backup og meta

อาการลองโควิดในเด็ก สาเหตุและวิธีรักษาที่เหมาะสม

อาการลองโควิดในเด็ก สาเหตุและวิธีรักษาที่เหมาะสม

อาการลองโควิดในเด็ก (Long Covid) เป็นภาวะที่เด็กซึ่งหายจากโรคโควิด-19 แล้วยังมีอาการของโรคโควิด 19 อยู่หรือมีอาการใหม่ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การรักษาทำได้ด้วยการรักษาตามอาการ โดยทั่วไป อาการลองโควิดจะดีขึ้นภายใน 1-5 เดือน แม้ภาวะนี้จะไม่รุนแรง แต่ก็เป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่จำเป็นต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ทางที่ดีที่สุดคือ การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) หรือโรคโควิด 19 ตั้งแต่แรก ด้วยการให้เด็กฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ครบ 2 เข็ม และไปฉีดเข็มกระตุ้นตามคำแนะนำของคุณหมอ พร้อมกับรักษาสุขอนามัยให้ดี เช่น ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ

[embed-health-tool-vaccination-tool]

อาการลองโควิดในเด็ก เกิดจากอะไร

ในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าอาการลองโควิดในเด็กเกิดจากสาเหตุใด แต่พบว่าอาการนี้เกิดขึ้นบ่อยกับเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพบางประการ เช่น เด็กที่มีโรคอ้วน เด็กที่มีภาวะสุขภาพที่ทำให้ร่างกายจะอ่อนแอกว่าปกติ เช่น โรคหอบหืด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) ทั้งนี้ เด็กที่มีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลยเมื่อเป็นโรคโควิด 19 ก็สามารถเกิดอาการลองโควิดได้เช่นกัน

อาการลองโควิดในเด็ก เป็นอย่างไร

อาการลองโควิดในเด็ก เป็นภาวะที่เด็กซึ่งหายจากโรคโควิด 19 คือไม่มีเชื้ออยู่ในร่างกายแล้ว ยังคงมีอาการของโรคหลงเหลืออยู่ หรือบางกรณีก็อาจเกิดอาการผิดปกติที่ไม่เคยเป็นตอนป่วยเป็นโรคโควิด 19 และมักไม่สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุได้ ภาวะนี้มักพบในเด็กอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป โดยอาการอาจแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของโรคโควิด 19 ดังนี้

  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • วิงเวียนศีรษะเมื่อลุกขึ้นยืน
  • เจ็บคอ
  • ไอ
  • มีไข้
  • เจ็บหน้าอก
  • ใจสั่น
  • หายใจไม่สะดวก
  • ไม่ได้กลิ่นหรือไม่สามารถรับรสชาติได้ตามปกติ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปวดข้อต่อและกล้ามเนื้อ
  • ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
  • ไม่มีสมาธิ

วิธีรักษา อาการลองโควิดในเด็ก

ขณะนี้ยังไม่มีวิธีรักษาอาการลองโควิดแบบเฉพาะเจาะจง การรักษาโดยทั่วไปจึงเป็นการรักษาตามอาการและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเด็กให้ใกล้เคียงกับเด็กที่ไม่มีอาการลองโควิดมากที่สุด ในบางกรณีอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะรักษาจนหาย จึงมักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเด็ก ทำให้เด็กไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น ไม่ได้กลิ่นหรือรสชาติของอาหาร จนอาจทำให้ไม่อยากอาหารและเสี่ยงขาดสารอาหาร อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย จนไม่สามารถทำกิจกรรมในโรงเรียนได้ ซึ่งอาการเหล่านี้นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตแล้ว ยังอาจส่งผลต่อพัฒนาทางด้านสังคมของเด็กด้วย

วิธีดูแลเด็กที่มีอาการลองโควิดอย่างเหมาะสม

วิธีดูแลเมื่อเด็กมีอาการลองโควิด อาจมีดังนี้

  • ให้เด็กดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน
  • ดูแลสุขอนามัยของเด็กให้ดีอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปยังสถานที่ที่คนพลุกพล่านหรือเสี่ยงได้รับเชื้อโรค
  • ให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและมีภูมิต้านทานดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการพาเด็กเดินทางไกล เนื่องจากอาจทำให้เด็กเหนื่อยเกินไป
  • ให้เด็กพักผ่อนอย่างเพียงพอในตอนกลางคืนไม่น้อยกว่า 7-8 ชั่วโมง
  • สนับสนุนให้เด็กออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมทางกายเป็นประจำ เช่น เดินเล่นในสวนสาธารณะแถวบ้าน ทั้งนี้ ควรเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับสมรรถภาพทางกายของเด็กด้วย
  • หากเด็กมีอาการเจ็บป่วยที่รักษาเบื้องต้นด้วยการรับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่หาย ควรพาเด็กไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุเพิ่มเติมและรับการรักษาที่เหมาะสม

ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของโรคโควิด 19 ในเด็ก

นอกจากอาการลองโควิดแล้ว ยังมีภาวะแทรกซ้อนหลังหายจากโรคโควิด 19 อีกชนิดหนึ่งที่มักเกิดในเด็ก เรียกว่า ภาวะมิสซี (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children หรือ MIS-C) ซึ่งเป็นภาวะอักเสบทั่วร่างกายที่เกิดจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคโควิด 19 สูงเกินไป และปล่อยสารชักนำการอักเสบออกมามากจนส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น หัวใจ หลอดเลือด เกิดการอักเสบ และมีอาการเบื้องต้น เช่น มีไข้ มีผื่นคัน อ่อนเพลีย ตาแดง อาเจียน ท้องเสีย แม้ภาวะนี้จะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่หากอาการอักเสบรุนแรงอาจทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ยาก เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด ไตทำงานผิดปกติ หรือเกิดภาวะอื่น ๆ ที่เสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

หากพบว่าเด็กที่หายจากโรคโควิด 19 มีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของอาการลองโควิด ภาวะมิสซี หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ควรพาไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะสำคัญในร่างกาย โดยเฉพาะหัวใจและหลอดเลือด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Long COVID-19 in Children. https://www.webmd.com/lung/long-covid-19-children#1. Accessed October 11, 2022

What parents need to know about long COVID in children. https://www.unicef.org/parenting/health/long-COVID-children. Accessed October 11, 2022

Recovering From COVID – Including Long COVID. https://www.kidshealth.org.nz/recovering-covid-including-long-covid. Accessed October 11, 2022

COVID-19 in babies and children. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/coronavirus/in-depth/coronavirus-in-babies-and-children/art-20484405. Accessed October 11, 2022

First research definition for ‘Long COVID’ in children and young people. https://www.gosh.nhs.uk/news/first-research-definition-for-long-covid-in-children-and-young-people/. Accessed October 11, 2022

MIS-C and COVID-19: Uncommon but Serious Inflammatory Syndrome in Kids and Teens. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/coronavirus/misc-and-covid19-rare-inflammatory-syndrome-in-kids-and-teens. Accessed October 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/12/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

7 การดูแลตัวเองหลังติด COVID-19 มีอาการลองโควิดต้องทำอย่างไร?

ผื่นโควิดคันไหม อาการทางผิวหนังของโรคโควิด 19


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา