backup og meta

พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 7 ของลูกน้อย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/10/2022

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 7 ของลูกน้อย

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 7 ที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ ทารกอาจเริ่มมีรอยยิ้ม เริ่มกำและแบมือได้เอง โดยหากนำสิ่งของใส่มือจะสามารถกำไว้ได้นาน และเริ่มซึมซับเสียงและคำพูดของผู้ที่อยู่รอบตัว ช่วงสามเดือนแรกเป็นช่วงที่สมองของทารกกำลังพัฒนามากที่สุด ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับลูกบ่อย ๆ สัมผัสลูกด้วยความรัก แม้ว่าทารกจะไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ก็ตาม

    การเจริญเติบโต พฤติกรรมและ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 7

    ลูกน้อยจะเติบโตและมี พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 7 อย่างไร

    ใกล้ครบสองเดือนแล้ว ลูกน้อยสามารถจดจำเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้แล้ว ซึ่งการได้ยินเสียงที่คุ้นเคยจะช่วยทำให้ลูกน้อยปรับตัวเข้ากับโลกใหม่นอกครรภ์มารดาได้ง่ายขึ้น และทำให้รู้สึกว่าไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ฉะนั้น ยิ่งพูดคุยกับทารกมากเท่าไหรยิ่งดี แม้ลูกน้อยอาจไม่เข้าใจคำพูดแต่ทารกสามารถรับรู้ได้ถึงความรักและความรู้สึกต่าง ๆ ผ่านคำพูด โทนเสียง น้ำเสียง แววตา ท่าทาง

    ในสัปดาห์นี้ทารกจะมีพัฒนาการดังต่อไปนี้

  • เมื่อจับอยู่ในท่านอนคว่ำ ลูกน้อยจะสามารถชันคอขึ้นมาได้ประมาณ 45 องศา
  • สามารถส่งเสียงอื่น ๆ ได้มากกว่าการร้องไห้ เช่น ส่งเสียงอ้อแอ้ในลำคอ
  • สามารถยิ้มตอบได้ เมื่อมีใครยิ้มให้
  • ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร

    ในช่วงสัปดาห์นี้ ทารกจะตื่นบ่อยขึ้นในช่วงระหว่างวัน ควรใช้ช่วงเวลานี้เพื่อช่วยพัฒนาประสาทสัมผัสโดยการเล่นดนตรีหรือร้องเพลงกล่อมเด็ก ถึงแม้ว่าลูกน้อยจะไม่เข้าใจ แต่อาจแสดงปฎิกิริยาตอบสนองต่อเพลงที่คุณร้องได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องร้องแต่เพลงเด็ก ๆ อาจใช้เพลงได้ตามใจชอบ ตั้งแต่เพลงป๊อปไปจนถึงเพลงคลาสสิค และสังเกตดูว่าลูกน้อยชอบเพลงแบบไหน หากชอบลูกน้อยจะแสดงออกด้วยการขยับปาก เคลื่อนไหวแขนอย่างรวดเร็ว และขยับเท้าเล็ก ๆ ไปมา

    สุขภาพ ความปลอดภัยและ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 7

    ควรปรึกษาแพทย์อย่างไร

    คุณหมออาจตรวจวัดน้ำหนัก ส่วนสูง การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อตา การได้ยินเสียง หากคุณพ่อคุณแม่มีคำถามควรปรึกษากับคุณหมอให้เข้าใจ โดยอาจถามเกี่ยวกับการป้อนนม การนอน พัฒนาการต่าง ๆ ของช่วงวัย การดูแลความปลอดภัยของลูกน้อย รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ

    สิ่งที่ควรรู้

    • สิวในทารก 

    สิวสามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ขวบ มักเรียกว่าสิวข้าวสาร ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่สองและสาม และจะหายไปเมื่อทารกมีอายุ 4-6 เดือน ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของสิวในทารก แต่สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ได้รับจากมารดาในระหว่างอยู่ในครรภ์อุดตันต่อมเหงื่อของทารก ส่งผลให้เกิดสิวขึ้นมาได้

    สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ คือ รูขุมขนของทารกแรกเกิดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ฝุ่นละอองเข้าไปอุดตันได้ง่าย จึงควรรักษาความสะอาด โดยอาบน้ำและล้างหน้าให้ทารกด้วยน้ำเปล่าวันละ 2-3 ครั้ง แล้วใช้ผ้าซับให้แห้ง สิวจะหายไปเองภายใน 2-3 เดือน โดยไม่ทิ้งแผลเป็นเอาไว้ ที่สำคัญ หลีกเลี่ยงการบีบ แคะ แกะ เกาสิว ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับการดูแลผิวทารก ควรปรึกษาคุณหมอ

  • การเปลี่ยนสีผิว
  • ในช่วงเวลานี้ ลูกน้อยอาจมีสีผิวเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นผลมาจากระบบหมุนเวียนโลหิตของทารกที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ทำให้เลือดไหลมากองอยู่ในบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย จึงอาจทำให้สีผิวของลูกน้อยมีการเปลี่ยนแปลงชั่วขณะ อย่างไรก็ตาม สีผิวของทารกในวัยนี้จะกลับมาเป็นปกติภายในไม่ช้า

    เพื่อความปลอดภัยของทารก

    ข้อควระวังและคำแนะนำอื่น ๆ 

    • อย่าปล่อยลูกน้อยไว้เพียงลำพังบนโต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม เตียง เก้าอี้ หรือโซฟา แม้จะเพียงวินาทีเดียวก็ตาม หากบนโต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อมไม่มีเข็มขัดนิรภัย ควรใช้มืออีกข้างหนึ่งจับลูกน้อยเอาไว้ตลอดเวลา
    • อย่าปล่อยลูกน้อยไว้กับสัตว์เลี้ยง
    • อย่าปล่อยทารกไว้ตามลำพังกับญาติพี่น้อง ที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
    • อย่าปล่อยลูกน้อยไว้ตามลำพังกับพี่สาว ที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี หรือบุคคลแปลกหน้าที่ไม่สนิทสนมหรือคุ้นเคย
    • อย่าโยนทารกขึ้นลง หรือเขย่าแรง ๆ แม้ว่าจะเป็นการแหย่เล่นก็ตาม โดยเฉพาะการโยนทารกขึ้นไปในอากาศ 
    • อย่าทิ้งทารกไว้ในบ้านตามลำพัง แม้ว่าจะออกไปข้างนอกแค่ 1-2 นาทีก็ตาม
    • อย่าปล่อยให้ทารกคลาดสายตาในขณะช้อปปิ้ง เดินเล่นในสวนสาธารณะ หรือนั่งเล่นในสนามเด็กเล่น
    • หลีกเลี้ยงการใช้โซ่หรือเชือกทุกชนิดกับทารก หรือกับของเล่นทุกอย่างของทารก
    • อย่าวางแผ่นพลาสติก ที่ใช้สำหรับห่อหุ้มอาหารไว้บนที่นอน หรือในที่ ๆทารกหยิบได้
    • อย่าวางทารกไว้ใกล้กับหน้าต่าง ที่ไม่มีการป้องกัน แม้จะเพียง 1-2 นาที หรือแม้ว่าทารกจะหลับอยู่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดได้

    สิ่งที่ต้องเป็นกังวล

    ต้องกังวลในเรื่องใด

    การพาลูกน้อยออกไปเที่ยวนอกบ้าน

    เนื่องจากทารกเริ่มโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงอาจพาลูกน้อยออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ทั้งนี้ คควรเลือกลักษณะเสื้อผ้าที่สวมใส่ให้เหมาะกับสภาพอากาศ หากมีแนวโน้มว่าอากาศจะเย็นลงควรสวมหมวกให้ลูกน้อยด้วย หรือถ้าอากาศข้างร้อนจัด อาจรอให้เย็นลงสักนิด ไม่ควรพาทารกออกไปนอกบ้านในช่วงแสงแดดจัด อาจจะเป็นการพาเดินเล่นในช่วงเช้าหรือเย็นที่แสงแดดอ่อน นอกจากนั้น หากพาลูกน้อยไปนั่งรถเล่น ควรมีคาร์ซีท (Car Seat) หรือเบาะนิรภัยสำหรับทารกที่เหมาะกับช่วงวัยเพื่อความปลอดภัย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา