backup og meta

ผื่นโควิดคันไหม อาการทางผิวหนังของโรคโควิด 19

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    ผื่นโควิดคันไหม อาการทางผิวหนังของโรคโควิด 19

    โควิค 19 เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ยังคงระบาดอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีแนวทางการรักษาที่ดีมากขึ้น แต่ก็ยังอาจทำให้เกิดผลกระทบในด้านต่าง ๆ เช่น ผื่นโควิด ที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด 19 และอาจเกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อโควิด 19 อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเกิดข้อสงสัยว่า ผื่นโควิดคันไหม สาเหตุของการเกิดผื่นคืออะไร ลักษณะของผื่นเป็นอย่างไร ซึ่งการรู้ถึงอาการ สาเหตุ และลักษณะของผื่นโควิด อาจช่วยให้ดูแลผิวได้อย่างเหมาะสมและอาจช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้

    อาการทางผิวหนังของโควิด 19

    อาการทางผิวหนังอาจเป็นสัญญาณแรกของโควิด 19 หรืออาจเป็นอาการลองโควิด (Long Covid) ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อโควิด 19 ที่อาจทำให้ผู้ป่วยบางคนมีอาการผื่นขึ้นตามผิวหนัง โดยผื่นอาจแสดงลักษณะอาการหลายรูปแบบ ดังนี้

    • ผดผื่นแดงขนาดเล็ก (Morbilliform Rash) เป็นลักษณะผื่นที่อาจพบได้บ่อยในผู้ป่วยโควิด 19 คล้ายไข้ออกผื่น พบผื่นแบบนี้ได้บ่อยที่สุด ที่มีอาการไม่รุนแรง ส่งผลให้เกิดผดผื่นสีแดงขนาดเล็กคล้ายผดร้อน และอาจเกิดขึ้นได้ทั่วบริเวณผิวหนังบนร่างกายโดยเฉพาะแขนและขา
    • ผื่นนิ้วเท้าจากโควิด (Covid Toes) มักพบในเด็กเล็กที่ติดเชื้อโควิด มีลักษณะเป็นผื่นแดง นูน บวมและคัน ลักษณะคล้ายปฏิกิริยาทางผิวหนังเมื่อสัมผัสกับอุณหภูมิหนาวเย็น แสดงถึงอาการผิดปกติของเส้นเลือด มักเกิดขึ้นบริเวณเท้าและนิ้วเท้า
    • ลมพิษ (Urticaria) มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 หรืออาจเป็นอาการลองโควิด มีอาการคล้ายผื่นลมพิษทั่วไป โดยผื่นจะมีลักษณะบวม นูน เป็นแผ่นขนาดใหญ่หรืออาจเป็นจุดเล็ก ๆ กระจายเป็นวงกว้าง มักพบบริเวณลำตัว แขนและขา
    • ผื่นตุ่มน้ำใส (Papulovesicular Exanthem) มีลักษณะเป็นผดผื่นสีแดง มีตุ่มน้ำใส กระจายทั่วลำตัว แสดงถึงอาการผิดปกติของเส้นเลือด คล้ายโรคสุกใส มีอาการคัน ไม่เจ็บปวด นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายยังอาจมีอาการผื่นที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น สับสน มึนงง ปวดหัว ไม่ได้กลิ่น
    • ผื่นจากเส้นเลือดอักเสบ (Purpuric Vasculitic Pattern) พบได้ในผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรงมาก ส่งผลให้เส้นเลือดอักเสบและเกิดเป็นผื่นที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูน สีม่วงแดง ซึ่งมักพบในผู้ป่วยสูงอายุเพศชายมากกว่าเพศหญิง
    • ผื่นแดงคล้ายตาข่าย (Livedo Reticularis) พบได้บ่อยในผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรงปานกลาง เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดช้าจนทำให้เกิดผื่นที่มีลักษณะเป็นร่างแหหรือตาข่าย ขอบสีเข้ม ตรงกลางสีอ่อน กระจายทั่วผิวหนัง

    นอกจากนี้ ในผู้ป่วยโควิด 19 บางคนอาจมีอาการทางผิวหนังอื่น ๆ เกิดขึ้นได้ เช่น ผมร่วง อาการผื่นแพ้สัมผัสจากการแพ้แอลกอฮอล์ล้างมือ สิวขึ้นจากการแพ้หน้ากากอนามัย

    ผื่นโควิดคันไหม

    หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า อาการผื่นโควิดคันไหม ซึ่งผื่นโควิดนั้นมีหลายลักษณะและอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ โดยผื่นโควิดบางลักษณะก็อาจก่อให้เกิดอาการคันได้ เช่น ผื่นลมพิษ ผื่นตุ่มน้ำใส ผื่นนิ้วเท้าจากโควิด ผดผื่นแดงขนาดเล็ก เนื่องจากเป็นลักษณะของผื่นที่อาจเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานเพื่อต้านเชื้อไวรัสในร่างกาย จนแสดงออกเป็นอาการทางผิวหนัง เช่น ผดผื่นแดง คัน บวม เจ็บปวด

    สำหรับผู้ป่วยโควิดที่เกิดผื่นจากเส้นเลือดอักเสบหรือผื่นแดงคล้ายตาข่าย อาจไม่มีอาการคันเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นลักษณะของผื่นที่เกิดขึ้นจากการอักเสบของเส้นเลือด และการไหลเวียนของเลือดที่ช้าลง

    วิธีดูแลผิวเมื่อเป็นผื่นโควิด

    ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดและมีอาการผื่นโควิด หรืออาการทางผิวหนังอื่น ๆ ส่วนใหญ่อาการผื่นมักจะเกิดขึ้นประมาณ 2-12 วัน และอาจหายไปเอง ดังนั้น การดูแลสุขภาพผิวอยู่เสมอจึงอาจช่วยป้องกันอาการผื่นลุกลามหนักขึ้น ดังนี้

  • รักษาความสะอาดของผิวหนังเป็นประจำ โดยการอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือเมื่อกลับมาจากข้างนอกที่อาจเสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อโรค
  • ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
  • ทาครีมบำรุงผิวเพื่อให้ความชุ่มชื้นและกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ในผิว ซึ่งอาจช่วยให้เกราะป้องกันผิวหนังมีสุขภาพแข็งแรงและป้องกันการติดเชื้อได้ดีขึ้น
  • เข้าพบคุณหมอเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพผิว โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคปลายประสาทอักเสบ โรคผิวหนัง ที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา