้า จนอาจถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายได้

    วิธีดูแล เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

    วิธีดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีดังนี้

    • ส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา พฤติกรรม ภาษา และกายภาพ ควรพาเด็กเข้ารับการฟื้นฟูและกระตุ้นพัฒนาการ ซึ่งคุณหมอจะจัดโปรแกรมบำบัดที่เหมาะสมกับอาการและช่วงวัยของเด็ก ดังนี้
      • เด็กแรกเกิดถึง 6 ปี อาจทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ข้อต่อต่าง ๆ ทั้งข้อเล็กและข้อใหญ่ แขน ขา และลำตัว กระตุ้นให้เด็กมีการเคลื่อนไหวที่ดี และอาจกระตุ้นให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น การจับสิ่งของอย่างช้อน แปรงสีฟัน และการฝึกให้เปล่งเสียง ออกเสียง
      • เด็กช่วงอายุ 7-15 ปี เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนและรูปแบบการสอนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา อย่างไรก็ตาม เด็กอาจจำเป็นต้องได้รับการบำบัดเพิ่มเติมจากคุณหมอด้วย
      • เด็กช่วงอายุ 15-18 ปี คุณหมออาจฝึกพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการเข้าสังคม เช่น การปฏิบัติตามคำสั่ง วินัยการตรงต่อเวลา มารยาทในสังคม การรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น เพื่อให้เด็กใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน
  • ส่งเสริมการทำกิจกรรมที่เพิ่มทักษะการเข้าสังคม เช่น การเรียนศิลปะเป็นกลุ่ม
  • กระตุ้นให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของคนในครอบครัว เพื่อป้องกันอันตราย
  • มีส่วนร่วมกับการฝึกฝนตามที่คุณหมอแนะนำ เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้เด็กเมื่ออยู่ที่บ้าน
  • ให้ความรัก ความอบอุ่นแก่เด็ก จะช่วยให้เด็กรู้สึกถึงความมั่นคง และเป็นการส่งเสริมกำลังใจให้เด็กอยากเรียนรู้มากยิ่งขึ้น
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา