backup og meta

วิธีช่วยเด็กสำลักอาหาร อาหารติดคอ ช่วยอย่างไรให้ปลอดภัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 27/03/2021

    วิธีช่วยเด็กสำลักอาหาร อาหารติดคอ ช่วยอย่างไรให้ปลอดภัย

    ปัญหาสำลักอาหาร อาหารติดคอ หรือมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในทางเดินหายใจ จนทำให้หายใจไม่ออกนั้น ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น เห็นอะไรก็คว้าเข้าปาก ซึ่ง อาการสำลักอาหาร เป็นอาการที่ถือว่าอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ วิธีช่วยเด็กสำลักอาหาร อย่างไรให้ปลอดภัย

    สิ่งที่ทำให้เด็กเกิดอาการสำลักอาหาร

    อาการสำลักอาหาร ในเด็กนั้นมักจะเกิดขึ้นในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยที่ชอบคว้าสิ่งของรอบ ๆ กายเข้าหู จมูก และปาก ที่สำคัญเด็กในวัยนี้ยังบดเคี้ยวอาหารได้ไม่เต็มที่เพราะฟันยังขึ้นไม่ครบสมบูรณ์ อาจทำให้มีอาหารชิ้นใหญ่ที่บดเคี้ยวไม่ละเอียดหลุดลงไปได้ ซึ่งส่วนใหญ่สิ่งที่ทำให้เด็กสำลักก็คือ อาหาร อาหารบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่มีความเหมาะสมกับวัยพวกเขา อย่าง องุ่น ผลไม้และผักสด ถั่ว เมล็ดพืชต่าง ๆ มาร์ชแมลโล หมากฝรั่ง นอกจากอาหารแล้วยังมีวัตถุอันตรายอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เขาสำลักได้อีกเช่นกัน อย่าง หิน เหรียญ ฝาปากกา ลูกเต๋า หรือของใช้ในครัวเรือนขนาดเล็ก

    วิธีช่วยเด็กสำลักอาหาร ในวัยต่าง ๆ

    วิธีช่วยเด็กสำลักอาหาร ที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ

    เมื่อทารกที่มี อาการสำลักอาหาร จนไม่สามารถหายใจได้ให้โทรเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินทันที หลังจากนั้น วางทารกคว่ำหลังบนแขน โดยวางแขนของคุณลงบนต้นขา ใช้อุ้งมือตบที่หลังและสะบักของทารกอย่างเบามือ

    หากไม่ได้ผล ให้พลิกเด็กกลับมานอนหงาย โดยให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าอก แล้ววางนิ้ว 2 นิ้วให้อยู่ตรงกลางระหว่างกระดูกทรวงอก ใต้ราวนมทั้ง 2 ข้าง แล้วกดเร็ว ๆ 5 ครั้ง แล้วพลิกเขากลับมานอนคว่ำบนต้นแขนแล้วตบหลังอีก 5 ครั้ง สลับกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมที่ติดคอนั้นหลุดออกมา หรือจนกว่าทารกจะหมดสติ

    วิธีช่วยเด็กสำลักอาหาร ที่อายุระหว่าง 1-8 ปี

    เมื่อพบเจอเด็กมี อาการสำลักอาหาร คุณสามารถช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ ดังนี้ แต่หากระหว่างที่ปฐมพยาบาลเด็กยังมีอาการไม่ดีขึ้น ควรโทรเรียกหน่วยพยาบาลฉุกเฉินทันที ซึ่งวิธีเบื้องต้นที่ควรทำเมื่อเด็กอายุนะหว่าง 1-8 ปีสำลักอาหารคือ

  • เข้าไปยืนข้างหลังเด็ก ใช้แขนของเราโอบรอบเอวของเด็ก
  • กำหมัดโดยให้นิ้วโป้งอยู่ข้างในนิ้วทั้งสี่ หลังจากนั้น วางกำปั้นไว้เหนือสะดือเล็กน้อย
  • ใช้มืออีกข้างจับกำปั้นของเราไว้
  • กดและดันขึ้นที่บริเวณท้องอย่างรวดเร็ว ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้สิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่นั้นออกมาจากปากของเด็ก
  • หลังจากที่วัตถุนั้นออกมาแล้ว ให้รีบพาเด็กไปพบคุณหมอเพราะอาจมีเศษวัตถุติดอยู่ในปอด
  • สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อเจอเด็กสำลักอาหาร

    ในขณะที่เด็ก ๆ มี อาการสำลักอาหาร อยู่นั้นสิ่งที่ผู้ปกครองไม่ควรทำ คือ ใช้มือล้วงอาหารที่ติดอยู่ในคอ เพราะจะยิ่งทำให้อาหารนั้นยิ่งลงไปติดในทางเดินหายใจลึกกว่าเดิม แต่หากอาหารที่ติดคอนั้นสามารถมองเห็น และหยิบได้โดยไม่ต้องล้วงมือลงไปก็สามารถทำได้

    ที่สำคัญอย่าพยายามใช้วิธีรัดกระตุกหน้าท้อง (Heimlich Maneuver) กับเด็กทารก เพราะวิธีการนี้อาจไปทำลายอวัยวะที่กำลังพัฒนาของทารกได้ อีกวิธีหนึ่งที่หลาย ๆ คนเข้าใจผิดว่าทำได้ คือ การจับปลายเท้าของทารกห้อยหัวลงเพื่อให้สิ่งที่ติดคอหลุดออกมา จริง ๆ แล้ววิธีการนี้ถือว่าเป็นวิธีการที่ไม่มีความเหมาะสม เพราะอาจจะยิ่งทำให้วัตถุที่ติดในคอหลุดลึกเข้าไปในลำคอมากกว่าเดิม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 27/03/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา