backup og meta

พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 36 ของลูกน้อย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 30/12/2022

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 36 ของลูกน้อย

    ถ้าคุณเป็นคุณแม่ที่เพิ่งคลอดได้ไม่นาน และอยากจะรู้ถึงพัฒนาการของลูกน้อยในแต่ละช่วงเวลา นี่คือข้อมูลของ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 36 ที่คุณแม่ควรรู้เอาไว้

    การเจริญเติบโต พฤติกรรมและ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 36

    ลูกน้อยจะเติบโตอย่างไร

    พัฒนาการในสัปดาห์ที่ 36 ของลูกน้อย

    • เล่นตบแผละหรือโบกมือบ๊ายบายได้
    • เดินโดยใช้มือจับ ยึดเฟอร์นิเจอร์เอาไว้
    • ยืนโดยลำพังได้เพียงชั่วครู่
    • เข้าใจคำว่า “ไม่” แต่อาจจะไม่เชื่อฟังก็ได้

    ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร

    เมื่อลูกน้อยเริ่มยืนหรือเดินสะเปะสะปะได้แล้ว คุณก็อาจสงสัยว่ารองเท้ามีความจำเป็นหรือเปล่า แพทย์รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กคิดว่า เด็กยังไม่ต้องการใช้รองเท้า จนกว่าจะถึงวัยที่สามารถออกไปเดินเล่นข้างนอกเป็นประจำได้ ตอนนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่ลูกน้อยเดินเท้าเปล่า การเดินเท้าเปล่าจะช่วยให้กล้ามเนื้อขาเกิดความแข็งแรง และความรู้สึกถึงพื้นผิวที่กำลังเหยียบย่ำอยู่ ก็จะช่วยให้ลูกน้อยรักษาการทรงตัวได้

    มีวิธีช่วยลูกน้อยหัดเดินอยู่หลายวิธี คุณอาจคุกเข่าอยู่ข้างหน้าเขา แล้วช่วยเขาเดินเข้าหาคุณ โดยจับมือทั้งสองข้างของเขาไว้ ซึ่งจะช่วยทั้งพยุงและพาเขาเคลื่อนไหวได้

    สิ่งที่คุณควรต้องระวังก็คือการใส่กลอนประตู นอกจากนี้ก็ควรย้ายอุปกรณ์ทำความสะอาด และอุปกรณ์หรือน้ำยาต่างๆ ที่มีสารพิษ ขึ้นไปไว้ในตู้เก็บของสูงๆ และที่นอนในเปลเด็กก็ควรตั้งระดับให้อยู่ต่ำที่สุด

    สุขภาพและความปลอดภัย

    ควรปรึกษาแพทย์อย่างไร

    แพทย์ส่วนใหญ่จะไม่นัดตรวจสุขภาพเด็กในช่วงเดือนนี้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี เพราะเด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่จะไม่ชอบไปโรงพยาบาล ถ้ามีเรื่องกังวลใจที่ไม่สามารถรอให้ถึงการนัดครั้งต่อไปได้ ก็ไปปรึกษาแพทย์ก่อนการนัดหมายได้ 

    สิ่งที่ควรรู้

    หัวชนอย่างรุนแรง

    ถ้าลูกน้อยเอาหัวไปชนอะไรอย่างรุนแรง ก็ควรปลอบโยนเขา แต่ไม่ต้องโอ๋อะไรมากเกินไป การเอาหัวชนอะไรถือเป็นเรื่องปกติของเด็ก ในการเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบตัว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะมีอาการเล็กน้อย ไม่ได้บาดเจ็บรุนแรงอะไร คุณอาจทำการประคบเย็นเป็นเวลา 20 นาที เพื่อลดอาการบวม รวมทั้งลองป้อนอาหารหรือเบี่ยงเบนความสนใจของลูกน้อย เพื่อที่เขาจะได้ไม่รู้สึกว่าการประคบเย็นนั้นทำให้เขารู้สึกเย็นเกินไป

    ถ้าลูกน้อยของคุณหมดสติ ก็ควรโทรหาหน่วยฉุกเฉินหรือรีบพาไปหาคุณหมอ  ถ้าลูกน้อยไม่หายใจ ก็ควรปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเด็กหายใจ หรือทำ CPR เพื่อปั๊มหัวใจก่อน  แล้วโทรหาหน่อยฉุกเฉินทันที

    คุณควรโทรหาแพทย์ถ้าลูกน้อยอาเจียน งอแงผิดปกติ วิงเวียน ร้องไห้ หรือกรีดร้องเป็นเวลานาน ลูกน้อยอาจหัวชนอย่างรุนแรง มีแผลลึกหรือเลือดไหลไม่หยุด มีรอยฟกช้ำด้านหลังหู มีรอยบุ๋มบริเวณหนังศีรษะ มีรอยฟกช้ำดำเขียวที่หาสาเหตุไม่ได้ มีเลือดออกในตาขาว มีเลือดหรือของเหลวที่เป็นสีชมพูใสๆ ออกจากปาก จมูก หรือหู

    คุณไม่สามาถป้องกันการชนให้ลูกน้อยได้ แต่นี่คือวิธีระมัดระวังที่คุณควรจดจำเอาไว้

  • เก็บโคมไฟที่ร่วงหล่นได้ง่าย ให้พ้นมือลูกน้อย
  • คอยตาดูลูกน้อยเวลาที่เขาปีนลงมาจากโซฟา
  • ติดแผ่นรองที่มุมเฟอร์นิเจอร์ และวางแผ่นกันลื่นไว้ใต้พรม
  • ระมัดระวัง และคอยดูลูกน้อยให้ดี เมื่อเขาอยู่บนโต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือในรถเข็นของร้านค้า ใช้สายรัดเพื่อให้เขาอยู่กับที่เท่าที่ในเวลาที่จำเป็น แต่จงจำไว้ว่าคุณไม่อาจพึ่งพาสายรัดได้ตลอด
  • วางที่นอนให้ต่ำลงทันทีที่ลูกน้อยยืนบนเปลได้แล้ว
  • ความปลอดภัยของเปล

    ขณะที่ลูกน้อยกระตือรือร้นและชอบเล่นอะไรผาดโผน ทำให้เขาได้เห็นโลกใบเดิมที่เปิดกว้างขึ้น พร้อมๆ กับความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาต่างๆ และถึงแม้ว่าเปลจะดูเหมือนที่พักที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับนักสำรวจตัวน้อย แต่ในไม่ช้าเปลก็จะเริ่มไม่มีความปลอดภัย ถึงแม้เด็กบางคนจะไม่หนีลงจากเตียง แต่มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ทำอย่างนั้น ฉะนั้นคุณจึงควรเริ่มใช้มาตราการความปลอดภัยในยามจำเป็น เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้น

    • วางฟูกให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งตรวจสอบที่รองฟูกเป็นครั้งคราว เพื่อให้แน่ใจว่าไม่โคลงเคลงจนเกินไป
    • ควรนำเบาะกันกระแทกออก
    • อย่าทิ้งของเล่นชิ้นใหญ่ไว้ในเตียงเด็ก เพราะลูกน้อยอาจทำมากองรวมกัน และใช้เป็นที่เหยียบเพื่อหนีออกจากเตียง
    • นำโมบายที่ลูกน้อยสามารถเอื้อมหยิบได้ ลงมา
    • หลีกเลี่ยงการวางหมอนหรือเครื่องนอนนุ่มๆ บนเตียงเด็ก อย่านำมุ้งมาแขวนเหนือเตียง
    • วางเตียงเด็กให้อยู่ห่างจากเฟอร์นิเจอร์และกำแพงอย่างน้อย 30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกปีนป่าย ดูให้แน่ใจว่าเปลไม่ได้อยู่ใกล้ผ้าม่านหรือหน้าต่างที่เด็กจะเอื้อมมือไปถึงได้
    • ถ้าลูกน้อยพยายามปีนหนีออกจากเตียง ให้วางหมอนหรือผ้าห่มหนานุ่มๆ ลงบนพื้นที่อยู่ใกล้ๆ เตียง เพื่อช่วยรองรับตัวเขาตอนที่ปีนลงมา

    เมื่อลูกน้อยสูง 90 เซนติเมตร ก็ถึงเวลาต้องเปลี่ยนเตียงแล้ว

    สิ่งที่ต้องเป็นกังวล

    ต้องกังวลในเรื่องใด

    ถนัดมือซ้ายหรือมือขวา

    ประตู เตารีด ที่ปอกเปลือกมันฝรั่ง กรรไกร และการจัดโต๊ะอาหาร เป็นอะไรที่ออกแบบมาเพื่อคนถนัดขวา พ่อแม่บางคนพยายามจะบีบบังคับให้ลูกใช้มือขวา เพื่อที่จะได้เป็นคนถนัดขวา ผู้เชี่ยวชาญเคยเชื่อว่าการบีบบังคับของพ่อแม่นั้น จะทำให้ลูกน้อยไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้หลายๆ อย่าง ตอนนี้ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญจะยังไม่แนะนำให้เปลี่ยนความถนัดตามธรรมชาติของลูกน้อย แต่ก็เริ่มค้นพบ ร่องรอยทางด้านพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนที่ถนัดซ้าย ซึ่งหลายๆ อย่างมีส่วนเชื่อมโยงถึงความแตกต่างระหว่างผู้ถนัดซ้ายและผู้ถนัดขวา ที่เป็นผลจากพัฒนาการของสมองซีกซ้ายและขวา คนที่ถนัดซ้ายนั้นสมองซีกขวาจะทำงานได้ดีกว่า ทำให้พวกเขาเก่งในเรื่องความสามารถในการรับรู้ตำแหน่งของสิ่งต่างๆ จึงทำให้มักอยู่ในแวดวงการกีฬา สถาปัตยกรรม และศิลปะ และเนื่องจากเด็กผู้ชายที่ถนัดมือซ้ายมีมากกว่าเด็กผู้หญิง จึงมีการสร้างทฤษฏีว่าระดับเทสโทสเตอโรน หรือฮอร์โมนเพศชาย ก็มีผลต่อพัฒนาการของสมองและความถนัดด้วย

    ทารกส่วนใหญ่ใช้มือทั้ง 2 ข้างอย่างเท่าๆ กันในช่วงแรก แต่บางคนก็แสดงออกถึงความชอบมือข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าภายในไม่กี่เดือน ส่วนคนอื่นๆ จะไม่รู็จนกว่าจะมีอายุครบหนึ่งขวบ บางคนดูเหมือนจะถนัดมือข้างใดข้างหนึ่งในตอนแรก แล้วหลังจากนั้นก็เปลี่ยนไปอีกข้างหนึ่ง สิ่งสำคัญคือควรปล่อยให้ลูกน้อยใช้มือข้างที่เขาถนัดมากที่สุด

    แล้วทารกจะพัฒนาต่อไปอย่างไรนะ ในสัปดาห์หน้า

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 30/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา