backup og meta

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่น มีอะไรบ้าง

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่น มีอะไรบ้าง

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่น เป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นเมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น มักเริ่มต้นเมื่อลูกอายุประมาณ 8-14 ปี ไปจนถึงอายุ 18 หรือ 20 ต้น ๆ ช่วงวัยนี้เป็นช่วงรอยต่อจากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลอย่างเหมาะสม เช่น ดูแลให้ลูกได้รับสารอาหารที่หลากหลายและครบถ้วน เสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูก สอนให้ลูกมีทัศนคติที่ดีต่อร่างกายตัวเอง สอนการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เพื่อให้วัยรุ่นมีพัฒนาการทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และการเข้าสังคม อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่พบว่า ลูกวัยรุ่นมีปัญหาพัฒนาการทางร่างกาย ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อจะได้หาวิธีรักษา ซึ่งอาจช่วยให้วัยรุ่นมีพัฒนาการและการเติบโตที่เหมาะสมตามวัย

[embed-health-tool-ovulation]

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่น

ในช่วงนี้ลูกมีพัฒนาการทั้งภายนอกและภายในร่างกาย เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ฮอร์โมนเพศหญิงได้แก่ เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ฮอร์โมนเพศชาย คือ เทสโทสเทอโรน (Testosterone) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่น เช่น น้ำหนักและส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ความแข็งแรงที่เพิ่มมากขึ้น เสียงแตกหนุ่ม การมีประจำเดือน ส่วนใหญ่แล้ว ผู้หญิงจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก่อนผู้ชาย โดยการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่นผู้ชายและผู้หญิงที่พบได้ อาจมีดังนี้

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่นผู้ชาย

ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ชายจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายตอนอายุประมาณ 9-16 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่มักช้ากว่าผู้หญิงประมาณ 2 ปี การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่นผู้ชายส่วนใหญ่ อาจมีดังนี้

  • ร่างกายมีกล้ามเนื้อมากขึ้น บริเวณไหล่และสะโพกกว้าง คอหนาขึ้น
  • โครงหน้าของผู้ชายในช่วงวัยรุ่นจะเปลี่ยนไป มีสันกรามที่ชัดมากขึ้น เริ่มเปลี่ยนจากเด็กผู้ชายไปเป็นผู้ชายมากขึ้น
  • อาจเริ่มมีสิวบนใบหน้า โดยเฉพาะสิวอักเสบจากระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เพิ่มขึ้น
  • มีขนขึ้นทั่วร่างกาย เช่น แผงอก ใบหน้า รักแร้ แขนและขา อวัยวะเพศ
  • เริ่มมีกลิ่นตัว เนื่องจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง จนอาจส่งผลให้ต่อมเหงื่อทำงานมากขึ้น
  • เสียงอาจแตกหนุ่มเป็นเวลาหลายเดือนก่อนจะกลายเป็นเสียงที่ทุ้มมากขึ้น
  • องคชาตและอัณฑะพัฒนาและใหญ่ขึ้นตามอายุ อวัยวะเพศเริ่มแข็งตัว และอาจมีน้ำหล่อลื่นและน้ำอสุจิหลั่งออกมาทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ บางครั้งอาจเกิดขึ้นในตอนที่กำลังนอนหลับ หรือที่เรียกว่า ฝันเปียก
  • อาจสูงขึ้นปีละประมาณ 7-8 เซนติเมตร

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่นผู้หญิง

ผู้หญิงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายตอนอายุประมาณ 9 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ส่วนใหญ่จะเข้าสู่วัยรุ่นเต็มตัวตอนอายุประมาณ 15 ปี การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่นผู้หญิงส่วนใหญ่ อาจมีดังนี้

  • บริเวณหัวนมและลานนมหรือปานนมใหญ่ขึ้น บางคนอาจมีขนาดหน้าอกสองข้างไม่เท่ากัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ อาจใช้เวลาประมาณ 2 ปี หน้าอกของผู้หญิงจึงจะพัฒนาเต็มที่
  • มีไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น และอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากรูปร่างที่เปลี่ยนไปตามอายุในช่วงวัยรุ่นซึ่งอาจทำให้มีไขมันบริเวณต้นแขน ต้นขา ส่วนบนของหลังมากขึ้น สะโพกจะกลมขึ้นและเอวเริ่มคอดขึ้น
  • เริ่มมีประจำเดือน ส่วนใหญ่อาจเริ่มตอนอายุ 12-13 ปี ทั้งนี้อาจเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้ ประจำเดือนของวัยรุ่นหญิงในช่วงแรกอาจยังไม่มาอย่างสม่ำเสมอ บางคนอาจมีประจำเดือนทุกเดือน หรือบางคนอาจมีประจำเดือนทุก 2-3 เดือน
  • เริ่มมีตกขาว ซึ่งเป็นของเหลวที่มีส่วนช่วยให้อวัยวะเพศชุ่มชื้น สะอาด และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • เริ่มมีกลิ่นตัว เนื่องจากต่อมเหงื่อทำงานมากขึ้น
  • อาจเริ่มมีสิวบนใบหน้าจากระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นมากขึ้น
  • มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ และตามแขนและขา
  • อาจสูงขึ้นปีละประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่น ที่ผิดปกติ

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่น ที่อาจเป็นสัญญาณของพัฒนาการผิดปกติ อาจมีดังนี้

ภาวะเข้าสู่วัยรุ่นก่อนวัย หรือภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

  • เมื่อเด็กผู้ชายมีพัฒนาการเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก่อนอายุ 9 ปี เช่น มีเสียงแตกหนุ่ม
  • เมื่อเด็กผู้หญิงมีพัฒนาการเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก่อนอายุ 8 ปี เช่น มีประจำเดือนแต่หน้าอกยังไม่มีการพัฒนา

วิธีวินิจฉัยภาวะการเข้าสู่วัยรุ่นก่อนวัยอาจทำได้โดยการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมน การเอกซเรย์มือเพื่อตรวจสอบความสูงที่เป็นไปได้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ การอัลตราซาวด์ การสแกนด้วยเครื่องตรวจแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI) ตามข้อบ่งชี้ วิธีเหล่านี้อาจช่วยให้คุณหมอตรวจพบความผิดปกติอื่น ๆ ภายในร่างกายด้วย เช่น เนื้องอก หากพบว่ามีภาวะเข้าสู่วัยรุ่นก่อนวัยอาจต้องรักษาด้วยการกินยาดลดระดับฮอร์โมน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วิธีรักษานี้อาจใช้เมื่อเกิดปัญหาด้านอารมณ์และด้านร่างกายจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น

ภาวะเข้าสู่วัยรุ่นล่าช้า หรือภาวะเป็นหนุ่มสาวช้า

  • เมื่อเด็กผู้ชายยังไม่มีพัฒนาการของลูกอัณฑะเมื่อมีอายุ 14 ปี
  • เมื่อเด็กผู้หญิงยังไม่มีพัฒนาการของหน้าอกเมื่อมีอายุ 13 ปี หรืออาจมีหน้าอกแล้ว แต่ยังไม่มีประจำเดือนเมื่อมีอายุ 15 ปี

วิธีวินิจฉัยภาวะการเข้าสู่วัยรุ่นล่าช้าอาจทำได้โดยการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมน การเอกซเรย์มือเพื่อตรวจสอบความสูงที่เป็นไปได้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ การอัลตราซาวด์ การสแกนด้วยเครื่องตรวจแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI) หากพบปัญหาที่เกิดขึ้นกับต่อมหรืออวัยวะภายในร่างกาย คุณหมอจะได้รักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป วิธีรักษาภาวะเข้าสู่วัยรุ่นล่าช้าที่นิยมใช้ เช่น การกินยาเพิ่มระดับฮอร์โมน เพื่อปรับการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ อย่างไรก็ตาม การรักษาภาวะนี้อาจใช้เมื่อเกิดปัญหาจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น

การดูแลวัยรุ่นในช่วงที่ร่างกายเปลี่ยนแปลง

การดูแลสุขภาพกายและจิตใจของลูกให้ดีในช่วงที่ลูกกำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ อาจช่วยส่งเสริมให้ลูกวัยรุ่นเติบโตอย่างสมวัย และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาด้านพัฒนาการได้

  • เตรียมอาหารที่มีประโยชน์ให้กับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนให้ลูกได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้สารอาหารครบถ้วน หลากหลาย ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เช่น อาหารประเภทแป้ง โปรตีน แคลเซียม เกลือแร่และวิตามิน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย อาจซื้อของกินเล่นที่ดีต่อสุขภาพมาติดบ้านไว้ หลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกกินอาหารขยะ และให้ทุกคนในบ้านกินอาหารพร้อมกันเพื่อส่งเสริมการกินเพื่อสุขภาพร่วมกันทั้งครอบครัว
  • สอนให้ลูกมีทัศนคติที่ดีต่อร่างกายตัวเอง การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่น อาจทำให้ลูกไม่คุ้นเคยหรือรู้สึกอาย เช่น เมื่อลูกวัยรุ่นผู้ชายพูดแล้วเสียงแตก ลูกอาจรู้สึกไม่มั่นใจและพูดน้อยลง ควรสอนลูกว่าการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่นเป็นสิ่งปกติและไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย คอยให้กำลังใจและชี้ชวนให้ลูกมีมุมมองด้านบวกเกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง เพื่อให้ลูกรับมือกับความกังวลอย่างถูกต้อง และปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในช่วงเข้าสู่วัยรุ่นได้
  • เสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูก กระตุ้นให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง เมื่อลูกรู้สึกไม่ดีกับร่างกาย เช่น ลูกชายตัวเตี้ยกว่าเพื่อนคนอื่นในห้อง อาจแนะนำไม่ให้ลูกนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนในวัยเดียวกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่นนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
  • สอนการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เช่น
    • สอนเรื่องเพศศึกษา แลกเปลี่ยนความเห็นและตอบคำถามที่ลูกอาจสงสัย อาจช่วยให้ลูกมีความเข้าใจในเรื่องเพศมากยิ่งขึ้น เช่น เรื่องการมีความต้องการทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นเนื่องจากฮอร์โมนเพศชาย หรือเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ควรย้ำเตือนให้ลูกตระหนักถึงความสำคัญของการใช้อุปกรณ์ป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ด้วย
    • สอนเรื่องการดูแลความสะอาด วัยรุ่นจะเริ่มมีกลิ่นตัวเนื่องจากต่อมเหงื่อทำงานมากขึ้น ควรสอนเรื่องการอาบน้ำและดูแลตัวเอง แนะนำให้ขัดถูบริเวณซอกรักแร้ รอยพับร่างกาย และจุดที่อับชื้นง่ายให้นานขึ้น และอาจสอนกำจัดขนรักแร้ที่ถูกต้อง ซึ่งอาจช่วยกลิ่นตัวได้
    • สอนเรื่องการดูแลตัวเองเมื่อมีประจำเดือน เช่น การเลือกผ้าอนามัยควรเลือกขนาดเหมาะสมกับปริมาณประจำเดือน ช่วงเวลาที่ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยควรเป็น 4 ชั่วโมงหรือบ่อยกว่านั้นหากประจำเดือนมามาก นอกจากนี้ ควรสอนให้เตรียมตัวสำหรับอาการที่อาจเกิดขึ้น เช่น สิวขึ้น ปวดท้อง ปวดหลัง อาการก่อนเป็นประจำเดือน (Pre-menstrual Syndrome หรือ PMS)

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Stages of Puberty.https://www.webmd.com/children/ss/slideshow-puberty-stages. Accessed March 4, 2022

Boys and Puberty. https://familydoctor.org/boys-and-puberty/.  Accessed March 4, 2022

Girls and Puberty. https://familydoctor.org/girls-and-puberty/. Accessed March 4, 2022

Parenting children through puberty and adolescence. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/Parenting-children-through-puberty.  Accessed March 4, 2022

Stages of puberty: what happens to boys and girls. https://www.nhs.uk/live-well/sexual-health/stages-of-puberty-what-happens-to-boys-and-girls/.  Accessed March 4, 2022

Physical Development. https://opa.hhs.gov/adolescent-health/adolescent-development-explained/physical-development.  Accessed March 4, 2022

Early or delayed puberty. https://www.nhs.uk/conditions/early-or-delayed-puberty/. Accessed March 4, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/04/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

3 การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น ที่พ่อแม่ควรใส่ใจ

วัยรุ่น พัฒนาการและสุขภาพ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา