เด็กมีกลิ่นปาก เป็นปัญหาที่พบบ่อย โดยเฉพาะในเด็กวัยเตาะแตะ ปัญหากลิ่นปากในเด็กอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การแปรงฟันไม่ถูกต้อง คราบหินปูน เศษอาหารตกค้าง จุกนมหลอก หรือการติดเชื้อภายในช่องปาก ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุและวิธีการดูแลช่องปากอย่างเหมาะ เพื่อช่วยป้องกันปัญหากลิ่นปากในเด็ก
สาเหตุที่ทำให้เด็กมีกลิ่นปาก
1. การแปรงฟันของเด็ก
สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึง คือ การแปรงฟันของเด็ก เพราะถ้าหากเด็กไม่ได้แปรงฟันทุกวัน วันละ 2 ครั้ง และแปรงฟันผิดวิธี เช่น แปรงแค่บริเวณฟันหน้าเพียงอย่างเดียว ก็อาจทำให้มีเศษอาหารหลงเหลืออยู่ตามซอกฟัน บวกกับมีแบคทีเรียในช่องปาก อาจจะทำให้ฟันผุ จนทำให้เกิดปัญหากลิ่นปากในที่สุด
2. ปัญหาคราบหินปูน
คราบหินปูน (Plaque) ไม่ได้เกิดแค่เฉพาะกับผู้ใหญ่ เด็กก็สามารถมีคราบหินปูนได้เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกแปรงฟันทุกวันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ (Fluoride) เพราะจะช่วยป้องกันฟันผุ และยังช่วยป้องกันคราบหินปูนด้วย
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขภาพช่องปากของเด็ก โดยให้ลูกแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง คือ ก่อนกินอาหารเช้า และหลังจากกินอาหารเย็น หรือเวลาตื่นนอนและก่อนเข้านอน นอกจากนี้ ถ้าลูกยังอยู่ในวัยเตาะแตะ การให้ลูกนั่งตัก และคุณพ่อคุณแม่ช่วยลูกแปรงฟัน ก็จะช่วยทำให้แปรงฟันได้สะดวกขึ้น
3. ปากแห้ง
ปากแห้งสามารถทำให้เกิดปัญหากลิ่นปากได้ โดยบางครั้งลูกอาจจะมีอาการป่วย จนทำให้หายใจไม่สะดวก เลยต้องหายใจทางปาก ก็อาจทำให้เด็กมีอาการปากแห้งได้ แล้วถ้าลูกของคุณชอบดูดนิ้ว หรือดูดผ้าห่ม ก็มีแนวโน้มว่าจะมีอาการปากแห้ง ซึ่งส่งผลให้แบคทีเรียในช่องปากเติบโตได้ดี
นอกจากนี้ ถ้าเด็กมีอาการป่วยก็มีแนวโน้มว่าแบคทีเรียในช่องปาก จะยิ่งทำให้มีปัญหากลิ่นปากมากขึ้น เพราะว่าทั้งอาการป่วย และอาการปากแห้ง สามารถทำให้แบคทีเรียในช่องปากเจริญเติบโตได้ดี และร่างกายเด็กอาจผลิตเสมหะในคอมากขึ้น รวมถึงมีน้ำลายในช่องปากน้อยลง ก็ส่งผลให้มีปัญหากลิ่นปากในที่สุด
4. แปรงสีฟัน
ควรเลือกใช้แปรงสีฟันสำหรับเด็ก ที่มีขนาดเหมาะสมกับปากของลูก และควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก ๆ 3 เดือน ส่วนเวลาแปรงฟัน คุณพ่อคุณแม่ควรค่อย ๆ แปรงฟันของลูกไปทีละซี่
ไม่ควรแปรงฟันในลักษณะลากแปรงสลับซ้าย-ขวา เพราะอาจทำให้เหงือกของเด็กเสียหายได้ เวลาแปรงฟันควรโฟกัสไปที่การทำความสะอาดฟันแต่ละซี่ ค่อยๆ ปัดขึ้น-ลงไปทีละซี่ จากขอบเหงือกไปหาปลายฟัน ทั้งด้านในและด้านนอก
5. สาเหตุมาจากการติดเชื้อ
ถ้าเด็กมีอาการติดเชื้อ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ ก็สามารถทำให้มีกลิ่นปากได้ รวมถึงมีอาการอื่น ๆ เช่น เจ็บคอ ไอ ซึ่งปัญหากลิ่นปากจะไม่หายไป ถ้าเด็ก ๆ ไม่ได้รักษาอาการที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังนั้น หากลูกมีอาการป่วยต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที เพราะหากปล่อยไว้ อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่ากลิ่นปากได้
6. จุกนมหลอกเจ้าปัญหา
ถ้าลูกของคุณใช้จุกนมหลอก คุณพ่อคุณแม่ควรล้างทำความสะอาดจุกนมบ่อย ๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยอาจทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างจาน และล้างน้ำเปล่าจนสะอาด อย่างไรก็ตาม คุณอาจลองให้ลูกเลิกใช้จุกนมหลอก แต่ไม่ใช่แค่นั้น เพราะหากเด็กชอบดูดนิ้วมือ คุณควรล้างมือของลูกให้สะอาดด้วย เพื่อป้องกันเชื้อโรคและการสะสมแบคทีเรียในช่องปาก ที่จะทำให้มีปัญหากลิ่นปากตามมาได้
เด็กมีกลิ่นปาก เมื่อไหร่ที่ต้องกังวล
ถ้าลูกน้อยวัยเตาะแตะของคุณมีกลิ่นปากเรื้อรัง คุณควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ คุณควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพอนามัยในช่องปากของลูกน้อยอย่างถูกวิธี
[embed-health-tool-bmi]