การวัดอุณหภูมิร่างกายของลูกได้ 36.7 องศา อาจหมายความว่าไม่มีไข้ เนื่องจากอุณหภูมิร่างกายของเด็กโดยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 36.5-37.5 องศา อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอาจส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิร่างกายได้ ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ ของลูกร่วมด้วย เช่น งอแง ร้องไห้ไม่หยุด อาเจียน กินนมน้อย ท้องเสีย ซึม
[embed-health-tool-vaccination-tool]
วิธีวัดอุณหภูมิร่างกายลูก
การวัดอุณหภูมิร่างกายลูกควรวัดในอุณหภูมิห้องปกติ และไม่ควรวัดหลังจากลูกอาบน้ำ หรือออกกำลังกายเสร็จ เพราะอุณหภูมิร่างกายอาจเปลี่ยนแปลงจนทำให้ผลคลาดเคลื่อน อีกทั้งยังควรทำความสะอาดเทอร์โมมิเตอร์ก่อนและหลังใช้งาน และไม่ควรใช้เทอร์โมมิเตอร์เดียวกันวัดอุณหภูมิร่างกายส่วนอื่น เช่น ไม่ควรใช้เทอร์โมมมิเตอร์ที่อมในปากมาหนีบรักแร้ ถึงแม้ว่าจะทำความสะอาดแล้วก็ตาม
วิธีวัดอุณหภูมิร่างกายลูกสามารถวัดได้ 5 วิธี ดังนี้
- การวัดอุณหภูมิบนหน้าผาก เครื่องเทอร์โมมิเตอร์ส่วนใหญ่จะเป็นแบบดิจิตอล โดยสามารถนำเครื่องไปจ่อไปยังบริเวณหน้าผากของลูก จากนั้นกดปุ่มเพื่อให้เครื่องวัดและแสดงผลบนหน้าจอ
- การวัดอุณหภูมิทางช่องปาก เครื่องเทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิตอลที่มีลักษณะเป็นแท่งยาว วางไว้ใต้ลิ้นของลูก และให้ลูกอมไว้จนกว่าสัญญาณเตือนของเครื่องจะดัง สำหรับแบบปรอทแก้ววัดไข้อาจเหมาะสำหรับใช้ในเด็กที่อายุ 5 ปีขึ้นไป ไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก โดยให้ลูกอมไว้ใต้ลิ้นประมาณ 3 นาที แล้วอ่านผล แต่ไม่ควรใช้กับเด็กเล็กอาจทำให้เด็กเคี้ยวกัดจนปรอทแตกได้ และไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มก่อนวัดอุณหภูมิอย่างน้อย 15 นาที เพื่อป้องกันผลคลาดเคลื่อน
- การวัดอุณหภูมิบริเวณรักแร้ โดยใช้เทอร์โมมิเตอร์ได้ในรูปแบบดิจิตอลหรือแบบปรอทแก้วธรรมดาวางไว้ใต้รักแร้แนบหนังผิวหนัง หนีบไว้ 2-3 นาที หรือจนกว่าเครื่องจะส่งสัญญาณเตือน ไม่ควรตรวจผ่านเสื้อผ้าเพราะอาจทำให้ผลคลาดเคลื่อนได้
- การวัดอุณหภูมิทางช่องหู คุณพ่อคุณแม่สามารถหาซื้อเทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิตอลที่ใช้วัดทางช่องหูโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเครื่องคล้ายรีโมตและมีอุปกรณ์ส่วนปลายยืดออกมาเพื่อสอดเข้าช่องหู ระวังอย่าให้ลึกเกินไปเพื่อป้องกันลูกบาดเจ็บ จากนั้นถือค้างไว้จนกว่าจะมีสัญญาณเตือนจากอุปกรณ์ และนำออกมาอ่านค่าตัวเลขที่แสดงผลบนหน้าจอ
- การวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก ควรเลือกเทอร์โมมิเตอร์ดิจิตอล โดยทาปิโตรเลียมเจลลี่ไว้ปลายเทอร์โมมิเตอร์เพื่อเพิ่มความหล่อลื่นป้องกันการบาดเจ็บ และให้ลูกนอนหงายยกขาขึ้นทั้ง 2 ข้าง แล้วค่อย ๆ สอดเทอร์โมมิเตอร์เข้าทางทวารหนักลึกประมาณ 1 นิ้ว รอจนกว่าอุปกรณ์จะส่งสัญญาณเตือนดัง และนำออกมาอ่านค่าตัวเลขจะปรากฏบนเทอร์โมมิเตอร์ แต่ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้เองที่บ้าน ส่วนใหญ่มักจะใช้ที่โรงพยาบาล
วัดอุณหภูมิลูกได้ 36.7 องศา มีไข้ไหม
ปกติแล้วทารกและเด็ก จะมีอุณหภูมิร่างกายอยู่ที่ 36.5-37.5 องศา ดังนั้น หากวัดอุณหภูมิลูกได้ 36.7 องศา อาจหมายความว่ายังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีไข้ หากมีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศา ขึ้นไป ก็จะถือว่ามีไข้ แต่อาจขึ้นอยู่กับว่าวัดทางไหนด้วย
การเป็นไข้นาน 2-3 วัน เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันที่กำลังต่อต้านเชื้อโรค ไวรัส หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจควรพาลูกพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจรักษาและขอคำแนะนำในการดูแลลูกเพื่อบรรเทาอาการไข้อย่างถูกวิธี
ลูกเป็นไข้ ควรทำอย่างไร
เมื่อลูกเป็นไข้ คุณพ่อคุณแม่อาจลดไข้ให้ลูกเบื้องต้นด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- รีบเช็ดตัวลดไข้ โดยใช้น้ำธรรมดาเช็ดตัว
- ให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หรือห่มผ้าห่มบาง ๆ หากลูกหนาวสั่น
- ไม่ควรให้ลูกรับประทานยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจเสี่ยงต่อโรคไรยน์ซินโดรม (Reye’s syndrome) อาการชัก เกิดปัญหาเกี่ยวกับสมอง และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ สำหรับทารกที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจให้ยาอะเซตามิโนเฟนหรือพาราเซตตามอล (Acetaminophen) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการปวดลดไข้ และควรอ่านฉลากทุกครั้งก่อนใช้ยา เพื่อให้ลูกรับประทานยาในปริมาณที่เหมาะสม แต่หากลูกมีไข้สูงกว่า 38 องศานานกว่า 72 ชั่วโมง ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บคอ ชัก ควรพาลูกพบไปคุณหมอทันที
สำหรับทารกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 38 องศา ขึ้นไป และมีอาการหายใจลำบาก ผื่นขึ้น ดื่มน้ำน้อย ปากแห้ง อาเจียน ท้องร่วง ร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา และร้องไห้เป็นเวลานาน ควรเข้ารับการรักษาโดยคุณหมอในทันที อีกทั้งยังควรให้ลูกได้รับวัคซีนตามกำหนด เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ที่รุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ สเตรปโตคอกคัส นิวโมเนีย (Streptococcus pneumoniae)