การเรออาจช่วยขับแก๊สในกระเพาะอาหารที่ลูกกลืนเข้าไประหว่างกินนม หาก ลูกไม่เรอ อาจทำให้เกิดอาการจุดเสียด ท้องอืด ไม่สบายตัว และร้องไห้งอแง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาวิธีทำให้ลูกเรอ เช่น การอุ้ม การลูบหลัง เพื่อช่วยขับแก๊สในกระเพาะอาหารของลูก
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ลูกไม่เรอ ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ
แก๊สในกระเพาะอาหารเกิดจากอากาศที่ลูกกลืนเข้าไปในระหว่างกินนม หรืออาจเกิดจากการแพ้นมวัว และสารอาหารบางชนิดที่คุณแม่รับประทานซึ่งส่งผ่านน้ำนมแม่ไปยังลูก เช่น ไข่ ถั่ว กะหล่ำดอก น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ทำให้ร่างกายของลูกตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ และสร้างแก๊สในกระเพาะอาหาร ซึ่งหากลูกไม่เรอเพื่อระบายแก๊สออก อาจทำให้ลูกน้อยรู้สึกจุดเสียด ท้องอืด และไม่สบายตัว โดยลูกอาจร้องไห้ เกร็งร่างกาย และกำมือแน่นเพื่อส่งสัญญาณบอกคุณพ่อคุณแม่
อย่างไรก็ตาม บางครั้งลูกน้อยอาจไม่เรอ แม้ว่าจะพยายามอุ้มหรือตบหลังเบา ๆ เพื่อทำให้เรอแล้วก็ตาม อาจเป็นเพราะในกระเพาะอาหารของลูกมีแก๊สในปริมาณน้อยหรืออาจไม่มีเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติ และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแต่อย่างใด
วิธีทำให้ลูกเรอ
วิธีช่วยให้ลูกเรอขับแก๊สออกจากกระเพาะอาหาร อาจทำได้โดยการอุ้มในท่าทางต่าง ๆ ดังนี้
- ท่าอุ้มลูกพาดไหล่ ควรอุ้มลูกพาดไหล่ให้แนบชิดกับหน้าอก ใช้แขนข้างหนึ่งประคองก้น และจับศีรษะลูกพิงกับไหล่เอาไว้ เพื่อประคองกระดูกและศีรษะของลูกที่ยังไม่แข็งแรง จากนั้นใช้มืออีกข้างตบหลังลูกเบา ๆ หรือลูบหลังเป็นวงกลม
- ท่าอุ้มแบบนอนคว่ำหน้าบนแขน อุ้มลูกนอนคว่ำหน้าวางบนแขนข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งการอุ้มท่านี้อาจจำเป็นที่ต้องมีแขนที่แข็งแรงเพื่อให้สามารถประคองลำตัวและศีรษะของลูกได้อย่างมั่นคง โดยให้ศีรษะของลูกอยู่บริเวณข้อพับแขน ในลักษณะหันหน้าออกไปด้านข้างเพื่อให้หายใจได้สะดวก จากนั้นนำมืออีกข้างลูบหลังลูกเป็นวงกลมเบา ๆ
- ท่าอุ้มแบบนอนคว่ำหน้าบนหน้าท้อง เป็นวิธีอุ้มลูกที่เหมือนกับท่าอุ้มนอนคว่ำหน้าบนแขน แต่เปลี่ยนมาอุ้มมาไว้บนหน้าท้องของคุณพ่อคุณแม่แทนเพื่อให้ลูกนอนสบายขึ้น โดยหันศีรษะของลูกออกด้านข้าง และนำมือประคองลำตัวหรือก้นลูก จากนั้นนำมืออีกข้างตบหลังลูกเบา ๆ หรือลูบหลังลูกเป็นวงกลม
- ท่าอุ้มแบบนอนคว่ำหน้าบนหน้าตัก คุณพ่อคุณแม่อาจอุ้มลูกนั่งบนหน้าตัก ใช้มือข้างหนึ่งประคองบริเวณใต้คาง ลำคอ และศีรษะ ควรระวังอย่าใช้แรงกดมากเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกหายใจไม่ออก จากนั้นตั้งขาข้างหนึ่งขึ้นเล็กน้อย และค่อย ๆโน้มตัวลูกลงบนหน้าตัก ใช้มืออีกข้างลูบหลังลูกเป็นวงกลมเบา ๆ
- อุ้มลูกนั่งบนตัก คุณพ่อคุณแม่อาจอุ้มลูกให้นั่งหลังตรงบนหน้าตัก โดยเอาด้านข้างตัวลูกพิงกับหน้าอก จากนั้นใช้มือประคองบริเวณลำคอและหน้าอก ใช้มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังลูกเป็นวงกลมอย่างช้า ๆ หรือตบหลังเบา ๆ
หากลูกไม่เรอภายใน 5 นาที คุณพ่อคุณแม่ควรอุ้มลูกนอนหงายบนที่นอนสักครู่ แล้วอุ้มขึ้นมาทำให้เรออีกครั้ง หรืออาจนวดหน้าท้องลูกเบา ๆ หรือจับขาทั้ง 2 ข้างของลูกยกขึ้นลงสลับกันไปมา เหมือนกำลังปั่นจักรยาน
เคล็ดลับการป้องกันการเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
เคล็ดลับการป้องกันการเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารของลูก อาจทำได้ดังนี้
- ควรถือขวดนมให้ลูกในลักษณะเอียงขวดนมเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกลืนอากาศเข้าไประหว่างกินนม
- เปลี่ยนจุกนมหากสังเกตว่าจุกนมมีรูขยายใหญ่ขึ้น หรือจุกนมมีรอยชำรุด
- ทดสอบการไหลของจุกนมโดยการจับขวดพลิกคว่ำ หากนมในขวดไหลออกมาอย่างรวดเร็วเกินไป อาจหมายความว่าจุกนมเสื่อมสภาพ ควรเปลี่ยนทันที
- ตรวจดูว่าปากของลูกประกบกับจุกนมหรือเต้านมของคุณแม่สนิทดีหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกดูดอากาศเข้าไปในระหว่างที่กินนม
- สังเกตน้ำนมจากเต้าของคุณแม่ว่าไหลเร็วเกินไปหรือไม่ หากน้ำนมไหลเร็วเกินไป ควรนำผ้าซับน้ำนมจนกว่าน้ำนมจะไหลช้าลง จากนั้นจึงให้ลูกกินนมตามปกติ
อาการที่ควรพบคุณหมอ
หากลูกแหวะนมออกจากปากอย่างรุนแรงหลังกินนม และมีอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้สูงกว่า 38 องศา ท้องร่วง อุจจาระเป็นเลือด ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการเจ็บป่วยที่เป็นอันตราย