backup og meta

วัคซีนมีความสำคัญอย่างไร และสามารถเข้ารับวัคซีน ได้ที่ไหนบ้าง?

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 11/04/2022

    วัคซีนมีความสำคัญอย่างไร และสามารถเข้ารับวัคซีน ได้ที่ไหนบ้าง?

    การรับวัคซีน สามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ให้เรียนรู้และเตรียมพร้อมต่อสู้กับเชื้อโรคก่อนที่ร่างกายจะได้รับเชื้อ เมื่อเชื้อโรคชนิดนั้นเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง ร่างกายก็จะสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

    การรับวัคซีนสำคัญอย่างไร

    การฉีดวัคซีน อาจช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้สนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคร้ายแรง โดยเมื่อระบบภูมิคุ้มกันตรวจพบซากเชื้อหรือเชื้อโรคที่ผ่านการดัดแปลงจนอ่อนแอลงภายในวัคซีน ก็จะสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาจัดการกับเชื้อโรคนั้น ทำให้เมื่อได้รับเชื้อจริง ร่างกายก็จะสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นได้ทันที และลดโอกาสการเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

    นอกจากนี้ การรับวัคซีนสามารถป้องกันการแพร่กระจายของโรคไปยังบุคคลอื่นที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และยังอาจช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและการเกิดโรคในผู้อื่นได้อีกด้วย

    ข้อควรรู้เกี่ยวกับการรับวัคซีน

    จากข้อมูลของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ประเทศไทย ระบุว่า สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่แรกเกิด และควรเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด ดังนี้

    • วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี สามารถฉีดได้ตั้งแต่แรกเกิดภายใน 24 ชั่วโมง หลังคลอด
    • วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) สามารถฉีดได้ตั้งแต่แรกเกิด ก่อนจะออกจากโรงพยาบาล
    • วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี (DTP-HB) อาจเริ่มฉีดเมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน และเมื่ออายุ 1 ปี 6 เดือนอาจเปลี่ยนฉีดเพียงแค่วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยักและไอกรน (DTP) และฉีดอีกครั้งเมื่ออายุ 4 ปี
    • วัคซีนโปลิโอ (OPV) อาจได้รับวัคซีนชนิดหยอดตั้งแต่อายุ 2 เดือน เมื่ออายุ 4 เดือน อาจได้รับวัคซีนทั้งชนิดหยอดและชนิดฉีดพร้อมกัน จากนั้นเมื่ออายุได้ 6 เดือนจึงจะเปลี่ยนมาใช้รับวัคซีนชนิดหยอดเพียงอย่างเดียวเช่นเดิม และอาจจำเป็นต้องเข้ารับวัคซีนอีกครั้งเมื่ออายุ 1 ปี 6 เดือน สำหรับเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในช่วงอายุนี้ อาจเข้ารับวัคซีนได้เมื่อเด็กมีอายุ 7 ปี
    • วัคซีนโรคหัด คางทูมและหัดเยอรมัน (MMR) อาจได้รับตั้งแต่อายุ 9 เดือน และอาจได้รับอีกครั้งเมื่ออายุ 2 ปี 6 เดือน และอายุ 4 ปี
    • วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (LAJE) จะได้รับเมื่ออายุ 1 ปี และจะได้รับวัคซีนอีกครั้งเมื่ออายุ 2 ปี 6 เดือน สำหรับเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีในช่วงอายุนี้ อาจเข้ารับวัคซีนได้เมื่อเด็กมีอายุ 7 ปี
    • วัคซีนเอชพีวี (HPV) อาจได้รับวัคซีนเมื่ออายุได้ 11 ปีขึ้นไป และควรได้รับก่อนอายุ 45 ปี วัคซีนมีทั้งหมด 2 โดส ห่างกันโดสละ 6 เดือน อย่างไรก็ตามควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับวัคซีน

    นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนทางเลือกอื่น ๆ ที่สามารถเลือกฉีดเพิ่มเติมได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ได้แก่ วัคซีนโรต้า (Rotavirus) วัคซีนฮิบ (HIB) วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ พิษสุนัขบ้า และไข้กาฬหลังแอ่น รวมถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้เพื่อช่วยลดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อ สำหรับวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย มีด้วยกัน 4 ประเภท ดังนี้

    1. ไฟเซอร์ (Pfizer-BioNTech) อาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป โดยควรฉีดให้ครบ 2 โดส ห่างกันโดสละ 3-4 สัปดาห์
    2. โมเดอร์นา (Moderna) อาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยควรฉีดให้ครบ 2 โดส ห่างกันโดสละ 3-4 สัปดาห์
    3. แอสตราเซเนก้า (AstraZeneca) อาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยควรฉีดให้ครบ 2 โดส ห่างกันโดสละ 8-12 สัปดาห์

    สำหรับคนทั่วไปและผู้ที่เดินทางระหว่างประเทศบ่อยครั้ง ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง และวัคซีนอหิวาตกโรค หรือวัคซีนอื่น ๆ ที่แต่ละประเทศกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคประจำถิ่นของประเทศนั้น ๆ เมื่อเดินทางเข้าประเทศ

    นอกจากนี้ สตรีตั้งครรภ์ก็ควรได้รับวัคซีนตามที่คุณหมอกำหนดเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์ ซึ่งคุณหมออาจใช้วัคซีนที่มีเชื้อตายเพื่อความปลอดภัย อีกทั้งผู้สูงอายุและผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังควรแจ้งให้คุณหมอทราบก่อนรับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจ อาการแพ้วัคซีน ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและระบบการไหลเวียนของเลือด

    สถานที่ที่สามารถรับวัคซีนได้

    สามารถเข้ารับวัคซีนได้ตามสถานพยาบาลใกล้แหล่งที่อยู่อาศัย เช่น สถานีอนามัย คลินิก โรงพยาบาล สำหรับการรับวัคซีนโควิด-19 อาจจำเป็นต้องลงทะเบียนเพื่อจองคิวการฉีดวัคซีน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และสถานพยาบาลใกล้บ้าน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 11/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา