backup og meta

ฉีดวัคซีน และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สำคัญต่อสุขภาพอย่างไร

ฉีดวัคซีน และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สำคัญต่อสุขภาพอย่างไร

ฉีดวัคซีน เป็นการฉีดแอนติเจน (Antigen) หรือสารก่อภูมิต้านทาน เข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยวัคซีนจะช่วยป้องกันและลดโอกาสอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง ทั้งนี้ ก่อนได้รับการฉีดวัคซีนชนิดใดก็ตาม ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้วัคซีนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ฉีดวัคซีน ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันอย่างไร

การฉีดวัคซีน เป็นวิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคเพื่อลดความเสี่ยงจากอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงจากโรค ด้วยการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่าง ๆ ก่อนร่างกายจะเผชิญกับเชื้อนั้นจริง ๆ

เมื่อถูกฉีดวัคซีนเข้าร่างกาย แอนติเจนในวัคซีน จะไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างโปรตีนแอนติบอดี (Antibody) ขึ้นมา เพื่อจดจำและต่อสู้กับเชื้อชนิดนั้น ๆ และเมื่อพบเชื้อชนิดเดิมในภายหลัง ร่างกายจะรีบกำจัดเชื้อนั้น

ก่อนที่เชื้อจะทำให้เกิดโรค โอกาสเจ็บป่วยจากเชื้อชนิดนั้นจึงลดลง ร่างกายไม่เป็นพาหะของโรค และเป็นการตัดวงจรระบาดของเชื้อไปด้วยในขณะเดียวกัน

ทั้งนี้ นอกจากสารก่อภูมิต้านทานแล้ว วัคซีน 1 เข็มยังประกอบด้วย

  • สารเสริมภูมิคุ้มกัน (Adjuvants) หรือสารกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้ตอบสนองต่อวัคซีนได้ดียิ่งขึ้น
  • สารลดแรงตึงผิว (Surfactant) เหรือสารซึ่งช่วยให้สารต่าง ๆ ในวัคซีนยังคงรวมกันเป็นเนื้อเดียวกัน และไม่จับตัวเป็นก้อน
  • สารกันเสีย (Preservatives) คือสารป้องกันวัคซีนหมดอายุ เสื่อมคุณภาพ หรือปนเปื้อน โดยสารกันเสียซึ่งนิยมใช้กันคือ พีน็อกซี่เอทานอล (Phenoxyethanol)
  • สารทำให้คงตัว (Stabilizers) เช่น น้ำตาล กรดอะมิโน เจลาติน โปรตีน ซึ่งช่วยไม่ให้วัคซีนไปเกาะอยู่ข้างใดข้างหนึ่งของภาชนะที่ห่อหุ้ม หรือเกิดปฏิกิริยาเคมีไม่พึงประสงค์ ขณะขนส่งหรือจัดเก็บวัคซีน

ฉีดวัคซีน สามารถป้องกันโรคอะไรได้บ้าง

ปัจจุบัน มีโรคไม่น้อยซึ่งป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน วัคซีนบางชนิดจำเป็นต้องได้รับการฉีดมากกว่าหนึ่งเข็ม โดยวัคซีนป้องกันโรคแต่ละโรค ควรได้รับในช่วงอายุดังต่อไปนี้

ตั้งแต่แรกเกิด

  • โรคไวรัสตับอักเสบบี

ช่วงอายุ 2 เดือน

  • โรคไวรัสโรต้า
  • โรคคอตีบ
  • โรคบาดทะยัก
  • โรคไอกรน
  • โรคฮิบ (Haemophilus Influenzae Type B หรือ HIB)
  • โรคโปลิโอ

ช่วงอายุ 6 เดือน ขึ้นไป

  • ไข้หวัดใหญ่ (สามารถฉีดซ้ำได้เป็นประจำทุกปี)

ช่วงอายุ 12-15 เดือนขึ้นไป

  • โรคหัด
  • โรคหัดเยอรมัน
  • โรคคางทูม
  • โรคอีสุกอีใส

ช่วงอายุ 12-23 เดือน

  • โรคไวรัสตับอักเสบเอ

ช่วงอายุ 5  ปี ขึ้นไป

  • โรคโควิด-19 (ควรได้รับการฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม และเข็มกระตุ้นตามลำดับห่างกันประมาณ 3-4 เดือนแตกต่างกันไปตามวัคซีนแต่ละยี่ห้อ และตามคำแนะนำของคุณหมอ)

ช่วงอายุ 11-12 ปี

  • โรคจากไวรัสเอชพีวี (Human papillomavirus หรือ HPV)

ช่วงอายุ 16-18 ปี

  • โรคไข้กาฬหลังแอ่น

ช่วงอายุ 19 ปี ขึ้นไป

  • โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcal Disease)

ช่วงอายุ 50 ปี

  • โรคงูสวัด

ฉีดวัคซีน ปลอดภัยหรือไม่

วัคซีนมักมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากผ่านการทดสอบทั้งในห้องปฏิบัติการและกับอาสาสมัครจำนวนมากมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งผ่านการรับรองโดยหน่วยงานสาธารณสุขระดับประเทศ หรือระดับสากล ก่อนได้รับอนุญาตให้ขายหรือฉีดให้บุคคลทั่วไป อย่างไรก็ตาม วัคซีนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือก่อให้เกิดอาการแพ้ในผู้ที่ได้รับวัคซีนบางรายได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ โรคประจำตัว ระบภูมิคุ้มกัน ความแข็งแรงของร่างกาย ทั้งนี้ วัคซีนจะมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ประสิทธิภาพของวัคซีน

วัคซีนไม่สามารถป้องกันโรคต่าง ๆ ได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จะช่วยลดโอกาสในการเกิดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง หรือเสียชีวิต โดยทั่วไป ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโดยเฉลี่ยของวัคซีนแต่ละชนิดจะอยู่ราว ๆ 86-95 เปอร์เซ็นต์

ในส่วนของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 70-90 เปอร์เซ็นต์ แตกต่างกันไปตามวัคซีนแต่ละยี่ห้อ

ใครบ้างควรฉีดวัคซีน

เด็กทารกส่วนใหญ่มักได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพื้นฐาน กระทั่งเติบโตเป็นวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ก็ยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนบางชนิด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากเชื้อโรคที่อาจสร้างให้เกิดความเจ็บป่วยอย่างร้ายแรงได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ วัคซีนโควิด-19 ถือเป็นวัคซีนที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ช่วยในการป้องกันความเจ็บป่วยที่รุนแรงและการเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ต่อสารซึ่งเป็นส่วนประกอบของวัคซีน หรือมีประวัติแพ้รุนแรงกับวัคซีนเข็มแรก (ในกรณีของวัคซีนซึ่งต้องฉีด 2 เข็มขึ้นไป) จะไม่สามารถรับวัคซีนได้ เนื่องจากเสี่ยงเผชิญกับผลข้างเคียงชนิดรุนแรง หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนชนิดใดก็ตาม

นอกจากนี้ ผู้มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งหรือภาวะสุขภาพบางอย่าง ควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอประจำตัวก่อนฉีดวัคซีน

ผลข้างเคียงซึ่งอาจพบได้จากการฉีดวัคซีน

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนถือเป็นเรื่องปกติ และมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หรือราว 2-3 วัน แล้วหายไปเอง ทั้งนี้ ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยหลังฉีดวัคซีนชนิดต่าง ๆ ได้แก่

  • แขนข้างที่ฉีดวัคซีนบวม แดง หรือปวดเล็กน้อย
  • รู้สึกไม่สบาย เป็นไข้
  • คลื่นไส้ อาเจียน

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ในกรณีของภาวะแพ้รุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องไปหาคุณหมอทันที คือ

  • หายใจลำบาก
  • ความดันโลหิตลดลง
  • ลิ้นหรือคอบวม
  • เป็นผื่นตามร่างกาย

การฉีดวัคซีนกับภูมิคุ้มกันหมู่  

ภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) หมายถึง การมีภูมิคุ้มกันต่อโรคติดต่อในคนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อ อันส่งผลให้โอกาสป่วยด้วยโรคดังกล่าวในประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งน้อยลงหรืออยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ สัดส่วนการได้รับวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในแต่ละโรคนั้นแตกต่างกัน สำหรับโรคหัด ประชากรร้อยละ 94-95 ควรได้รับวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ขณะที่ในกรณีของโรคโปลิโอ ประชากรควรได้รับวัคซีนเพียงร้อยละ 80 เท่านั้น

สำหรับโรคโควิด-19 ประชากรควรได้รับวัคซีนเท่าใดจึงทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้นั้นยังไม่สามารถระบุได้ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ของโรคโควิด-19 อยู่

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaccines and immunization: What is vaccination?. https://www.who.int/news-room/questions-and-answers/item/vaccines-and-immunization-what-is-vaccination#:~:text=30%20August%202021.-,What%20is%20vaccination%3F,makes%20your%20immune%20system%20stronger. Accessed April 7, 2022

Why vaccination is safe and important. https://www.nhs.uk/conditions/vaccinations/why-vaccination-is-safe-and-important/. Accessed April 7, 2022

Allergic Reactions after COVID-19 Vaccination. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/safety/allergic-reaction.html#:~:text=Severe%20allergic%20reactions%20to%20vaccines,medical%20care%20by%20calling%20911.&text=a%20generalized%20rash%20or%20hives%2C%20which%20may%20include%20mucus%20membranes. Accessed April 7, 2022

What are the vaccines’ side effects?. https://www.mayoclinic.org/coronavirus-covid-19/vaccine-side-effects. Accessed April 7, 2022

How vaccines work. https://vaccination-info.eu/en/vaccine-facts/how-vaccines-work. Accessed April 7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/12/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัคซีน เด็ก ที่ควรได้รับ และเคล็ดลับไม่ให้ลูกงอแงตอนรับวัคซีน

วัคซีนมีความสำคัญอย่างไร และสามารถเข้ารับวัคซีน ได้ที่ไหนบ้าง?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 19/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา