backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

Gut Obstruction คือ อะไร อาการ สาเหตุ และการรักษา

Gut Obstruction คือ อะไร อาการ สาเหตุ และการรักษา
Gut Obstruction คือ อะไร อาการ สาเหตุ และการรักษา

Gut Obstruction คือ โรคลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิด เป็นโรคร้ายแรงที่ทำให้ลำไส้เกิดการอุดตันจนอาหารไม่สามารถไหลผ่านไปได้ อาจทำให้เด็กมีอาการปวดท้อง เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องผูก ท้องอืด ไปจนถึงไม่ขับถ่าย และหากไม่ทำการรักษาอาจทำให้เนื้อเยื่อผนังลำไส้ตายและติดเชื้อ หรืออาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

Gut Obstruction คือ อะไร

Gut Obstruction คือ โรคลำไส้อุดตันซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจพบได้บ่อยในทารกแรกเกิด โดยสาเหตุของลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิดอาจเกิดจากลำไส้ตีบตัน (Intestinal Atresia) การอุดตันของขี้เทา (Meconium Ileus) โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด (Hirschsprung’s Disease) ความผิดปกติของการบิดตัวของลำไส้ (Malrotation) ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้เกิดการอุดตันของสำไส้หรือกระเพาะอาหาร ส่งผลให้อาหารและของเหลวต่าง ๆ ไม่สามารถไหลผ่านไปได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ปัญหาร้ายแรง เช่น เนื้อเยื่อในผนังลำไส้ตาย การติดเชื้อ หรืออาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้

อาการของ Gut Obstruction

อาการของโรคลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิดที่อาจพบบ่อย มีดังนี้

  • เบื่ออาหาร อาเจียน
  • ปวดท้อง ท้องบวม ท้องแข็ง
  • ท้องอืด ท้องผูก
  • มีเสียงดังในท้อง รู้สึกมีแก๊สในท้อง
  • ไม่ขับถ่าย

คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของเด็กอยู่เสมอ หากพบว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลานาน หรืออาการรุนแรงขึ้น เช่น ปวดท้องรุนแรง ท้องผูก ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา

สาเหตุของ Gut Obstruction

โรคลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิดอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • โรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception) เป็นภาวะความผิดปกติของลำไส้อย่างรุนแรง โดยลำไส้ส่วนต้นพับและเลื่อนมุดเข้าไปในอีกส่วนหนึ่งของลำไส้ ส่งผลให้เกิดการกีดขวางไม่ให้อาหารไม่ถูกย่อยในลำไส้
  • ภาวะลำไส้อืด (Paralytic Ileus) เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทขัดขวางการหดตัวของกล้ามเนื้อที่ทำงานประสานกันของลำไส้ ทำให้อาหารเคลื่อนตัวช้าลงหรือไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านไปได้
  • โรคลำไส้อักเสบ เช่น โรคโครห์น (Crohn’s Disease) เป็นโรคที่ทำให้เยื่อบุผนังลำไส้เกิดการอักเสบ ลำไส้อาจมีขนาดที่แคบลง และยังพบอาการแสดงในอวัยวะอื่นๆของร่างกายร่วมด้วย
  • ภาวะลำไส้ใหญ่บิดตัวอย่างรุนแรง ทำให้มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ผิดปกติจนอาจทำให้เกิดการอุดตันได้
  • โรคกระเปาะที่ลำไส้ใหญ่ (Diverticular Disease) เป็นโรคที่ทำให้เกิดถุงโป่งออกมาด้านนอกผนังลำไส้ที่อาจส่งผลทำให้ลำไส้เกิดการอุดตัน
  • โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด เกิดขึ้นเมื่อลำไส้ส่วนปลายไม่มีเซลล์ประสาทช่วยควบคุมการเคลื่อนไหว อุจจาระไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านไปได้ ส่งผลให้อุจจาระค้างและอุดตันในลำไส้ใหญ่จนโป่งพอง
  • ลำไส้ตีบตัน เป็นการตีบตันของลำไส้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากความพิการแต่กำเนิด
  • การอุดตันของขี้เทา เป็นการอุดตันของอุจจาระครั้งแรกสุดของเด็กทารก โดยขี้เทาจะประกอบไปด้วยสสารที่ถูกย่อยระหว่างอยู่ในมดลูก เช่น ขนอ่อน เมือก น้ำคร่ำ น้ำดี น้ำ ทำให้อุจจาระมีความหนาและเหนียวมาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันบริเวณลำไส้เล็กได้

ปัจจัยเสี่ยง Gut Obstruction

เด็กแรกเกิดอาจเสี่ยงเป็นโรคลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิดได้ง่าย หากมีปัญหาสุขภาพเหล่านี้

  • เด็กกลืนวัตถุแปลกปลอมเข้าไป จนอาจทำให้เกิดการอักเสบและอุดตันในลำไส้
  • โรคลำไส้อักเสบ เช่น โรคโครห์น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • ภาวะท้องผูกเรื้อรัง หรือโรคอุจจาระเต็มท้อง อาจทำให้เกิดการอักเสบและอุดตันในลำไส้ใหญ่
  • การผ่าตัดช่องท้อง เด็กทารกที่เคยผ่าตัดช่องท้องอาจเสี่ยงที่จะเกิดแผลเป็นบริเวณที่ผ่าตัด และแผลเป็นอาจเจริญเติบโตจนอุดตันลำไส้ได้

ภาวะแทรกซ้อนของ Gut Obstruction

โรคลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิดที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังนี้

  • เนื้อเยื่อตาย ลำไส้ที่อุดตันเป็นเวลานานอาจทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงบางส่วนของลำไส้ได้ ซึ่งการขาดเลือดอาจทำให้เนื้อเยื่อในผนังลำไส้ตายและฉีกขาด
  • การติดเชื้อ การฉีกขาดของผนังลำไส้หรือเยื่อบุช่องท้องอักเสบ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ใด ๆ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพื่อเติม

การวินิจฉัย Gut Obstruction

ขั้นตอนการวินิจฉัยเพื่อตรวจหาโรคลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิดอาจทำได้ ดังนี้

  • การตรวจร่างกาย คุณหมอจะซักถามประวัติการรักษา อาการของเด็ก และตรวจร่างกายเพื่อหาอาการท้องบวม ก้อนเนื้อในช่องท้อง หรืออาจฟังเสียงในลำไส้ เพื่อประเมินอาการเบื้องต้น
  • การเอกซเรย์ช่องท้อง หรือซีที แสกน (CT Scan) เพื่อยืนยันการวินิจฉัยลำไส้อุดตัน
  • การอัลตราซาวด์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของลำไส้อื่น ๆ ที่การเอกซเรย์ไม่สามารถตรวจพบได้ เช่น ภาวะลำไส้กลืนกัน
  • การสวนอากาศหรือการสวนแป้งแบเรียม (Air or Barium Enema) เป็นวิธีการสอดอากาศหรือแป้งแบเรียมเข้าไปในลำไส้ใหญ่ผ่านทางทวารหนัก เพื่อตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่

การรักษา Gut Obstruction

การรักษาโรคลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิดอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรงของโรค และอายุของเด็ก โดยเฉพาะหากตรวจพบว่าเด็กแรกเกิดมีความผิดปกติของลำไส้อุดตัน คุณหมออาจทำการรักษาทันทีตั้งแต่วันแรกที่เด็กคลอดออกมา ทั้งนี้ จำเป็นต้องประเมินความพร้อมของร่างกายเด็กด้วยเช่นกัน

การรักษาเพื่อควบคุมอาการ

การรักษาในโรงพยาบาลเบื้องต้นเพื่อบรรเทาและควบคุมอาการอาจทำได้ ดังนี้

  • เจาะแขน เพื่อต่อสายเข้าไปทางหลอดเลือดดำสำหรับการให้ยาต่าง ๆ
  • ใส่สายสวนเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อช่วยระบายปัสสาวะ
  • ใส่ท่อทางจมูกเข้าไปในกระเพาะอาหาร เพื่อดูดอากาศและของเหลว ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องบวม

การรักษาภาวะลำไส้กลืนกัน

การสวนอากาศหรือการสวนแป้งแบเรียม เป็นขั้นตอนการวินิจฉัยและการรักษาเด็กที่มีภาวะลำไส้กลืนกัน โดยการสวนอากาศหรือการสวนแป้งแบเรียมจะช่วยให้ลำไส้ขยายตัวออก และช่วยให้มองเห็นการอุดตันของอุจจาระได้ชัดเจน จากนั้น คุณหมอจะจ่ายยาระบายเพื่อช่วยให้อุจจาระสามารถเคลื่อนตัวออกมาได้

การรักษาภาวะลำไส้อุดตันบางส่วน

หากภาวะลำไส้อุดตันบางส่วนไม่ได้รุนแรงมากและอาหารหรือของเหลวยังคงไหลผ่านไปได้ คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีเส้นใยต่ำและย่อยง่าย เพื่อช่วยให้อาหารเคลื่อนตัวในลำไส้ได้ง่ายขึ้น แต่หากการอุดตันรุนแรงมาก คุณหมออาจแนะนำการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อกำจัดสิ่งกีดขวางออก

การรักษาเพื่อกำจัดสิ่งกีดขวางรุนแรง

หากลำไส้มีสิ่งกีดขวางรุนแรงมากจนอาหารหรือของเหลวไม่สามารถไหลผ่านไปได้ จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อกำจัดสิ่งกีดขวางออก ซึ่งขั้นตอนการรักษานี้คุณหมออาจจำเป็นต้องประเมินสภาพร่างกายของเด็กก่อน เพื่อป้องกันอาการหลังผ่าตัดที่อาจจะแย่ลง

การรักษาภาวะอุดกั้นเทียม (Pseudo-Obstruction)

หากคุณหมอประเมินว่าโรคลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิดเกิดจากภาวะอุดกั้นเทียม ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้ลำไส้ส่วนต้นเป็นอัมพาต คุณหมออาจทำการรักษาด้วยวิธีให้อาหารทางจมูกหรือทางหลอดเลือดดำ และจ่ายยาที่ช่วยให้กล้ามเนื้อบีบตัว ซึ่งอาจช่วยให้ลำไส้สามารถเคลื่อนย้ายอาหารและของเหลวได้

การดูแลตัวเองเพื่อรับมือ Gut Obstruction

หลังจากการรักษาเด็กอาจต้องนอนที่โรงพยาบาลเพื่อดูแลอาการอย่างใกล้ชิด รวมถึงช่วยให้เด็กมีสุขภาพที่แข็งแรงพอที่จะออกจากโรงพยาบาลได้ และเมื่อกลับบ้านคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถดูแลเด็กได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การดูแลเรื่องอาหาร เด็กที่เป็นโรคลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิดอาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะขาดสารอาหาร เนื่องจากร่างกายไม่สามารถรับสารอาหารได้อย่างเหมาะสม จึงควรดูแลเรื่องอาหาร หากเด็กมีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ควรให้เด็กกินนมแม่หรือนมผงประมาณ 2.5-5 ออนซ์ ประมาณ 8-12 มื้อ/วัน ทุก ๆ 3 ชั่วโมง และเด็กที่อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีขึ้นไป สามารถให้นมแม่หรือนมผงควบคู่ไปกับอาหารเสริมอื่น ๆ เพื่อเพิ่มสารอาหารให้กับร่างกายของเด็กมากขึ้น เช่น ข้าวโอ๊ต ฟักทองบด กล้วยน้ำว้าบด ตับบด ซุปเนื้อปลา แครอทบด
  • พาเด็กเข้าพบคุณหมอตามนัดหมาย เพื่อตรวจสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะหากเด็กรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อป้องกันความผิดปกติหรืออาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

บทที่ 6 ภาวะฉุกเฉินของทางเดินอาหารในทารกแรกคลอด (Gastrointestinal emergency in neonates). http://dynamic.psu.ac.th/kidsurgery.psu.ac.th/Pediatric%20surgery/KID/LESSON6.HTM. Accessed September 10, 2022

Small Bowel Obstruction Repair. https://www.chop.edu/treatments/surgical-repair-small-bowel-atresia#:~:text=Surgical%20repair%20of%20a%20bowel,part%20of%20the%20small%20intestine. Accessed September 10, 2022

Understanding an Intestinal Obstruction. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/understanding-an-intestinal-obstruction. Accessed September 10, 2022

Bowel Obstruction. https://www.webmd.com/digestive-disorders/what-is-bowel-obstruction. Accessed September 10, 2022

Intestinal obstruction. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/intestinal-obstruction/symptoms-causes/syc-20351460. Accessed September 10, 2022

Intestinal obstruction-Diagnosis-Treatment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/intestinal-obstruction/diagnosis-treatment/drc-20351465. Accessed September 10, 2022

Neonatal Intestinal Obstruction: A 15 Year Experience in a Tertiary Care Hospital. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4800612/#:~:text=Intestinal%20obstruction%20is%20the%20most%20common%20surgical%20emergency%20in%20neonatal,gut%20with%20or%20without%20volvulus. Accessed September 10, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/01/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง

avatar

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา