โรคไอกรน (Whooping Cough หรือ Pertussis) เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ที่อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส (Bordetella pertussis หรือ B. pertussis) ไอกรนอาจเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และเด็กอายุ 11-18 ปีที่ระบบภูมิคุ้มกันอาจเริ่มอ่อนแอลง อาการ แรกเริ่มของไอกรนอาจเหมือนกับอาการหวัดทั่วไป เช่น ไอเล็กน้อย จาม มีน้ำมูก ก่อนที่จะมีการผลิตวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก ไอกรนอาจคร่าชีวิตเด็กนับพันคนในอเมริกาในแต่ละปี แต่เมื่อมีการใช้วัคซีนจำนวนของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้มีจำนวนลดลง
[embed-health-tool-baby-poop-tool]
โรคไอกรน อาการ เป็นอย่างไร
ระยะเวลาแสดงอาการของไอกรนมักอยู่ที่ประมาณ 10 วันหลังจากได้รับเชื้อ อาการแรกเริ่มของไอกรนอาจมีอาการคล้ายกับอาการหวัดทั่วไป
หลังจากนั้น 1-2 สัปดาห์ผ่านไป อาการไอส่วนใหญ่อาจเปลี่ยนเป็นอาการไอที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์ (เสียง “วี้ด” หรือ “ฮื้ด” ไอเสียงสูง หรือหายใจเฮือกขณะไอ) ในขณะที่ผู้ป่วยหายใจเข้า ในบางครั้ง ผู้ป่วยอาจเกิดอาการหน้าแดงหรือม่วง เนื่องจากแรงอัดจากการไอ ในทารกอาการไออาจไม่เกิดเสียงใด ๆ แต่อาจมีอาการหยุดหายใจชั่วขณะ พร้อมกับอาการหน้าแดง เมื่อเวลาผ่านไป อาการเหล่านี้อาจเริ่มดีขึ้น แต่อาจต้องใช้เวลาหลายเดือน อาการจึงจะหายไปโดยสิ้นเชิง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาคุณหมอ
สาเหตุของไอกรน
ไอกรนเป็นโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส (Bordetella pertussis หรือ B. pertussis) หรืออาจเกิดจากการหายใจรับอากาศที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ โดยเชื้อแบคทีเรียอาจเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูกและลำคอ แล้วอาจไปเกาะติดกับเส้นขนเล็ก ๆ ในเยื่อบุปอด เชื้อแบคทีเรียอาจทำให้เกิดอาการบวมและอักเสบ ซึ่งอาจนำไปสู่อาการไอแห้ง ๆ เป็นเวลานาน ดังนั้น เด็กควรได้รับวัคซีนป้องกันไอกรนในช่วงอายุต้น ๆ เริ่มตั้งแต่อายุ 2 เดือนไปจนถึง 4-6 ปี การรับวัคซีนอาจไม่สามารถป้องกันไอกรนได้ 100% แต่ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้
อาการแทรกซ้อนของไอกรน
ไอกรนอาจเป็นอันตรายต่อเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปอดบวม อาการชัก สมองถูกทำลาย หรืออาจทำให้ถึงแก่ชีวิต หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตถึงอาการไอกรนที่อาจเกิดขึ้นในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยื่ง เมื่อเด็กอาเจียน ชัก หรือมีภาวะขาดน้ำ ควรพาไปพบคุณหมอโดยด่วน เด็กอายุต่ำกว่า 18 เดือนที่เป็นไอกรน อาจได้รับการเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอาการไอที่เกิดขึ้นอาจทำให้เด็กหายใจไม่ออก การเฝ้าติดตามอาการของเด็กที่อายุมากกว่านั้น หรือในผู้ใหญ่ก็เป็นสิ่งที่ควรทำเช่นกัน
ในปัจจุบัน ไอกรนอาจพบได้น้อย เนื่องจากมีวัคซีนป้องกันแล้ว ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยาระบุว่า สถานการณ์ไอกรนในประเทศไทยในปี 2560 มีผู้ป่วยไอกรนทั้งหมด 76 ราย คิดเป็น 0.1 รายต่อประชากร 100,000 ราย และประมาณ 50% ของผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กอายุ 1-3 เดือน แต่เนื่องจากไอกรนวินิจฉัยค่อนข้างยาก ทำให้ตัวเลขนี้อาจมีการคลาดเคลื่อนได้ และถึงแม้จะมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคต่ำ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรสังเกตอาการไอกรนที่เกิดขึ้นในเด็กอย่างสม่ำเสมอ ก่อนที่จะสายเกินไป