ปัญหาสุขภาพเด็กวัยเรียน ในช่วงอายุระหว่าง 6-12 ปี ย่อมสร้างความกังวลใจให้กับพ่อแม่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กวัยเรียน ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะต้านทานโรคได้ และการอยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ ในห้องเรียนอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายและติดต่อกันได้ง่าย จึงทำให้ป่วยบ่อย โดยโรคที่มักพบในเด็กวัยเรียน เช่น โรคหวัด โรคภูมิแพ้ โรคมือเท้าปาก โรคท้องร่วง คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพเด็กวัยเรียน ด้วยการสังเกตอาการและพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกอย่างใกล้ชิดเมื่อพวกเขากลับมาถึงบ้าน และหากพบความผิดปกติ ควรพาลูกไปหาหมอ
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ปัญหาสุขภาพเด็กวัยเรียน ที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง
ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยใน เด็กวัยเรียน อายุ 6-12 ปี มีดังนี้
1. โรคหวัดและอาการไอ
- โรคหวัด เป็นปัญหาสุขภาพเด็กวัยเรียนที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างบ่อย และจะพบมากในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ปลายฝนต้นหนาว เนื่องจากร่างกายของเด็ก ๆ ยังไม่มีระบบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโรคหวัดที่แข็งแรงพอ อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็ก ๆ เติบโตขึ้นร่างกายจะค่อย ๆ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้นจนสามารถต้านทานเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ดีขึ้นและทำให้เป็นหวัดน้อยลง
- การไอ เด็กมักมีอาการไอเมื่อเป็นหวัด เพื่อช่วยขจัดเสมหะที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจออก ทำให้จมูกปลอดโปร่ง หายใจง่ายขึ้น
2. ท้องร่วงและอาเจียน
ท้องร่วง เป็นวิธีกำจัดเชื้อโรคของร่างกาย ส่วนใหญ่มักมีอาการ 2-3 วันหรือเป็นสัปดาห์ โรคอุจจาระร่วงอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียน้ำ และผื่นแดง คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กดื่มน้ำเพื่อทดแทนปริมาณน้ำที่สูญเสียไป อย่าให้น้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลม เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้
อาการท้องร่วงนี้เกิดได้จากทั้งการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาระบาย ยาปฏิชีวนะ หรืออาหารเป็นพิษ หากเด็กมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบหมอทันที ได้แก่
- ท้องเสียและอาเจียนในเวลาเดียวกัน
- ท้องเสียเป็นน้ำ มีเลือดปน หรือท้องเสียนานกว่า 2-3 วัน
- ปวดท้องรุนแรง
- มีภาวะขาดน้ำ คือ ไม่ถ่ายปัสสาวะใน 8 ชั่วโมง
3. โรคภูมิแพ้ในเด็กวัยเรียน
โรคภูมิแพ้เป็นอาจมีทั้งอาการที่ไม่รุนแรงไปจนถึงระดับที่รุนแรงมาก หากอาการไม่รุนแรงอาจส่งผลเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง คันตา หรือน้ำมูกไหล ส่วนอาการรุนแรงจะส่งผลหลายระบบของร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการคันทั่วร่างกาย หายใจลำบาก หน้าหรือมือเท้าบวมกะทันหัน หมดสติ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและควรรีบเข้าพบหมออย่างเร่งด่วนเพื่อติดตามอาการและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
โรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน อาจเกิดจากสาเหตุดังนี้
- เชื้อรา
- ไรฝุ่น
- อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว หอย อาหารทะเล อาหารที่มีนมวัว อาหารที่มีแป้งสาลี
- เสื้อผ้า
- ยา
- แมลงกัดต่อย
4. การติดเชื้อในเด็กวัยเรียน
การติดเชื้อต่าง ๆ ทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อปรสิต (พยาธิ) สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิดรวมไปถึงเด็กวัยเรียน การติดเชื้อในเด็กนั้นสามารถแพร่กระจายไปสู่คนใกล้ชิด หรือติดต่อผ่านอุจจาระที่ปนเปื้อนได้
การติดเชื้ออาจเกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต มักส่งผลกระทบต่อเด็กให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น
- หลอดลมอักเสบ
- โรคอีสุกอีใส
- เหา
- โรคหัด
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ไข้อีดำอีแดง
- ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- ไอกรน
- พยาธิ
5. โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก คือการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดผื่นหรือแผลพุพองที่มือ เท้าและปาก ซึ่งอาการและความรุนแรงจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส
โรคมือ เท้าปาก มักก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี แต่อาจเกิดขึ้นกับวัยรุ่นได้เช่นกัน โรคนี้สามารถแพร่กระจายได้จากคนสู่คน อาการเบื้องต้น ได้แก่ มีไข้ มีตุ่มเล็ก ๆ ที่แก้ม ช่องปาก เพดานปาก ร่วมกับอาการเจ็บคอ มีแผลตุ่มน้ำพองที่มือ เท้า ขาหนีบ และรอบทวาร
6. ไข้
เด็กอาจมีไข้ได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ กระเพาะและลำไส้อักเสบ ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงถึง 38 องศาเซลเซียส ซึ่งร่างกายอาจเป็นไข้สูงสลับกับไข้ต่ำได้ตลอดทั้งวัน ควรเช็ดตัว ให้ดื่มน้ำเพื่อระบายอุณหภูมิและป้องกันภาวะขาดน้ำ และเฝ้าระวังอาการ หากไข้สูงไม่ลดภายใน 24 ชั่วโมง หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ควรพาไปพบคุณหมอ
7. โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในลำไส้ ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เกิดการอักเสบ นำไปสู่อาการท้องร่วงและอาเจียน โรคกระเพาะและสำไส้อักเสบเกิดขึ้นได้จากเชื้อโรคหลายชนิด แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
หากเด็กเป็นโรคนี้อาจแสดงอาการ ดังนี้
- คลื่นไส้
- ปวดหัว
- อาเจียนในช่วงเวลา 24-48 ชั่วโมง
- ไม่อยากอาหาร
- ปวดท้อง
- มีไข้
8. โรคเยื่อบุตาอักเสบ
โรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือโรคตาแดง เป็นโรคตาที่พบบ่อยใน เด็กวัยเรียน อีกทั้งยังสามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ง่าย โรคตาแดงอาจทำให้เกิดอาการ ดังนี้
- ตาอักเสบ
- ตาแดง
- คันหรือแสบตา
- มีน้ำตาไหล หรือขี้ตา
หากเด็กมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาหรือบริเวณรอบ ๆ ดวงตา และล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
9. โรคหอบหืด
เป็นอาการที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจในปอด ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดมักมีระบบทางเดินหายใจที่บอบบางอักเสบง่าย ซึ่งอาจนำไปสู่อาการ หายใจลำบาก ไอ หอบ แน่นหน้าอก
โรคหอบหืดไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการหอบหืดกำเริบ เช่น ฝุ่น ละอองเกสร สัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ หากเด็กมีอาการหอบหืดรุนแรงขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบคุณหมอทันที