backup og meta

พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 44 ของลูกน้อย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 44 ของลูกน้อย

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 44 หรือทารกอายุประมาณ 10-12 เดือน เป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการด้านภาษาและคำพูดเด่นชัดมากที่สุด มักเปล่งเสียงหรือพูดเป็นคำ ๆ มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านหนังสือและชวนลูกน้อยคุยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นช่วงที่เด็กวัยนี้กำลังเริ่มออกสำรวจสิ่งรอบตัว ควรจัดบ้านและสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยมากที่สุด

    การเจริญเติบโต พฤติกรรมและ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 44 

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 44 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านคำพูด การเดิน และความอยากรู้อยากเห็นชัดเจนมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมและดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ชวนลูกคุยหรือเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ลูกฟัง พาลูกออกไปเดินเล่น ปล่อยให้เขาเดินเองแม้จะล้มบ้างก็เป็นการฝึกให้เขาได้เรียนรู้ที่จะล้มแล้วลุกขึ้นด้วยตนเอง สิ่งสำคัญ ควรดูแลเรื่องความสะอาดและการจัดบ้านให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เก็บสิ่งของอันตรายให้พ้นมือลูกน้อย

    ลูกน้อยจะเติบโตอย่างไร

    • แสดงความต้องการในวิธีการแบบอื่นๆ ที่มากกว่าการร้องไห้
    • เล่นลูกบอล (สามารถกลิ้งลูกบอลกลับมาให้)
    • ดื่มจากแก้วด้วยตนเอง
    • สามารถหยิบของเล่น หรือหยิบสิ่งของเล็ก ๆ ด้วยปลายนิ้วโป้งและนิ้วชี้ได้ (ในระยะนี้ควรเก็บสิ่งของอันตรายทุกอย่างให้พ้นมือเด็ก)
    • ยืนด้วยตัวเองได้ดีขึ้น
    • ใช้ภาษาพูดของเด็กที่ยังไม่โต (เป็นการพูดเจื้อยแจ้วที่มีเสียงเหมือนกำลังพูดภาษาต่างประเทศอยู่)
    • พูดเป็นคำ ๆ นอกเหนือจากคำว่า “มาม๊า” หรือ “ปะป๊า”
    • ตอบสนองต่อคำสั่งง่าย ๆ หรือคำสั่งที่มีท่าทางประกอบ (เช่น “ส่งมาให้แม่นะ” แล้วยื่นมือออกไป)
    • สามารถเดินได้ดีขึ้น

    ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร

    ทารกในวัยนี้สามารถที่จะเข้าใจคำสั่งง่าย ๆ ได้แล้ว แม้ว่าจะยังท่าทีเฉยเมยกับคำว่า “ไม่” อยู่ ซึ่งการที่จะทำให้คำ ๆ นี้มีน้ำหนักขึ้นนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น รวมทั้งสามารถพูดคุยและสอนให้ลูกน้อยเข้าใจการกระทำต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลโดยมีท่าทางประกอบ เช่น ถ้าลูกน้อยดึงหางแมว ก็ดึงมือเขาออก มองตาเขาและพูดว่า “อย่านะ…นั่นจะทำให้ แมวเจ็บ” จากนั้นก็จับมือลูกไปลูบหัวแมวเบา ๆ แทน

    สุขภาพและความปลอดภัย

    ควรปรึกษาแพทย์อย่างไร

    คุณหมอมักไม่นัดตรวจสุขภาพถี่เกินไปสำหรับเด็กในวัยนี้ ดังนั้น ถ้ามีข้อกังวลใด ๆ ที่ไม่สามารถรอให้ถึงวันนัดครั้งต่อไปได้ สามารถเข้าไปขอรับคำปรึกษาจากคุณหมอได้ทันที

    สิ่งที่ควรรู้

    การกลั้นหายใจ

    เด็กในวัยนี้อาจมีการกลั้นลมหายใจ หากลูกน้อยกลั้นหายใจจนกระทั่งเป็นลม ก็ไม่ต้องเป็นกังวล เด็กที่หมดสติจากการกลั้นหายใจนั้นไม่จำเป็นต้องรับการรักษา และถึงแม้ว่าจะไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผล

    วิธีต่อไปนี้เป็นวิธีป้องกันอาการลูกร้องอาละวาด ที่อาจส่งผลให้เกิดการกลั้นหายใจได้

    • ดูแลให้ลูกน้อยได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เด็กที่เหนื่อยมากเกินไป จะงอแงได้ง่ายกว่าเด็กที่พักผ่อนอย่างเต็มที่
    • เลือกวิธีการห้ามหลาย ๆ รูปแบบ เพราะการใช้คำว่า “ไม่” มากเกินไป อาจทำให้เด็กรู้สึกไม่พอใจและต่อต้าน
    • พยายามทำให้ลูกน้อยมีอาการสงบก่อนที่จะมีการอาละวาดเกิดขึ้น โดยใช้เสียงเพลง ของเล่น หรือสิ่งจูงใจอื่น (แต่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งจะสร้างนิสัยไม่ดีอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา) ในการหันเหความสนใจ
    • หาวิธีคลายเครียดให้ลูกน้อย เช่น เปิดเพลง อ่านนิทาน พาออกไปเดินเล่น
    • อย่าตามใจมากจนเกินไป ถ้าเขารู้ว่าเขาจะได้รับในสิ่งที่ต้องการโดยการกลั้นหายใจ หรือการอาละวาด เขาจะทำซ้ำบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเติบโตขึ้น

    ถ้าการกลั้นหายใจของลูกน้อยมีอาการรุนแรง หรือกลั้นหายใจเกินหนึ่งนาที โดยไม่เกี่ยวข้องกับการร้องไห้ ไม่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวด หรือความไม่พอใจ ควรปรึกษาคุณหมอให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

    รองเท้าลูกน้อย

    เพราะพัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 44 เป็นช่วงวัยหัดเดิน รองเท้าที่ใส่สบายไม่เพียงแต่ช่วยให้เดินได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันเท้าของเด็กให้ปลอดภัยด้วย  คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกรองเท้าให้เหมาะสมโดยพิจารณาจากสิ่งต่อไปนี้

    • มีพื้นรองเท้าที่ยืดหยุ่น
    • มีขอบต่ำ (ไม่ใช่รองเท้าหุ้มข้อ)
    • พื้นแบนไม่มีส้น และไม่ลื่น
    • มีผนังรองเท้าที่มั่นคง
    • สวมได้พอดี
    • มีรูปร่างที่ได้มาตราฐาน

    การดูแลผม

    การดูแลเส้นผมจะช่วยให้ลูกน้อยสะอาด และสามารถป้องกันโรคเกี่ยวกับหนังศีรษะได้ ซึ่งเคล็ดลับต่อไปนี้จะช่วยให้สามารถจัดการกับผมของลูกน้อยได้ง่ายขึ้น

    • สางผมก่อนที่จะสระผม เพื่อป้องกันเส้นผมพันกันหลังสระ
    • ลองใช้แชมพูที่มีคอนดิชันเนอร์ในตัว ซึ่งไม่ต้องล้างน้ำออก
    • ใช้หวีหรือแปรงซี่ห่าง ซึ่งปลายขนแปรงจะเคลือบด้วยพลาสติก ทั้งนี้เพื่อให้ใช้กับเส้นผมเปียก ๆ ได้ง่าย
    • สางผมตั้งแต่ปลายผมขึ้นไป โดยใช้มือหนึ่งจับบริเวณโคนผมให้แน่นในขณะสางผม เพื่อลดการดึงหนังศีรษะ เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกเจ็บได้
    • ใช้ผ้าและหวีทำให้แห้ง ไม่ควรใช้เครื่องเป่าผมกับผมเด็กในวัยนี้
    • อย่าถักเปียหรือมัดห้างม้าแน่น ๆ เพราะจะทำให้เกิดอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ หรือมีผมบางได้
    • อย่าใช้กิ๊บ หรือที่หนีบผมเล็กๆ (หรือมีชิ้นส่วนที่เล็กเกินไป) เพราะเด็กอาจนำเข้าปากและเกิดการสำลักได้
    • นำยางมัดผมหรือกิ๊บออกจากศีรษะก่อนพาลูกเข้านอน
    • ควรเล็มผมหรือพาลูกน้อยไปตัดผมที่ร้านตัดผมสำหรับเด็ก อย่างน้อย สองเดือนครั้ง เพื่อช่วยให้เส้นผมงอกขึ้นมาอย่างมีสุขภาพดี
    • ควรเล็มผมหน้าม้าเมื่อยาวถึงคิ้ว
    • วางแผนแต่งผมในช่วงที่ลูกน้อยไม่รู้สึกเหนื่อย หิว หรืองอแง จะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกดีขึ้น หรืออาจชวนเล่นก่อนเริ่มแต่งผมหรือตัดผม
    • จัดแต่งทรงผมให้ลูกน้อยหน้ากระจก เพื่อให้ลูกน้อยเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่กำลังทำอะไรอยู่ และรู้สึกมีส่วนร่วม

    สิ่งที่ต้องเป็นกังวล

    ต้องกังวลในเรื่องใด

    การแสดงออกทางอารมณ์

    การแสดงอารมณ์ เป็นวิธีที่เด็กแต่ละคนคิดและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ซึ่งรวมถึงรูปแบบการกิน การนอน การเข้าสังคม หรือความเบิกบานใจ เด็กบางคนจะร่าเริง บางคนก็อ่อนไหวง่ายและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ช้า ในขณะที่บางคนก็อาจกรีดร้องได้ง่าย ๆ แม้ไม่โดนขัดใจเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ การแสดงอารมณ์ไม่ใช่เกิดจากปัจจัยภายนอกเสมอไป  เพราะอาจสั่งสมมาตั้งแต่ตอนที่อยู่ในท้องก็เป็นได้

    ผู้ปกครองสามารถสร้างรูปแบบการแสดงอารมณ์ให้ลูกได้ เมื่ออายุ 3-4 เดือน และเมื่อถึงเดือนที่ 10 ลูกน้อยจะมีบุคลิกที่ชัดเจนขึ้น และอาจมองเห็นภาพของลูกได้อย่างชัดเจนว่าเขาจะเป็นคนแบบไหนเมื่อโตขึ้น โดยสังเกตจากการกระทำและการควบคุมอารมณ์ของเขาในสถานการณ์ต่าง ๆ

    ถ้ารู้สึกเป็นกังวลกับการแสดงอารมณ์ของลูกน้อย หรืออยากจะแก้ไขพฤติกรรมบางอย่าง คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจ ไม่ใช่ไปตัดสินลูก ไม่ควรตราหน้าหรือวิพากษ์วิจารณ์ หรือทำให้ลูกรู้สึกด้อยค่า แต่ผู้ปกครองควรให้ความเห็นใจและให้กำลังใจ เวลาที่ลูกทำอะไรออกมาแล้วดูไม่ดี สอนให้ลูกเข้าใจว่าทุกคนสามารถทำผิดได้ แต่เมื่อผิดแล้วต้องมีการแก้ไขอย่างไรจึงจะเหมาะสม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา