backup og meta

อีสุกอีใสในเด็ก อาการ สาเหตุและการรักษา

อีสุกอีใสในเด็ก อาการ สาเหตุและการรักษา

อีสุกอีใสในเด็ก (Chickenpox) เป็นอาการเจ็บป่วยที่พบมากในเด็ก มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคงูสวัด โดยโรคนี้สามารถหายได้เองหลังผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ หรือขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายและการดูแลรักษาของแต่ละคน การฉีดวัคซีนโรคอีสุกอีในเด็กจึงอาจเป็นวิธีป้องกันการเกิดโรคและป้องกันโรคแทรกซ้อนจากอีสุกอีใสได้ดีที่สุด

อาการของ อีสุกอีใสในเด็ก

ในช่วง 2-3 วันก่อนตุ่มอีสุกอีใสขึ้น เด็กอาจมีไข้ ปวดท้อง ปวดศีรษะ ไม่อยากอาหารและอ่อนเพลีย โดยตุ่มอีสุกอีใสจะปรากฏขึ้นหลังสัมผัสกับเชื้อประมาณ 10-21 วัน ปกติแล้วเด็กจะมีตุ่มอีสุกอีใสประมาณ 250-500 ตุ่ม จะเริ่มจากมีผื่นแดงราบขึ้นบนผิวหนัง ก่อนจะเปลี่ยนแปลงลักษณะตามระยะเวลา สามารถแบ่งได้ 3 ระยะ ได้แก่

  • ตุ่มนูน (Papules) มักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้าและหน้าอก เมื่อเวลาผ่านไปตุ่มนูนก็จะแพร่กระจายไปยังร่างกายส่วนอื่น ๆ
  • ตุ่มพองน้ำ (Vesicle) หลังจากผ่านไป 2-3 วัน จะเริ่มมีตุ่มน้ำพองเกิดขึ้น ลักษณะเป็นตุ่มที่มีของเหลวอยู่ด้านในขึ้นอยู่บนตุ่มนูน จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปตุ่มน้ำพองจะแตกและมีของเหลวไหลออกมา
  • สะเก็ด (Scabs) เมื่อตุ่มน้ำพองแตก แผลจะเริ่มแห้งเป็นสะเก็ดอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จากนั้นสะเก็ดของตุ่มอีสุกอีใสจะหลุดออกไปเองหลังจากผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์

โดยปกติเมื่อตุ่มอีสุกอีใสตกสะเก็ดมักไม่ก่อให้เกิดแผลเป็น หากไม่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย  และหากเด็กมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี อาการของโรคอีสุกอีใสก็มักจะไม่รุนแรงมากนัก แต่บางคนที่มีอาการรุนแรงอาจมีตุ่มอีสุกอีใสเกิดขึ้นทั่วร่างกาย แม้กระทั่งในช่องปาก ลำคอ เยื่อบุตา ทวารหนักหรือในช่องคลอด

อีสุกอีใสในเด็ก ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากพบความผิดปกติต่อไปนี้ ควรพาลูกเข้าพบคุณหมอทันทีเพื่อวินิจฉัยอาการและตรวจสุขภาพผิวเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

  • มีไข้สูงกว่า 38.9 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานกว่า 4 วัน
  • มีตุ่มน้ำพอง ผื่นแดง มีหนองหรือของเหลวเกิดขึ้นบนผิวหนังและเจ็บปวด
  • คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก ไอ จามและปวดท้องรุนแรง
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า สับสน มึนงง
  • เดินลำบาก คอแข็ง

สาเหตุของอีสุกอีใสในเด็กอีสุกอีใสในเด็กมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา สามารถแพร่กระจายได้ผ่านการสัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้ออีสุกอีใส สัมผัสตุ่มพองอีสุกอีใสจากผู้ที่เป็นโรคหรือมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรค นอกจากนี้ เชื้อยังสามารถแพร่กระจายได้จากละอองน้ำลายจากการไอหรือจามของผู้ติดเชื้อได้เช่นกัน ซึ่งเด็กที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสส่วนใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิตและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก แต่อาจเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน ซึ่งเชื้อไวรัสยังคงอยู่ในเซลล์ประสาทหลังจากการติดเชื้อที่ผิวหนังหายแล้ว โดยเชื้อไวรัสที่คงอยู่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคงูสวัด ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุและผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

การรักษาอีสุกอีใสในเด็กด้วยตนเอง

  • หลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาตุ่มอีสุกอีใส โดยห้ามไม่ให้ลูกเกาตุ่มพอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อและเกิดแผลเป็น ผู้ปกครองอาจตัดเล็บมือของลูกให้สั้น หรือใส่ถุงมือให้ลูกในขณะที่เป็นอีสุกอีใสเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเกา
  • ช่วยบรรเทาอาการคัน โดยการใช้ผ้าเย็นประคบลงบนผิวหนัง หรือทาโลชั่นคาลาไมน์ (Calamine)
  • รักษาความสะอาดเป็นประจำทุกวันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และควรทำให้ตุ่มอีสุกอีใสแห้งอยู่เสมอเพื่อป้องกันความอับชื้น ทั้งยังช่วยให้ตุ่มอีสุกอีใสแห้งไวขึ้นอีกด้วย
  • ป้องกันภาวะขาดน้ำและปัญหาผิวแห้งแตกในขณะเป็นอีสุกอีใส จึงควรให้ลูกดื่มน้ำเปล่ามากขึ้นประมาณ 2 ลิตร/วัน
  • รับประทานยา เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อช่วยลดไข้จากโรคอีสุกอีใส และหากลูกมีอายุต่ำกว่า 16 ปี ห้ามให้ลูกกินยาแอสไพรินโดยเด็ดขาด เพราะอาจเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการเรย์ (Reye Syndrome) ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อตับและสมอง และอาจทำให้เสียชีวิตได้

หากรักษาอีสุกอีใสในเด็กด้วยตนเองนาน 2-3 วัน แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลงกว่าเดิม ควรรีบพาเด็กไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาลทันที เพื่อทำการรักษาและป้องกันความรุนแรงของโรคอีสุกอีใส

การรักษาอีกสุกอีใสในเด็กโดยคุณหมอ

คุณหมอจะทำการวินิจฉัยอาการหากพบว่าเด็กมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อที่ผิวหนัง ปอดบวม โรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) คุณหมออาจสั่งยาเพื่อลดการติดเชื้อและช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

  • ยาต้านไวรัสอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ช่วยลดความรุนแรงของโรคอีสุกอีใสได้ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากผื่นขึ้นครั้งแรก
  • ยาต้านไวรัสอื่น ๆ เช่น วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) อาจช่วยลดความรุนแรงของโรค แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของคุณหมอเท่านั้น

การป้องกันอีสุกอีใสในเด็ก

สำหรับวิธีการป้องกันโรคอีสุกอีใสในเด็กที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส 2 ครั้ง โดยสามารถรับวัคซีนครั้งแรกเมื่ออายุ 12-18 เดือน และอายุ 2-4 ปี ตามลำดับ แต่หากได้รับวัคซีนครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 13 ปีขึ้นไป ควรรับวีคซีน 2 เข็ม โดยห่างกันเข็มละอย่างน้อย 1 เดือน

คนส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสจะไม่ติดเชื้อและไม่เป็นโรคอีสุกอีใส หรือบางคนที่เป็นโรคอีสุกอีใสหลังการฉีดวัคซีน อาการมักไม่รุนแรง มีแผลพุพองเล็กน้อยหรือเป็นเพียงจุดแดงหรือไม่มีเลย และอาจมีไข้เล็กน้อยหรือไม่มีไข้เลย

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Chickenpox.http://www.nhs.uk/conditions/chickenpox/pages/introduction.aspx. Accessed February 24, 2017

Chickenpox: Picture, symptoms, treatment and prevention. http://www.webmd.boots.com/children/guide/chickenpox-symptoms?page=1. Accessed February 24, 2017

Chickenpox. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/chickenpox/symptoms-causes/dxc-20191277. Accessed February 24, 2017

Chickenpox (Varicella). https://www.cdc.gov/chickenpox/about/prevention-treatment.html. Accessed February 24, 2017

Chickenpox-Diagnosis-treatment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/chickenpox/diagnosis-treatment/drc-20351287. Accessed May 17, 2022

Chickenpox. https://kidshealth.org/en/parents/chicken-pox.html. Accessed May 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/12/2022

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

SSSS หรือ โรค 4S คืออะไร สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ลูกท้องผูก อาการ สาเหตุ วิธีบรรเทาอาการ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา