backup og meta

ห้องนอนเด็ก และการสร้างบรรยากาศการนอนที่ดีให้กับลูกน้อย

ห้องนอนเด็ก และการสร้างบรรยากาศการนอนที่ดีให้กับลูกน้อย

เด็ก ๆ มักใช้เวลาอยู่ในห้องนอนมากที่สุด โดยเฉพาะในเวลากลางคืน คุณพ่อคุณแม่จึงควรจัดเตรียม ห้องนอนเด็ก ให้เหมาะสมสำหรับเป็นพื้นที่พักผ่อนและมีความปลอดภัยในการอยู่อาศัย เช่น เลือกเปลหรือเตียงที่เหมาะกับวัยของเด็ก หลีกเลี่ยงการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีเหลี่ยมมุมแหลมคม ยึดตู้เสื้อผ้าเข้ากับผนังห้อง จัดไฟให้เหมาะสม ทั้งยังควรจัดตารางการนอนและกำหนดกิจวัตรก่อนนอนให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและสามารถนอนหลับพักผ่อนได้อย่างเต็มที่

[embed-health-tool-child-growth-chart]

เด็ก ๆ ควรนอนวันละกี่ชั่วโมง

การนอนหลับให้เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เด็ก ๆ เจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์สมวัย โดยเฉพาะการนอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต่อมใต้สมองหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) หรือฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโตที่ทำหน้าที่เสริมสร้างการเจริญเติบโตของกระดูกและอวัยวะต่าง ๆ และช่วยให้เด็กสูงตามวัยที่เหมาะสม

มูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติ (National Sleep Foundation) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ระบุเวลาที่เหมาะสมในการนอนของเด็กแต่ละช่วงวัยไว้ ดังนี้

  • เด็กอายุ 3-5 ปี ควรนอนหลับอย่างน้อย 11-13 ชั่วโมง/วัน
  • เด็กอายุ 5-9 ปี ควรนอนหลับอย่างน้อย 10-11 ชั่วโมง/วัน
  • เด็กอายุ 10-14 ปี ควรนอนหลับอย่างน้อย 9 ชั่วโมง – 9 ชั่วโมง 45 นาที/วัน
  • เด็กอายุ 15-17 ปี ควรนอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมง 30 นาที – 8 ชั่วโมง 45 นาที/วัน
  • คนอายุ 18 ปีขึ้นไป ควรนอนหลับอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง/วัน

วิธีสร้างบรรยากาศการนอนที่ดีใน ห้องนอนเด็ก

เคล็ดลับการสร้างบรรยากาศที่ดีใน ห้องนอนเด็ก อาจทำได้ดังนี้

  • สร้างพื้นที่พักผ่อนในห้องนอนเด็กให้เหมาะสม ห้องนอนเด็กควรมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เงียบสงบและไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอก เมื่อใกล้ถึงเวลาเข้านอนควรหรี่ไฟให้สลัว เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศไม่ให้ร้อนหรือเย็นจนเกินไป หากเด็กกลัวความมืดควรเปิดใช้โคมไฟที่มีแสงไฟอ่อนซึ่งไม่รบกวนการนอนหลับ
  • จัดตารางการนอนให้กับเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลให้เด็กเข้านอนในเวลาที่เหมาะสมและไม่ดึกจนเกินไป เพื่อให้เด็กได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และควรให้เด็ก ๆ เข้านอนในเวลาเดิมเป็นประจำทุกคืน เพื่อช่วยสร้างนิสัยการนอนให้ตรงเวลา
  • ช่วยให้เด็กผ่อนคลายก่อนนอน เด็ก ๆ หลายคนอาจยังมีพลังงานล้นเหลือในช่วงค่ำและยังไม่อยากเข้านอนตามเวลา คุณพ่อคุณแม่อาจหากิจกรรมก่อนนอนที่ไม่ทำให้เด็กตื่นเต้นมากเกินไปจนนอนไม่หลับ เช่น การเล่านิทาน การดูการ์ตูนเนื้อหาเบา ๆ การเปิดเพลงให้ฟัง เพื่อช่วยให้เด็กผ่อนคลายและพร้อมสำหรับการเข้านอน
  • ตรวจสอบความปลอดภัยในห้องนอน คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นตรวจสอบว่าแต่ละพื้นที่ในห้องนอนเด็กปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ เช่น เฟอร์นิเจอร์แข็งแรง ยึดชั้นหนังสือ ตู้เก็บของเล่น หรือตู้เสื้อผ้าเข้ากับผนังห้องแล้ว ไม่มีสิ่งของที่แตกหัก ชำรุด หรือสิ่งของมีคมในห้องนอนเด็ก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ตู้ภายในห้องล้มทับเด็กจนบาดเจ็บ
  • จัดพื้นที่ให้กับเด็ก ๆ ที่ใช้ห้องนอนร่วมกัน ควรพยายามจัดห้องให้เด็กแต่ละคนมีพื้นที่และสภาพแวดล้อมในการพักผ่อนเป็นของตัวเอง
  • จำกัดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน เด็ก ๆ ควรงดดูโทรทัศน์ งดเล่นแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์ อย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อช่วยให้เด็กสามารถนอนหลับได้ง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้หลับได้ยาก การบริโภคอาหารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท เช่น โกโก้ ช็อกโกแลต ชา เครื่องดื่มเกลือแร่ อาจทำให้เด็กนอนหลับได้ยากขึ้นและพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ จึงไม่ควรให้เด็กบริโภคอาหารเหล่านี้ โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงบ่าย ๆ เป็นต้นไป
  • กำหนดกิจวัตรก่อนนอนให้กับเด็ก ควรให้เด็ก ๆ ทำกิจวัตรก่อนเข้านอนเป็นขั้นตอนเหมือนกันทุก ๆ วัน เช่น ดื่มนม อาบน้ำ แปรงฟัน สวมชุดนอน ใช้เวลาอ่านนิทานหรือเล่นของเล่นร่วมกัน จากนั้นจึงค่อยพาเด็กเข้านอน เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับกิจวัตรเดิม ๆ นอกจากนี้ การมีกิจวัตรประจำวันที่คาดเดาได้ยังช่วยให้เด็กจดจำลำดับได้ง่ายกว่าการไม่มีกิจวัตรที่แน่นอน และได้ฝึกการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ตามลำดับขั้นตอน

สัญญาณของปัญหาการนอนหลับในเด็ก

หากคุณพ่อคุณแม่จัดเตรียม ห้องนอนเด็ก ที่เหมาะสมกับการนอนหลับและเสริมสร้างนิสัยการนอนหลับที่ดีให้กับเด็กแล้ว แต่เด็กยังมีปัญหานอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ นอนแค่ไม่กี่ชั่วโมง หรือมีปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ในตอนกลางวัน เช่น ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อได้ อาจหมายถึงเด็กมีปัญหาการนอนหลับ โดยสัญญาณของปัญหาการนอนหลับในเด็ก อาจมีดังนี้

  • เดินละเมอ
  • ปัสสาวะรดที่นอน
  • ตื่นกลางดึกพร้อมกับความรู้สึกหวาดกลัว กระสับกระส่าย ร้องไห้งอแง
  • นอนกัดฟัน
  • นอนกรน
  • มีปัญหาการหายใจขณะนอนหลับ หรือหยุดหายใจขณะหลับเป็นเวลานาน

ปัญหาการนอนหลับในเด็กอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาการเรียน ปัญหาเพื่อนที่โรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เด็กกังวลใจจนกระทบการนอนหลับ และควรกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันของเด็กให้ชัดเจนเพื่อให้เข้าใจตรงกัน เมื่อเด็กปฏิบัติตามข้อตกลงได้ดีก็ควรกล่าวชื่นชมเพื่อให้เด็กรับรู้ว่าเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสม ทั้งนี้ หากสังเกตว่าเด็กมีปัญหาในการนอน โดยเฉพาะปัญหาการหายใจขณะนอนหลับ ควรพาเด็กไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกวิธี

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Sleep tips for children. https://www.healthdirect.gov.au/sleep-tips-for-children. Accessed March 23, 2023

Sharing a bedroom: babies and older siblings. https://raisingchildren.net.au/babies/sleep/where-your-baby-sleeps/sharing-a-bedroom. Accessed March 23, 2023

Child sleep: Put preschool bedtime problems to rest. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/childrens-health/in-depth/child-sleep/art-20044338. Accessed March 23, 2023

Sleep – a guide for school aged children. https://www.wsh.nhs.uk/CMS-Documents/Patient-leaflets/PaediatricDepartment/6339-1-Sleep-a-guide-for-school-age-children.pdf. Accessed March 23, 2023

Sleep hygiene in children and young people. https://www.gosh.nhs.uk/conditions-and-treatments/procedures-and-treatments/sleep-hygiene-children/. Accessed March 23, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/05/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

พี่เลี้ยงเด็ก มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร และวิธีเลือกพี่เลี้ยงเด็กให้เหมาะสม

เก้าอี้กินข้าวเด็ก ประโยชน์และข้อควรระวังในการใช้งาน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา