backup og meta

ประโยชน์ของโกโก้ และข้อควรระวังในการรับประทาน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี · โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/10/2022

    ประโยชน์ของโกโก้ และข้อควรระวังในการรับประทาน

    โกโก้ เป็นผลผลิตจากต้นคาเคา (Cacao) มีแหล่งกำเนิดมาจากอเมริกาใต้ มักถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในขนมหวานและเครื่องดื่ม ประโยชน์ของโกโก้มีมากมายเนื่องจากโกโก้อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น เหล็ก แมกนีเซียม ซีลีเนียม สังกะสี อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังการรับประทานโกโก้ในปริมาณมากเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

    คุณค่าทางโภชนาการของโกโก้

    ผงโกโก้ 1 ถ้วย (86 กรัม) อาจให้พลังงาน 196 กิโลแคลอรี และมีโปรตีน 16.9 กรัม ไฟเบอร์ 31.8 กรัม และสารอาหารอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

    • โพแทสเซียม 1,310 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 631 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 429 มิลลิกรัม
    • แคลเซียม 110 มิลลิกรัม
    • เหล็ก 12 มิลลิกรัม
    • สังกะสี 6 มิลลิกรัม
    • ซีลีเนียม (Selenium) 3 ไมโครกรัม

    นอกจากนี้ ประโยชน์ของโกโก้ ยังมีอีกมากมายเนื่องจากโกโก้มีลูทีน ซีแซนทีน วิตามินเค และฟลาโวนอยด์ ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) จากอนุมูลอิสระ ที่อาจส่งผลให้เซลล์เสื่อมสภาพ

    ประโยชน์ของโกโก้

    • อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

    โกโก้อุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์ ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือด ช่วยลดความดันโลหิต

    จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Agricultural and Food Chemistry เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโกโก้ ความดันโลหิต และสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด พบว่า การรับประทานโกโก้ที่อุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์ อาจช่วยให้หลอดเลือดขยาย ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากการทำลายของอนุมูลอิสระ เพิ่มความไวต่ออินซูลิน และช่วยลดระดับความดันโลหิตได้ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

  • อาจช่วยป้องกันโรคเบาหวาน

  • อีกหนึ่งประโยชน์ของโกโก้คืออาจช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ เนื่องจากโกโก้มีฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่มีส่วนช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน

    จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Antioxidants ปี พ.ศ. 2560 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของสารต้านอนุมูลอิสระของโกโก้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า โกโก้อุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์ที่ช่วยเพิ่มการหลั่งอินซูลิน ปรับปรุงความไวต่ออินซูลิน ที่ช่วยเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดเป็นพลังงาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงหรือช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานและช่วยป้องกันไม่ให้อาการเบาหวานแย่ลงได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป และผู้ทำการศึกษาได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โกโก้ในท้องตลาดส่วนใหญ่มีฟลาโวนอยด์น้อยและมักเติมน้ำตาล จึงอาจส่งผลเสียต่อระดับน้ำตาลได้

    • อาจช่วยป้องกันโรคอ้วน

    สารอาหารที่พบได้ในโกโก้อย่าง โพลีฟีนอล มีคุณสมบัติสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต้านการอักเสบ เผาผลาญไขมัน และอาจช่วยป้องกันโรคอ้วนได้

    จากการศึกษาเกี่ยวกับโกโก้และประสิทธิภาพในการต้านโรคอ้วนที่ตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Nutrition & Food Research เมื่อปี พ.ศ. 2557 พบว่า โพลีฟีนอลมีส่วนช่วยในการเผาผลาญไขมัน ช่วยลดการสะสมของไขมันที่อาจนำไปสู่โรคอ้วน อีกทั้งยังช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบเรื้อรัง ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และภาวะความดันโลหิตสูงได้ อย่างไรก็ตาม งานศึกษาชิ้นนี้เป็นงานศึกษาในห้องทดลอง จึงยังคงต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

    ข้อควรระวังในการรับประทานโกโก้

    แม้ว่าประโยชน์ของโกโก้ที่ดีต่อสุขภาพอาจมีมากมาย แต่ควรเลือกรับประทานโกโก้ที่มีส่วนประกอบของโกโก้ 60-70% ขึ้นไป อีกทั้งยังควรระวังการรับประทานโกโก้ที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลและครีมเทียมในปริมาณมาก เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้ ดังนั้น ควรตรวจสอบข้อมูลโภชนาการข้างฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนบริโภคทุกครั้ง

    นอกจากนี้ โกโก้ยังมีคาเฟอีนสูง การรับประทานโกโก้ในปริมาณมากจึงอาจทำให้นอนหลับยาก นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว และปัสสาวะบ่อย  อีกทั้งสตรีตั้งครรภ์ยังไม่ควรรับประทานโกโก้ เพราะคาเฟอีนอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ เสี่ยงต่อปัญหาคลอดก่อนกำหนด แท้งบุตร และน้ำหนักทารกแรกเกิดน้อย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

    โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา